FEATURESMovie Features

ความเป็นมา กว่าจะขึ้นจอของ Fast & Furious 7

จากหนังทุนพอประมาณในปี 2001 มาถึงวันนี้ หนังชุด Fast & Furious กลายเป็นหนังภาคต่อที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดชุดหนึ่ง และในปีนี้ หนังสำหรับผู้ชมที่ชื่นชอบความเร็ว ฉากไล่ล่าบนถนน และฉากแอ็คชันมันส์ๆ จะเดินทางมาถึงภาคที่ 7 กันแล้ว โดยที่ผ่านๆ มา ผู้ชมได้เห็นสารพัดของแรงๆ มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็น รถอเมริกันแรงม้าจัด รถสปอร์ตนำเข้าเท่ๆ รถบรรทุก เครื่องบิน รถถัง อาจจะมีขาดบ้างก็คงเป็นรถกอล์ฟคันเล็กๆ แต่พาหนะชิ้นสำคัญที่สุดของหนัง ย่อมไม่พ้นบรรดานักแสดง โดยเฉพาะคนเครื่องแรงอย่างวิน ดีเซล

เรื่องราวของ Fast & Furious เริ่มต้นเมื่อปี 2001 ด้วยทุนสร้างกระจุ๋มกระจิ๋มแค่ 38 ล้านเหรียญ ที่เล่าเรื่องของบรรดานักซิ่งผิดกฏหมายบนท้องถนนในแคลิฟอร์เนีย และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แฝงตัวเข้าอยู่ในกลุ่มของพวกเขา แต่กับภาคที่เจ็ดเราจะได้เห็นวิน ดีเซลขับรถสปอร์ตหรูมูลค่า 3 ล้านเหรียญ ไลแคน ไฮเปอร์ สปอร์ต ทะยานข้ามจากตึกระฟ้าชั้นหนึ่ง ไปยังอีกชั้นของตึกหนึ่ง ขณะที่รายได้ของหนังชุดนี้รวมกันก็พุ่งทะลุไปถึง 2 พันล้านเหรียญทั่วโลก และแน่นอนว่า จะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ แล้วที่ยิ่งไปกว่านั้น นี่คือภาพยนตร์ที่นักแสดงนำหลักร่วมของเรื่อง พอล วอล์คเกอร์ เกิดเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะที่การถ่ายทำผ่านไปเพียงแค่ครึ่งทาง พวกเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

“เป็นคำถามที่ดี” เสียงพูดของอดีต-ปัจจุบัน และอนาคตของตัวละครโดมินิค ทอเร็ตโต กล่าว “คุณมาถึงหนังเรื่องที่ 7 ซึ่งต้องใช้หนังหลายๆ เรื่อง มารวมกันเพื่อสานต่อจากเรื่องที่แล้ว คุณมีผู้ชมที่คาดหวังฉากที่ดูน่าทึ่ง และดูเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องเชื่อมหนังแต่ละเรื่อง แล้วเล่าออกมาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีเดิมๆ ของการทำหนังภาคต่อ ที่สามารถสร้างเรื่องราวได้อย่างอิสระจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยที่เน้นแค่สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของหนัง และคุณก็ได้ยินที่แฟนๆ พากันพูดออกมาว่า ไม่อยากให้เราหยุด… ผมคิดว่า นั่นละคือสิ่งที่ทำให้เรามาถึงตรงนี้ได้”

หากจะไล่ไปถึงจุดกำเนิดของพาหนะขนาดมหึมาคันนี้ ก็คงต้องย้อนไปถึงเดือนพฤษภาคม 1998 เมื่อร็อบ โคเฮน ผู้กำกับของหนัง Dragonheart เกิดไปเตะตากับบทความในนิตยสารไวบ์ เรื่อง Racer X ที่เขียนโดย เคนเน็ธ ลี เข้า นี่คือบทความที่พูดถึงสังคมของนักแข่งใต้ดิน บนท้องถนนที่ใช้รถอเมริกันแรงม้าจัดๆ ไปหลอกตกเงินจากพวกรถแต่งนำเข้าจากญี่ปุ่น อย่าง ฮอนดา ซีวิค และอินทีกราส์ อาคูร่า แล้วก็แต่งแต้มสีสันให้รถเหมือนพวกนักสเก็ตบอร์ดทำกับบอร์ดของตัวเอง แต่งลูกสูบ และใส่ซูเปอร์ชาร์เจอร์

