Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว เพลงของข้าว – The Songs of Rice ท่วงทำนองของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

the songs of rice posterเพลงของข้าว” – THE SONGS OF RICE: นอกเหนือจาก “เพลงของข้าว” หรือ the Songs of Rice ของอุรุพงศ์ รักษาสัตย์ จะเป็นหนังที่ตั้งมาตรฐานในการสร้างหนังไว้สูงลิบลิ่ว (ทั้งในแง่ของไอเดียเริ่มต้น, เนื้อหาและกลวิธีการถ่ายทอด และแน่นอน งานกำกับภาพที่ต้องใช้คำว่า น่าตกตะลึงพรึงเพริด) และมุ่งหน้าไปสู่การเป็น ‘หนึ่งในหนังไทยที่ยอดเยี่ยมที่สุดของปี 2015’ แน่ๆ อีกอย่างที่โดยส่วนตัวแล้ว-เชื่อว่าต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ในภายภาคหน้า (ขึ้นอยู่กับว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น และเงื่อนไขทางสังคมที่ไม่ปิดกั้นหรือคับแคบเกินไป) “เพลงของข้าว” พร้อมกับ “สวรรค์บ้านนา” ผลงานเรื่องก่อนหน้าของอุรุพงศ์-จะเป็นหนังที่ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอย่างไม่มีข้อเคลือบแคลง

เรื่องหนึ่งท่ีต้องรีบบอกกล่าวก็คือ นี่ไม่ใช่หนังจำพวกที่สร้างเพื่อหล่อเลี้ยงภาพลวงตาที่ดูเพ้อฝันของสังคมกสิกรรมในต่างจังหวัดในแบบที่หลายคนอาจจะเคยเห็นในนิตยสาร อสท. หรือไกด์บุ้คของฝรั่งที่ชวนท่องเที่ยวเมืองไทย (วิถีชีวิตสงบเงียบ, เรียบง่าย, สมถะ, พึงพาตัวเองได้, อยู่กับธรรมชาติ) แต่ทั้ง “สวรรค์บ้านนา” และโดยเฉพาะ “เพลงของข้าว” เป็นเสมือนกับการ update สถานการณ์ล่าสุดของสังคมชนบทที่คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรกรรม (อันนี้สรุปเอาเอง) และแง่มุมหนึ่งที่หนังนำเสนอให้เห็นได้อย่างน่าสนใจมากๆก็คือ ในขณะที่หลายๆชุมชนยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม แต่พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธการมาถึงรูปแบบชีวิตสมัยใหม่และความเปลี่ยนแปลง

และส่วนที่นับเป็นเรื่องดีงามๆก็คือ คนทำหนังไม่ได้ตัดสินและพิพากษาว่า ‘ความเปลี่ยนแปลงและสิ่งแปลกปลอม’ ทั้งหลาย-เป็นของดีหรือของเลว อาทิ ประเพณีวิ่งควาย-ซึ่งมีระบบจัดการเหมือนการแข่งม้า และเป็นการพนันเห็นๆ-ซึ่งไม่เหมือนกับสมัยก่อนแน่นอน หรือการที่จู่ๆ ผู้ชมก็ได้เห็นเครื่องบินพารามอเตอร์โผล่เข้ามาในระหว่างที่พิธีแห่แหนอะไรซักอย่างกำลังดำเนินอยู่ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้-ก็คือคุณยายที่เซิ้งบั้งไฟไปพร้อมกับโชว์ทักษะในเล่นฮูล่าฮูพที่บางที รายการขายเครื่องออกกำลังกายต้องชวนไปเป็นแขกรับเชิญ แต่อย่างหนึ่งที่แน่ๆ-ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า-คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

หนังเรื่อง The Songs of Rice อาจจะไม่มีเส้นเรื่อง แต่มันก็ไม่ได้ปราศจากประเด็นที่มุ่งถ่ายทอด และแง่มุมหนึ่งที่สรุปได้ก็คือ มันบอกเล่าสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตสิ้นสุด (ประเพณีบุญบั้งไฟ, บายศรีสู่ขวัญ, กวนข้าวทิพย์, การตักบาตรข้าวเหนียว, ฯลฯ) และเนื้อหาที่ได้รับการบอกเล่า-ตอกย้ำว่าวัฒนธรรมและประเพณี ตลอดจนการร้องรำทำเพลงของชุมชนหลายๆแห่งที่เกี่ยวพันอยู่กับวิถีชีวิตในแบบชาวนายังคงแข็งแกร่งอยู่มากๆ และในขณะที่ด้านหนึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี อีกด้านหนึ่งมันก็น่าเศร้า-โดยเฉพาะเมื่อมองจากสายตาของผู้ชมที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในเมืองซึ่งน่าเชื่อว่า เหตุการณ์สารพัดสารพันเบื้องหน้าเป็นอะไรที่ ‘พวกเรา’ แทบไม่รู้จัก, คุ้นเคยหรือมีประสบการณ์ร่วมแต่อย่างใด

โดยอัตโนมัติ มันแปลว่าช่องว่างระหว่างสังคมเมืองกับสังคมต่างจังหวัด-ก็ยังคงมหึมา และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พวกเขา’ กับ ‘พวกเรา’ มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ และไม่ค่อยได้เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง ทั้งๆที่ว่าไปแล้ว หนึ่งในตัวแปรที่สามารถชำระชะล้างความเหลื่อมล้ำและความเป็นคนละพรรคคนละพวก-ให้มลายหายไปในพริบตา อีกทั้งยังทำให้ความเป็นเจ้าหรือเป็นไพร่, เป็นเสื้อเหลืองหรือเป็นเสื้อแดง, คนกรุงเทพหรือคนต่างจังหวัด, ผู้ชาย ผู้หญิงหรือเพศที่สาม, คนนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม (และนิกายความเชื่ออื่นๆ) ตลอดจนความผิดแผกในลักษณะอื่นๆ-ล้วนไม่ได้แตกต่างกันจริงๆ อยู่ตรงที่พวกเราทุกคนเป็นชนชาติที่กินข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนกัน

มองในแง่มุมนี้ นอกจาก “เพลงของข้าว” จะสะท้อนท่วงทำนองและจังหวะจะโคนที่ไพเราะเพราะพริ้งและสนุกสนานรื่นเริง ยังฟังดูเหมือนเป็นเพลงที่่น่าจะช่วยให้ผู้ชมโดยเฉพาะในบ้านเรา-ได้ค้นพบความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

โดย ประวิทย์ แต่งอักษร

ให้กำลังใจด้วยการกด Like เพจสะเด่าส์ได้ ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
1
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.