FEATURESMovie Features

จากหนังแย่ ถึงหนังเยี่ยมของ เดวิด ฟินเชอร์

เดวิด ฟินเชอร์ เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ทำงานได้อย่างคงเส้นคงวามาตลอด นับตั้งแต่โดดมากำกับหนังเรื่องแรก Alien 3 เมื่อปี 1992 โดยมี Gone Girl เป็นผลงานชิ้นล่าสุด เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับมิวสิค วิดีโอฝีมือดี ที่เมื่อมาจับงานหนังจอใหญ่ก็ได้รับการยกย่องไม่ต่างกัน และแม็กซ์ โอคอนเนลล์ จากเว็บ Indiewire ได้ทำการจัดอันดับผลงานของฟินเชอร์ จากที่แย่ที่สุดไปถึงที่เยี่ยมที่สุดเอาไว้ ที่น่าดีใจก็คือ ผลงานของเขาไม่ใช่งานหาชมยาก หากเป็นสามารถหาชมได้ในรูปแบบดีวีดี และบลู-เรย์ เพื่อให้คอหนังทั้งหลายได้ไปลองหาชมกัน และตัดสินด้วยตัวเอง

Alien 3 (1992): เรื่องราวเบื้องหลังของหนัง ที่ว่าด้วยผู้กำกับหน้าใหม่จากแวดวงมิวสิค วิดีโอ ระดับ “เทพ” ของวงการ คว้าโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตด้วยการโดดใส่หนังเรื่องนี้ แบบไม่คิดหน้าคิดหลัง เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากกว่าการที่หนังชุดนี้ได้ขึ้นจออีกครั้ง ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธเรื่องที่ว่าเสมอ แต่แฟนๆ หนังชุดนี้ต่างก็ยกย่องหนังฉบับ Assembly Cut ที่ยาวกว่าฉบับฉายโรง ซึ่งเป็นงานที่มีที่มาจากฉบับตัดหยาบๆ ที่ฟินเชอร์จัดการเองอีกที หนังฉบับนี้ใรการกู้เรื่องส่วนใหญ่ในช่วงครึ่งแรกกลับมา ซึ่งเปิดช่องให้กับเรื่องความแปลกแยกและโดดเดี่ยวทางสังคม โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่อง การเป็นสถาบันของผู้ชาย และมุมมองทางสังคม ที่มองผู้หญิงเป็นอุปสรรค ขณะที่ความเชื่อในเรื่องไม่มีสิ่งใดที่มีค่า, อะไรก็ตามก็เกิดขึ้นได้ กลายเป็น ความระทึกขวัญในเบื้องต้น เมื่อมีการกำจัดตัวละครหลักๆ ไปแบบไม่ให้คนดูได้ตั้งตัว แต่กลับส่งผลร้ายเมื่อหนังมาถึงครึ่งหลัง เมื่อตัวละครหลักๆ ส่วนใหญ่หายไปจากจอ แต่ความแรงของหนังครึ่งแรกก็ยืดยาวมากจนเกินไป ฉากไล่ล่าก็ดูซ้ำซากจำเจ แต่ถึงกระนั้น Assembly Cut ก็เป็นงานควรค่าน่าหามาชม แม้จะเป็นงานที่นำเสนอออกมาอย่างชัดเจนกว่าที่ฟินเชอร์ต้องการก็ตาม

The Curious Case of Benjamin Button (2008): งานที่ฟินเชอร์ขุดบ่อล่อรางวัลอย่างชัดเจนที่สุด และถูกมองเป็นแค่งานชิ้นเล็กๆ ในเครดิตของเขาทุกวันนี้ มากกว่าตอนที่ออกฉาย โดยสิ่งที่น่าสนใจของหนังที่เห็นชัดที่สุดก็คือ เทคนิคในการทำให้อายุของแบรด พิทท์เดินถอยหลัง แต่ Button ยังมีความน่าสนใจในสถานการณ์แปลกๆ ของตัวละครหลัก ที่บังคับให้เขาต้องปล่อยวาง มากกว่าจะยึดติด เหมือนกับที่ตัวละครนำในหนังของฟินเชอร์ส่วนใหญ่เป็น ตัวละครอีกตัวที่เป็นตัวละครในแบบฟินเชอร์ และดูจะมากกว่าด้วยซ้ำ ก็คือ เดซีย์ (เคท แบลงเช็ทท์) คนรักของบัตตอน เจ้าของแรงกระตุ้น และความปรารถนา ที่ครั้งแรกอยากเป็นนักเต้น และจากนั้นก็คือ การใช้ชีวิตกับบัตตอน นี่คือตัวละครที่ควรจะเป็นศูนย์กลางที่แข็งแรง และเป็นมุมมองที่ดีสำหรับการมองเรื่องราวของบัตตอน แต่น่าเสียดายที่บทของเอริค ร็อธ ใช้เวลากับการผจญภัยของบัตตอนมากไป และกลายเป็นความผิดพลาด เมื่อแบรด พิทท์ในบทที่แทบไม่มีการแสดงอารมณ์ผ่านทางสายตา ถูกกวาดจากตรงนี้ ไปตรงโน้นโดยไม่มีการแสดงปฏิกริยาการตอบโต้ หรือมีอะไรบางอย่างจากมุมมองของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในระดับโลก หรือความตายของคนที่เขารัก ขณะที่จังหวะของฟินเชอร์ค่อยๆ ผ่อนลง ความสวยงามแบบหม่นๆ ถูกจุดขึ้นในแบบที่ให้ความรู้สึกหวานอมขมกลืน มากกว่าจะเป็นสไตล์การเล่าเรื่องในแบบ Forrest Gump การผสมผสานของโทนเรื่องที่ดูหนัก, การเรียกร้องต้องการสิ่งที่มากกว่า กับการนำเสนอที่ดูเป็นก้อนๆ เป็นช่วงๆ ท้ายที่สุดก็ดูแห้งแล้ง ไร้อารมณ์