FF1กับไอเดียที่ปิ๊งขึ้นมา โคเฮนสานต่อจนกลายเป็นโปรเจ็คท์หนังของยูนิเวอร์แซล โดยมีผู้อำนวยการสร้างนีล มอริทซ์ให้การดูแล และตอนนี้ก็มีเพียงแค่เขากับซานจา มิลโควิค เฮย์ส ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายที่เป็นคนทำงานกับหนังมาตลอดทั้งเจ็ดเรื่อง

“เราทุกคนคิดว่าวัฒนธรรมตรงนั้นมันน่าสนใจดี” มอริทซ์เผย “ผมมักจะชอบหนังที่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกที่ผมไม่ค่อยรู้อะไรมากนักเกี่ยวกับมัน ผมเคยทำงานกับร็อบและพอล วอล์คเกอร์ ใน the Skulls ก็เลยบอกกับทางยูนิเวอร์แซล ว่าผมคิดว่า หนังเรื่องนี้มันน่าจะมีความต่อเนื่องไปได้”

บทถูกเขียนโดยมือเขียนบทหลายๆ คน จากประเด็นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแกรี สก็อตต์ ธอมป์สัน, เอริค เบิร์กสควิสท์ และเดวิด เอเยอร์ (ที่เพิ่งมี Fury เป็นงานกำกับ/ เขียนบทชิ้นล่าสุด) ขณะที่มอริทซ์ เองก็มองถึงหนังเรื่องนี้ว่าเป็นการปรับหนัง Point Break มาทำใหม่ เปลี่ยนกระดานโต้คลื่นมาเป็นรถยนต์ซะ ซึ่งเป็นโครงสร้างง่ายๆ แต่สมบูรณ์แบบ “การเปิดเผยวัฒนธรรมตรงนี้ออกมา คือตัวละครหลักของเรา แล้วชิ้นส่วนสำคัญจากนั้นก็คือบทของดอม มีคนมาพูดถึงวินให้ผมฟัง และกับการได้นั่งคุยกับเขา มันชัดเลยว่าเขากำลังจะกลายเป็นดาราใหญ่ เขาเป็นดาราดังในหัวของผมเรียบร้อยแล้วในตอนนั้น”

เริ่มต้นด้วยชื่อว่า Redline แล้วมาใช้ชื่อที่เหมาะสมที่สุดในช่วงสั้นๆ ว่า Race Wars ก่อนหน้าที่มอริทซ์จะได้ชมหนังสารคดีเกี่ยวกับหนังเกรดบีของโรเจอร์ คอร์แมน และตัดสินใจว่าชื่อหนังของคอร์แมนคือสิ่งที่ต้องการ และคอร์แมนก็แลกสิทธิ์ในการใช้ชื่อหนังเมื่อปี 1995 ของตัวเองเพื่อเงินเล็กๆ น้อยๆ และภาพฟุตเตจนิดหน่อยๆ แล้วที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือ ประวัติศาสตร์ “มันเป็นหนังเล็กๆ และไม่มีใครที่เกี่ยวข้องรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งฉายรอบทดสอบหนแรก” มอริทซ์เล่าถึงอดีต “ผมเดินออกมาจากโรง แล้วเด็กๆ ก็ขับรถวนไปวนมาในลานจอด ผมรู้เลยว่า เรามีอะไรบางอย่างอยู่ในมือแล้ว”

