FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

วิธีจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่ง่าย ก็ช่วยลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน

เรื่องหนึ่งที่ทำให้การจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงกลายเป็นปัญหา นั่นก็คือการใช้ตัวแทนในการจัดเก็บ ที่กระทำต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในลักษณะของการคุกคาม และแทนที่จะใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ เพื่อให้เกิดกระทำที่ถูกต้อง กลับอาศัยความไม่รู้ของอีกฝ่ายหาประโยชน์ให้ตัวเอง ส่งผลให้บรรดาร้านค้าหรือสถานบันเทิงต่างๆ ล้วนมีทัศนคติในแง่ลบกับการชำระค่าลิขสิทธิ์

นอกจากท่าทีของตัวแทนที่ไม่เป็นมิตร ทำให้เกิดเรื่องเกิดราวใหญ่โตตามมาแล้ว การชำระค่าลิขสิทธิ์ หรือพูดง่ายๆ ว่าทำตัวให้ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่วุ่นวายไม่ใช่น้อย

เริ่มตั้งแต่การที่ในบ้านเรา มีบริษัทที่ดูแลจัดการเรื่องลิขสิทธิ์มากถึง 24 บริษัท ที่ต่างก็เดินหน้าจัดเก็บลิขสิทธิ์กันแบบตัวใครตัวมัน ทำให้เกิดความสับสนกับผู้ที่ต้องการทำให้ธุรกิจของตัวเองถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะไม่รู้จะจดกับใครดี เพราะบริษัทมีเยอะเหลือเกิน ก็ยังมีเรื่องการมาติดต่อให้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ซ้ำไปซ้ำมา จ่ายไปแล้วก็ไม่จบซะที จ่ายไปให้บริษัทนี้ อีกบริษัทก็โผล่มา กลายเป็นเรื่องน่ารำคาญสำหรับผู้ประกอบการ และเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยเลย โดยที่ยังไม่นับว่า เพลงบางเพลงก็มีหลายเวอร์ชัน หลายผู้ถือลิขสิทธิ์ ทำให้เกิดการสับสนว่าจ่ายเพื่อสิทธิ์ในการเปิด หรือใช้เพลงนี้ไปแล้วหรือยัง จนกลายเป็นช่องทางหากินของบุคคลบางกลุ่ม

บางทีการสร้างระบบจัดเก็บ ที่มีผู้จัดเก็บ (หรือตัวแทนในการจัดเก็บ) เพียงรายเดียว (หรือบริษัทเดียว) แล้วนำเงินส่งแต่ละบริษัทตามที่ผู้ประกอบการตกลงจ่ายให้ น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ผู้ประกอบการจ่ายกันทีเดียวที่เดียวครบกำหนดสัญญาก็ติดต่อผู้จัดเก็บ (หรือตัวแทนในการจัดเก็บ) เพื่อต่ออายุกันต่อไป หรือหากจะให้ดีกว่านั้น ก็ทำให้สามารถต่อสัญญากันได้ด้วยระบบออนไลน์ แล้วก็ส่งใบอนุญาตตามหลังทางไปรษณีย์ หรือแสดงรายชื่อรายไว้ในระบบออนไลน์ว่าทำการชำระค่าลิขสิทธิ์แล้ว เพื่อที่เวลาตัวแทนเข้าไปตรวจสอบ ผู้ประกอบการจะได้แสดงให้ตัวแทนได้รับรู้ว่า ร้านค้าหรือสถานบริการนี้ได้จัดการทำตามระบบเรียบร้อย

ก็ไม่รู้ว่าทำไม ถึงไม่ทำกันสำหรับการต่ออายุในระบบออนไลน์ ทั้งๆ ที่การซื้อขายเพลงแบบดาวน์โหลด หรือสตรีมมิง ก็ยังทำระบบกันได้…

ล่าสุด นั่งคุยกันเล่นในวงน้ำยอดข้าว น้องคนหนึ่งก็เกิดไอเดียเรื่องการเก็บค่าลิขสิทธิ์สำหรับร้านเล็กๆ อย่างร้านกาแฟที่มีพื้นที่ไม่มากนักขึ้นมาว่า “ทำไมเราไม่ให้จ่ายด้วยการซื้อผ่านซีดีล่ะ โดยซีดีแบบที่ฟังๆ กันทั่วไป ส่วนตัวก็ราคาหนึ่ง ส่วนซีดีที่สามารถซื้อแล้วเปิดฟังในร้านค้า หรือสถานบันเทิงอะไรต่างๆ ก็อีกราคาหนึ่ง ซื้อไปปุ็บก็มีสติ๊กเกอร์ระบุวันหมดอายุติดไปด้วย ถ้าหมดแล้วต้องการใช้ต่อ ก็มาต่อใหม่อาจจะเป็นผ่านระบบออนไลน์ หรือที่ตัวแทนก็ได้ เวลามีคนมาตรวจ ก็ยื่นแผ่นซีดีให้ดู” หรือไม่ก็ซื้อแผ่นซีดี แล้วไปชำระค่าลิขสิทธิ์ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส, เปย์โพสท์ ตามร้านสะดวก, ไปรษณีย์ได้ ในจำนวนเงินตามที่เจ้าของลิขสิทธิ์กำหนด เช่น ร้านขนาดนั้น มีโต๊ะเท่านี้ต้องจ่ายเท่าไหร่ ฯลฯ ก็ว่ากันไป แล้วเก็บใบเสร็จไว้คู่กับซีดี เวลามีตัวแทนมาตรวจสอบ ก็เอาใบเสร็จบวกกับซีดีนี่ละให้ดุ

โอเคล่ะ กับการทำให้ใช้งานได้จริงๆ ก็คงต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยมากกว่านี้ เพียงแต่รูปแบบที่จู่ๆ ก็แว้บขึ้นมา เท่าที่คิดกันคร่าวๆ ก็เอื้อให้การจัดเก็บและจ่ายค่าลิขสิทธิ์ทำได้ง่ายขึ้น ผู้ประกอบการที่ต้องการทำให้ตัวเองอยู่ในระบบที่ถูกต้องไม่วุ่นวาย หรือสับสน

มานึกดูก็ยังงงๆ ว่า นี่คือ ธุรกิจที่จะนำเงินมาให้เจ้าของลิขสิทธิ์มหาศาลในแต่ละปี แต่กลับไม่มีการคิดกรรมวิธีในการทำให้ชาวบ้านจ่ายเงินได้ง่ายๆ กระทั่งเว็บไซต์ของผู้ดูแลและจัดเก็บลิขสิทธิ์เอง ก็ไม่ใช่ทุกที่ ที่มีข้อมูลในแบบที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายๆ ซึ่งก็รวมไปถึงเรทราคาต่างๆ ด้วย ไม่เชื่อลองคลิกเข้าไปดูได้

จากเรื่อง ระบบเก็บค่าลิขสิทธิ์ สิ่งที่น่าจะทำให้ ‘ง่าย’ ขึ้น คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 8 กรกฎาคม 2559

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.