Music ReviewREVIEW

อัลบั้มซาวนด์แทร็ค Fifty Shades of Grey เพลงประกอบหนังที่มากันครบทุกเฉดสี

FIFTY SHADES OF GREY: ORIGINAL MOTION PICTURE SOUNDTRACK / Various Artists
[Republic Records]

ตัวหนังนั้น หากบอกว่าเป็นงานโรแมนซ์ – อีโรติค Fifty Shades of Grey ถือว่าทำได้ไม่ถึงทั้งในแง่ของความรักในฝั่งที่เป็นโรแมนซ์ ดูแล้วอยากจะเชื่อว่าตัวละครมหาเศรษฐีหนุ่มกับบัณฑิตสาวหมาดๆ จะมีใจที่ให้กันจริงๆ โดยไม่ต้องนึกถึงความสมเหตุสมผลต่างๆ ในส่วนปูมหลังของตัวละคร

Fifty Shades of Grey DLและหากมองในเรื่องของการนำเสนอเซ็กส์แบบ S&M (Sadism & Masochism) สิ่งที่เห็นในหนัง ก็ไม่ต่างไปจากนิทานสำหรับเด็ก ไม่มีความจริงจัง ขาดความหนักแน่น และไม่ต้องไปนึกถึงปมเงื่อนต่างๆ เกี่ยวกับความเป็นมาหรือเป็นไปสำหรับพฤติกรรมแบบนี้ และไม่ต้องไปคิดว่า ฉากเซ็กส์ในหนังทำออกมาถึงขนาดไหน มาให้น้ำหนักด้วย

หนังเลยเป็นได้แค่จินตนาการที่ฟุ้งฝัน แบบคนที่อยากมีความรักเพ้อๆ และเซ็กส์แฟนตาซีแบบโลกสวย ที่น่าจะเดินเรื่องแบบเร็วกว่านี้ กระชับกว่าที่เป็น ก็คงจะดี เพราะกับตัวเรื่องที่ “แทบ” ไม่มีอะไรเลย แต่ถูกลากไปจนถึง 2 ชั่วโมงแบบนี้ ทำให้หนังเนือย เอื่อยไม่น้อยเลย

ยังดีที่ยังมาพร้อมกับเพลงเพราะๆ ที่โทนอารมณ์ของหลายๆ เพลงยังทำให้ฉากรัก หรือฉากเซ็กส์ทั้งหลายดูมีมิติ มีความลึกทางอารมณ์เพิ่มขึ้นมาได้บ้าง แล้วกับคนที่ไม่ได้ชมภาพยนตร์ อัลบั้มซาวนด์แทร็คของ Fifty Shades of Grey ก็ไม่ต่างไปจากการรวมเพลงชั้นดีของศิลปินระดับเกรด-เอ รุ่นเก่ารุ่นใหม่ ทั้งที่เป็นเพลงเก่าและเพลงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น บียอนเซ่, แอนนี เลนน็อกซ์, เอลลี กูลดิง, เซีย, เดอะ วีคเอนด์, สกายลาร์ เกรย์, เจสซี แวร์ ไปจนถึง แฟรงค์ ซินาตรา หรือ เดอะ โรลลิง สโตนส์

จากชื่อเสียงของศิลปินบางส่วนที่ไล่เรียงมา นี่เป็นอัลบั้มซาวนด์แทร็ครวมเพลง ที่มีงานเพลงหลากหลาย ทั้งป็อป, ทั้งสแตนดาร์ดแบบโกลเดน โอลดี, ร็อคเมนสตรีม, อาร์แอนด์บี, อิเล็กทรอนิกส์ และยังมีงานสกอร์ของแดนนี เอล์ฟแมนติดมาให้ด้วยในอัลบั้มอีก 2 เพลง

ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ตั้งแต่อัลบั้มยังไม่ออก หรือจะนับไปถึงตั้งแต่หนังยังไม่ฉาย ก็คงไม่พ้น 2 เพลงจากบียอนเซ โนวล์ส Crazy in Love ฉบับรีมิกซ์ 2014 นั้น ได้ยินกันตั้งแต่ในหนังตัวอย่าง ถือได้ว่าเลือกเพลงเข้ากับเรื่องราวและโทนของหนังมากๆ ดนตรีที่ฟังเนิบนาบ เสียงร้องแบบกระซิบจากลำคอ ฟังแล้วให้ความรู้สึกถึงความเซ็กซี เร่าร้อน ที่ส่งถ่ายออกได้ทันที ที่สำคัญตัวเพลงนั้นค่อยๆ บิลด์อารมณ์อย่างช้าๆ ทีละนิดๆ ก่อนที่จะไปพีคในช่วงสุดท้าย ส่วน Haunted ซึ่งเป็นงานรีมิกซ์เช่นกัน แต่เป็นฝีมือของ ไมเคิล ไดมอนด์ เสียงร้อง และบรรยากาศก็ใกล้ๆ เคียงกับเพลงแรก แต่ดนตรีฟังคึกคัก โปร่ง แล้วหนักไปทางให้ความรู้สึกเคลิ้บเคลิ้มมากกว่า