The Fast And The Furious ขายตั๋วได้มากกว่าทุนสร้างร่วมๆ 5 เท่า ในอเมริกาหนังทำเงินแซงหนังอาชญากรรม-รถซิ่ง Gone in 60 Seconds ของเจอร์รี บรัคไฮเมอร์ ที่ออกฉายในช่วงซัมเมอร์ก่อนหน้า และกับการตัดสินใจทางธุรกิจสำหรับยูนิเวอร์แซล ภาคต่อคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความคิดสร้างสรรค์ที่จะปูทางไปสู่อนาคตของหนังชุดนี้ดูไม่ชัดเจนนัก ดีเซลกับโคเฮนเลยเลือกจะสานต่องานฮิตแบบเซอร์ไพรส์ของทั้งคู่ ด้วยการไปทำหนังแอ็คชันสายลับ ผสมกีฬาเอ็กซ์ตรีม xXx มอริทซ์แม้จะนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้่างให้ทั้งคู่ด้วย แต่ก็ยังอยู่กับทีม และทำ 2 Fast 2 Furious ออกมาในปี 2003 โดยวอล์คเกอร์เป็นดารานำเดี่ยว มีจอห์น ซิงเกิลตันมากำกับ แล้วเลือกไทรีส กิ๊บสันกับ คริส ‘ลูดาคริส’ บริดเจส มาเสริมในหนังที่ว่าด้วยการแฝงตัวเข้าไปในขบวนการรถซิ่งของตำรวจอีกรอบ “มันเป็นหนังที่เล็กกว่าหนังในตอนนี้ แต่ในตอนนั้น มันก็เป็นหนังใหญ่พอตัว” บริดเจส พูดถึงหนังเรื่องแรกในชุดของตัวเอง “ซิงเกิลตันเป็นคนที่ใส่ความเป็นงานแบบคนผิวดำลงไปในหนัง”

2Fast_2Furious“ผมไม่ชอบบทของหนังภาค 2” ดีเซล ยอมรับ “และร็อบก็ไม่ชอบเหมือนกัน เราทั้งคู่เลยไม่อยากทำมัน แต่ไม่ใช่แค่นี้หรอก ในตอนนั้นผมรู้สึกว่า การทำลายความคลาสสิคก็คือการสร้างภาคต่อออกมา ท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ และผมก็ไม่ชอบชื่อ 2 Fast 2 Furious ไม่นะ ล้อกันเล่นหรือเปล่า? จริงๆ เหรอเพื่อน นี่เป็นหนังที่เข้มข้นจริงจังนะ ไม่ใช่โชว์ตลกคาเฟ่!”

ในทางธุรกิจ ไม่มีกลุ่มไหนที่ตัดสินใจผิด xXx ทำเงินไปถึง 277 ล้านเหรียญ ส่วน 2 Fast ทำรายได้มากกว่าภาคแรก 30 ล้านเหรียญ แต่อนาคตของหนังชุด Fast กลับไปไกลกว่าจากตรงนั้น โดยที่ไม่มีนักแสดงชุดดั้งเดิมหรือที่เพิ่งเข้ามาใหม่ กลับมาเล่นหนังภาค 3

หนังได้ตัวจัสติน ลิน และมือเขียนบทคริส มอร์แกนเข้ามา ท่ามกลางช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง เพราะในตอนนั้นทางยูนิเวอร์แซลกำลังพิจารณาจะทำหนังออกมาเป็นเรื่องๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกันเลย กับการรับหน้าที่ในส่วนของเรื่อง มอร์แกนนำเสนอความคิดที่จะนำดอม ทอเร็ตโตไปที่ญี่ปุ่น “ความคิดของผมก็คือ ดอมยังคงแน่วแน่กับการเป็นนักซิ่ง และมีบางอย่างเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น และเขาต้องไปที่นั่น แล้วก็ได้เรียนรู้การวิธีการซิ่งรถในรูปแบบใหม่ๆ” เขาอธิบาย “มันเป็นซิ่งบนถนนที่ผิดฝั่ง มันไม่ใช่เรื่องของความเร็ว แต่เป็นเรื่องของความแม่นยำ”