Panic Room (2002): หลังได้รับคำชมมหาศาลจาก Seven และ Fight Club หนังอย่าง Panic Room เป็นสิ่งที่แฟนๆ ของฟินเชอร์ต้องการน้อยมาก แต่ไม่ใช่ว่ามันไม่มีคุณค่าอะไร หนังยังเล่นกับความโดดเดี่ยว ซึ่งไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่า การจัดสถานการณ์เพื่อนำเสนอสิ่งที่ถูกกำหนดไว้มาเป็นชุดๆ แต่ละชุดก็ดูน่าทึ่ง ฟินเชอร์จัดการกับการออกแบบพื้นที่, เสียง ได้อย่างดี และค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นในเกมแมวจับหนูของหนังอย่างได้ผล แม้บทของเดวิด โคปป์จะขาดใจความสำคัญ และการแสดงอารมณ์ แต่ก็ชดเชยด้วยการเล่าเรื่องที่กระชับ และให้คุณแม่ผู้แก้ปัญหาได้ดี – โจดี ฟอสเตอร์ กับหัวขโมยผู้มีความขัดแย้งในตัว – ฟอเรสท์ วิเทเกอร์ มีอะไรที่ต้องทำในทุกๆ ฉาก กับการแสดงที่มากกว่าเผยลักษณะตัวละครของตัวเอง หนังได้รับคำชื่นชมจากการแสดงที่น่าประทับใจในช่วงแรกมากๆ ของคริสเตน สจวร์ท ในบทลูกสาวของฟอสเตอร์ ยกเว้น Twilight เธอเป็นนักแสดงที่มีพรสวรรค์ Panic Room อาจจะไม่ใช่งานที่ดูใหญ่ แต่สามารถเรียกความสนใจได้สำหรับการชมทางเคเบิลทีวี และเป็นงานที่เยี่ยมยอดในเรื่องของเทคนิค

The Girl with the Dragon Tattoo (2011): ฟินเชอร์มีความสามารถพิเศษ ที่หยิบจับวัตถุดิบที่ดูมีปัญหา แล้วสามารถปั่นจนกลายเป็นทองได้ แต่ก็ไม่มีหนังเรื่องไหนแสดงความโดดเด่นตรงนี้ได้เท่ากับ การดัดแปลงนิยายขายดีของ สตีก ลาร์สสันเรื่องนี้ ขณะที่ความแตกต่างหลักระหว่างหนังของเขากับฉบับสวีดิชที่ออกฉายก่อน 2 ปี ก็คือกระบวนการให้ข้อมูล หนังปี 2009 พยายามนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่ต้องการ เพื่อหาสาเหตุในการก่อคดีให้พบ หนังฉบับของฟินเชอร์สนใจในกระบวนการแยกแยะข้อมูลต่างๆ มากกว่านำเสนอความลึกลับในตัวเอง ลิสเบ็ธ ซาแลนเดอร์ และมิคาเอล บลอมสควิสท์ ต่างลุ่มหลงในการค้นหา ไม่ใช่การค้นพบ และเมื่อความลับถูกเปิดเผย ความคล้ายคลึงกันในตัวของพวกเขาก็จบเห่ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ ซาแลนเดอร์เล่นได้อย่างมีพลังโดย รูนีย์ มารา คือคนที่เป็นอีกด้านหนึ่งของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หญิงสาวมากสติปัญญาที่พยายามค้นพบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในตัวบลอมสควิสท์ เพียงเพื่อเผชิญหน้ากับการถูกดีดออกเมื่อคดีถูกปิด ถึงกระนั้นฟินเชอร์ก็ไม่สามารถเอาชนะความอ่อนแอของนิยายไปได้ กับชั่วโมงแรก หนังให้ความรู้สึกเหมือนมีหนัง 2 เรื่องแยกกัน แต่มีธีมคล้ายๆ กัน เขายังบิดการเล่าเรื่องจากหนังล้างแค้น-ข่มขืน ระทึกขวัญ เป็นเรื่องราวแบบการล้างแค้นนั้นไม่น่าพึงพอใจยังไง รวมทั้งพูดถึง ขอบเขตที่จำกัด และอันตรายของการค้นหาแบบอนาล็อก กับพลังที่แทบไม่มีขอบเขตของดิจิตอล ซึ่งเป็นไปได้ว่านี่คือแถลงการณ์ สำหรับการเปลี่ยนผ่านจากฟิล์ม มาเป็นดิจิตอลของฟินเชอร์เอง

(ยังมีต่อ)

จากเรื่อง จากหนังแย่ ถึงหนังเยี่ยมของ เดวิด ฟินเชอร์ โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์​แกะกล่องหนังแผ่น นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1170 16 ตุลาคม 2557

ให้กำลังใจด้วยการคลิกไลค์เพจสะเด่าส์ได้ง่ายๆ ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
1
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.