ด้วยอารมณ์ และโทนของเพลงอย่างที่เห็น การเลือกงานนั้นตอบโจทย์ความต้องการ, ช่วยเสริมความเร่าร้อนให้ตัวหนัง หรือฉากที่ถูกใช้ได้อย่างลงตัว และหากสังเกตุชื่อเพลง ต่างก็พบว่าไปด้วยกันกับเรื่องราว ตลอดจนพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง

ถ้าลองไล่เรียงรายชื่อเพลงในอัลบั้มบ้าง ชื่อแต่ละเพลงสามารถลากไปเกี่ยวพันกับเนื้อหา ความเป็นมา การกระทำของตัวละครได้สบายๆ ตั้งแต่เพลงแรกของอัลบั้มและในหนัง I Put a Spell on You ที่ราวกับจะบอกว่าตัวละครบางคน เล่นของใส่อีกคนไปแล้วยังไงยังงั้น นี่คือเพลงที่ฟังดูลี้ลับ ชวนล่องลอย และวิธีการร้องของป้าแอนนี เลนน็อกซ์ ก็ไม่ต่างไปจากการร่ายมนตร์

แล้วก็มีชื่อเพลงอย่าง Undiscovered จากลอรา เวลช์ เพลงป็อปที่ผสมกับเสียงร้องแบบโซล ฟังเพราะแต่ไม่มีอะไรที่โดดเด่นนัก เมื่อเทียบกับเพลงอื่นๆ, Earned It ป็อปเก๋ๆ จาก เดอะ วีคเอนด์ ที่จะพาความรู้สึกกลับไปล่องลอยเคลิ้มฝันอีกครั้ง และเพลงนี้ก็อยู่ในฉากสำคัญฉากหนึ่งของหนัง เดอะ วีคเอนด์ยังมี Where You Belong อีกเพลงให้ได้ฟัง แม้บรรยายกาศจะใกล้เคียงกัน แต่เสียงร้องดูจะถูกเน้นมาข้างหน้ามากกว่า และมีเสน่ห์ไม่มากเท่ากับเพลงแรก

กับคอป็อป ซาวนด์แทร็คของ Fifty Shades of Grey มี Love Me Like You Do เพลงป็อป-อิเล็กทรอนิกส์ ใสๆ ฟังร่าเริง ผลงานของเอลลี กูลดิงเจ้าแม่ซาวนด์แทร็คของยุคนี้ นี่เป็นเพลงที่น่าจะติดหูได้ไม่ยาก ฟังลงตัวและโดน ส่วน Meet Me in the Middle จากสาวเจสซี แวร์ เป็นงานบลูส์ที่เติมความทันสมัยลงไป ที่เปิดต่อกับ I Put a Spell on You ได้เนียนสนิท

นอกจากชื่อเพลงจะเกี่ยวพันกับเรื่องราว เนื้อหา โดยไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เกือบทุกเพลงในอัลบั้มยังมีดนตรีที่ใช้สร้างบรรยากาศอย่างได้ผล ฟังล่องลอย ดูเคลิ้ม ดูฝันๆ ที่บางเพลงอาจจะเติมความลี้ลับลงมาเสริมด้วยซ้ำไป

น่าจะเป็นการเลือกเพลงที่มีจุดมุ่งหมายแบบเดียวกับเพลงในหนังชุด Twilight ไม่ใช่แค่ไพเราะ และเป็นอีกจุดขายของหนัง ก็ยังเป็นทำหน้าที่ไม่ต่างไปจากดนตรีประกอบ ซึ่งในอัลบั้มนี้จะมีสกอร์ใส่เข้ามาให้ 2 เพลง Anna and Christian และ Did That Hurt? ที่ต้องบอกว่าเป็นเซอร์ไพรส์ ด้วยความที่ไม่คุ้นมาก่อนกับงานของแดนนี เอล์ฟแมน ที่ฟังนวล มีอารมณ์โรแมนติคแบบนี้ ในธีมแรกดนตรีดูจะหวานกว่าธีมที่ 2 ซึ่งดนตรีฟังดูลึกลับ มีอารมณ์แบบสับสนวิตกกังวล อยากรู้อยากเห็น โดยมีกลุ่มเครื่องสายบรรเลงท่วงทำนองของธีมแรกคลอข้างหลัง ฟังให้รู้สึกว่าเป็นงานของเอล์ฟแมน ในแบบที่คุ้นเคยมากกว่า (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าใช่)

และถ้านึกไปถึงการใช้งานในภาพยนตร์ด้วยแล้ว ดนตรีของเขาก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยอุ้มอารมณ์เอาไว้ เพราะจะหวังพึ่งจากการแสดง กับตัวเรื่องก็คงจะลำบาก แล้วกับการที่เอาสกอร์ 2 ธีมนี้มาปิดท้าย ก็ทำให้อัลบั้มมีบทสรุปที่ลงตัว เป็นเรื่องเป็นราว สืบเนื่องกันทั้งตัวเพลง ชื่อเพลง ดนตรีประกอบ และโทนรวมของอัลบั้ม
เป็นงานที่มีเฉดสีต่างๆ มากกว่าเรื่องราวในหนัง และฟังได้นานๆ แน่นอน

จากคอลัมน์ สะกิดร่องเสียง โดย นพปฎล พลศิลป์ นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1179 วันที่ 1 มีนาคม 2558

สามารถกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.