แม้ดีเซลจะยังคงไม่สนใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโอกาส และกับข้อสังเกตุจากสตูดิโอที่ให้หนังมีมุมมองแบบเรื่องในวัยไฮสคูล มอร์แกนไม่ได้แค่ฉวยงานนี้เอาไว้ แล้วพาหนังไปสู่สถานที่ใหม่ๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในปี 2006 ก็คือ Tokyo Drift ซึ่งมีลูคัส แบล็คเป็นนักแสดงนำ และจะกลับมาอีกครั้งในหนังภาคนี้ ลินพูดถึงความท้าทายในตอนนั้นคือ “วัฒนธรรมในการสร้างภาพยนตร์ จากตรงนั้น Fast & Furious กลายเป็นหนังที่มีความหมายเฉพาะตัวบางอย่าง และงานของผมก็คือเปลี่ยนอารมณ์ของหนังชุดนี้ และมองหาเรื่องราวในตัว”

FF-Toky Driftในสายตาของยูนิเวอร์แซล กุญแจสำคัญของเรื่องคือ ทอเร็ตโต ซึ่งก็คือ ดีเซล กับการได้เห็นตัวหนังที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ดีเซลเชื่อมั่นกับสิ่งที่ลงทุนลงไป และยินดีกลับมาในฉากสุดท้ายที่เป็นการแสดงแบบคามีโอ “ผมรู้สึกแปลกๆ นะ กับการพาดอมกลับมาในหนังที่ไม่ได้เขียนบทเพื่อเขา” ดีเซลพูด “ผมรู้สึกทะแม่งๆ กับการทำงานเพียงแค่ 4 ชั่วโมง แล้วทั้งโลกก็ตื่นเต้นกับการที่มีผมอยู่ในหนัง ซึ่งไม่ควรมีผม”

แล้วก็มาถึง “ข้อเสนอที่เขาปฏิเสธไม่ได้” ดีเซลพูดประโยคคลาสสิคจากหนัง The Godfather ด้วยน้ำเสียงแบบมาร์ลอน แบรนโด เขากลับมาเล่นหนังชุดนี้อีกครั้ง พร้อมกับสิทธิ์ในหนังภาคต่อของ Riddick และการเป็นผู้อำนวยการสร้างของหนัง Fast เรื่องต่อๆ ไปในอนาคต พร้อมกับมีส่วนร่วมในเรื่องทิศทางความคิดสร้างสรรค์ของหนัง

“ยูนิเวอร์แซลฉลาดมาก” เขาอธิบาย “พวกเขากะจะปล่อย Tokyo Drift ลงแผ่นไปเลย แต่ยังรู้สึกว่ามีบางอย่างที่อยู่ในหนังเรื่องนี้ พวกเขาดึงผมกลับมาอยู่ในมุมมองของการเล่าเรื่องแบบมหากาพย์ และเราก็ไม่ได้ใส่หมายเลขลงในหนังภาคที่ 4 เพราะนี่คือการเริ่มต้นใหม่ และเป็นครั้งแรกที่เราจบเรื่องด้วยการเป็นหนังในแอ็คชันแบบคลิฟฟ์แฮงเกอร์ ที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ซึ่งเป็นการแสดงความชัดเจนกับโลกใบนี้ว่า เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ และตัวละครจะมีพัฒนาการ และเราจะหยิบสิ่งที่เราทิ้งเอาไว้ขึ้นมาใช้”

การมีดีเซลมาร่วมงานกับมอริทซ์ที่หลังฉาก และมอร์แกนกับลินเป็นคนวางรูปร่างหน้าตาในอนาคต ทำให้หนังชุดนี้เริ่มเข้ารูปเข้ารอย จนเป็นอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้ นักแสดงดั้งเดิมของหนัง ไม่ว่าจะเป็น วอล์คเกอร์, จอร์ดานา บริวสเตอร์ และมิเชลล์ รอดริเกวซ ถูกดึงตัวกลับมา แต่ทีเด็ดก็คือ นักแสดงจากภาคต่อที่ไม่เคยเจอกับคนอื่นๆ มาก่อนเลย ยังมีบทบาทต่อด้วย งานนี้ลินถึงกับเล่นมุขถึงการที่ได้บรรดานักแสดงอย่างที่เห็นว่า เป็น “เหมือนหนังแอ็คชัน ที่ทำออกมาในสไตล์หนังโรเบิร์ท อัลท์แมน” ที่มักจะมีนักแสดงเยอะๆ จำนวนมากที่ออกมามีบททีละนิด ทีละหน่อย แต่ก็ไม่ชวนให้ปวดหัวเท่ากับ ตกลงแล้ว เหตุการณ์ในหนัง Tokyo Drift ไปอยู่ตรงไหน และคนดูก็เพิ่งรู้ว่าหนังตอนที่ 3 ของชุด ตัวเรื่องจริงๆ แล้วมาหลังภาคที่ 6

“สนุกดี” ดีเซลหัวเราะ “มันเป็นมุขที่ใช้ได้ ตอนที่เราเอาเจสัน สเตแธมมาปิดท้ายหนังภาค 6 แล้วคนดูก็… ‘อะไรนะ เดี๋ยว หนังที่ผมดูไปเมื่อสิบปีก่อน ซึ่งแทบไม่มีอะไรน่าสนใจเลย มีตัวละครสำคัญในเรื่องที่ผมต้องทำความรู้จักด้วย?’ ซึ่งคนดูก็ดูจะพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนะ”

Fast-Five-movie-image-Vin-Dieselขณะที่หนัง Fast & Furious ในปี 2009 กลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ กับ Fast & Furious 5 ในปี 2011 ก็คือหนังที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นการรีบูทหนังชุดนี้ ขยายเรื่องออกไปด้วยพล็อตแบบหนังจารกรรมข้ามประเทศ แล้วเติม ดเวย์น ‘เดอะ ร็อค’ จอห์นสัน เข้ามาในบทเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยข้ามชาติ – ลูค ฮ็อบบ์ส ที่เป้าหมายอยู่ที่ตัวของทอเร็ตโต

“บทนี้เขียนขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อดเวย์น” มอร์แกน พูด “เราสร้างตัวละครขึ้นมาตัวหนึ่ง โดยที่หวังว่าเขาไม่มีทางที่จะปฏิเสธได้ และเขาก็รับเล่นแทบจะในทันที มันสนุกดีที่ได้เห็นการชิงไหวชิงพริบกันระหว่างเขากับวินบนจอ

Fast & Furious 5 เปิดเรื่องด้วยการกระหน่ำใส่คนดู ซึ่งเป็นฉากแหกรถขนนักโทษที่น่าตื่นตา การเล่าเรื่องถูกขยายออกไปมากขึ้น ขณะที่ฉากขับรถไล่ล่ากลางกรุงริโอ ก็กลายเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับฉากแอ็คชันด้วยรถยนต์ พอมาถึง Fast & Furious 6 ในปี 2013 ที่ลินยังคงเป็นคนกุมบังเหียนเช่นเดิม หนังสานต่อด้วยสไตล์ที่คล้ายๆ กัน แต่เป็นการพาฉากแอ็คชันไปสู่กรุงลอนดอน และสเปน กับรถที่ออกแบบมาเป็นพิเศษของลูค อีแวนส์ และฉากแอ็คชันประจัญบานกับรถถังบนฟรีเวย์ ซึ่งตัวละครได้โชว์ลีลากายกรรมต่อต้านแรงโน้มถ่วงของโลก

“ผมรู้ดีว่าหนังพวกนี้ ไม่จำเป็นต้องไปแหมะติดอยู่กับกฏทางฟิสิกส์” เจมส์ วานผู้กำกับของหนังภาค 7 กล่าว เขามาจับหนังเรื่องนี้ หลังประสบความสำเร็จกับ Saw, Insidious และ The Conjuring ซึ่งล้วนมีแนวทางแตกต่างไปจากหนังชุดนี้ “หนังชุดนี้อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา และใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง ทุกวันนี้คนยังพูดถึงความยาวของรันเวย์ในหนังภาคที่แล้วกันอยู่เลย (ซึ่งมีการคำนวณออกมาว่า ความยาวของรันเวย์ที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ อย่างที่เห็นได้ จะต้องยาวถึง 27 ไมล์) บางคนก็ไม่ชอบนะ แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็ยอมรับมัน หนังภาคนี้มีฉากแอ็คชันเยอะมาก ซึ่งเป็นอะไรที่สนุกจริงๆ!”

FF7 james wanวานเปรียบเทียบการเข้ามาแทนที่ลิน หลังจากที่ฝ่ายหลังทำหนังชุดนี้ไปแล้วถึง 4 เรื่อง กับการทานมื้อค่ำในวันขอบคุณพระเจ้ากับครอบครัว ที่คุณดันมาสาย แล้วไม่รู้จักใคร โดยที่แต่ละคนบนโต๊ะก็ฟาดไก่งวงกันไปบ้างแล้ว “ทีแรก ผมมองไปรอบๆ แบบไม่ค่อยสบายใจสักเท่าไหร่ แล้วก็เอ่ยขึ้น ‘เฮ้ย พรรคพวก พอมีที่นั่งสำหรับผมไหม?’ แล้วหลังจากที่ดื่มไวน์ไปสักแก้ว-สองแก้ว คุณก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม!”

คำว่า ‘ครอบครัว’ เป็นสื่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจกับคนส่วนใหญ่ในทีม แม้งานสตันท์จะเป็นส่วนสำคัญ แต่มันก็ต้องมีเหตุผลที่ทำให้หนังคู่แข่งอย่าง Gone in 60 Seconds, Death Race และ Need for Speed ไปได้ไม่ถึงไหน แต่ Fast & Furious กลับเดินหน้าไปต่อ ด้วยเครื่องยนต์ที่แรงมากขึ้น

สำหรับดีเซล, ลิน, วาน, มอริทซ์, มอร์แกน และกับอีกหลายคน มันคือการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน “เราเรียกจัสติน ลินว่า ปรมาจารย์เซ็น” กิ๊บสัน เล่า “เป็นไปได้ยังไงกับการที่หนังเรื่องหนึ่งมีนักแสดงกลุ่มนี้อยู่ในเรื่อง แล้วทุกคนต่างรู้สึกว่าตัวเองยังคงอยู่ในบท โดยที่เก็บอัตตาต่างๆ เอาไว้ข้างใน?’ ตอนที่เจมส์ก้าวเข้ามา ความรู้สึกไม่มั่นคงเริ่มเกิดขึ้น… เพราะเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นกับพี่น้องของเรา-พอล เขาได้รู้ว่าพวกเราอยู่ท่ามกลางช่วงเวลาการทำงานที่โหดหินที่สุด แต่เขาก็เป็นคนจัดการสิ่งที่จำเป็นต่างๆ เพื่อพวกเรา”

“ตัวละครเหล่านี้ เป็นซูเปอร์ฮีโร่ชนชั้นแรงงานที่คลาสสิคมาก” วาน เอ่ยขึ้น “มีทั้งความเป็นดรามา และความน่าเห็นใจ แล้วก็มีฉากแอ็คชันใหญ่ๆ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาผ่านในหนังภาคที่ 7 ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากที่คนดูคาดหวังจะได้เห็นจากหนังของมาร์เวลเลย” แล้วหากจะเปรียบเทียบกัน แม้การสร้างจักรวาล และการมีฉากหลังเอนด์เครดิตดูจะเป็นลูกเล่นของมาร์เวล แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว หนังชุด Fast ทำทั้งสองอย่างที่ว่ามาเป็นเรื่องแรก

และกับอนาคตต่อไปของหนังชุดนี้ “มันเป็นคำถามสำคัญนะ แต่ยังคงไม่มีคำตอบ” ดีเซลเอ่ยขึ้น “กับหนังภาคนี้ สิ่งที่เหมาะที่สุดก็คือ จบมันโดยที่ไม่ต้องมีการคาดหวัง ผมเป็นคนแรกที่รู้สึกตื่นเต้นกับทีเซอร์ตอนจบ แต่กับหนังเรื่องนี้มันน่าจะมีอะไรที่ซับซ้อนขึ้นเล็กน้อย”

และอะไรที่ซับซ้อนที่ว่า…. ก็คงต้องไปหาคำตอบกันได้ในโรงภาพยนตร์

จากเรื่อง เร็วแรงทะลุนรก คำรบที่ 7 กับ Fast & Furious 7 โดย ฉัตรเกล้า นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1181 ปักษ์แรกเมษายน 2558

สามารถกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.