etc FeaturesFEATURESอำลา อาลัย

อำลา-อาลัย โอมาร์ ชารีฟ อีกหนึ่งตำนานผู้จากไป

10 กรกฎาคมที่ผ่านมา โอมาร์ ชารีฟ หนึ่งในนักแสดงหนุ่มมรูปงามของยุค 60 ที่ทำเอาสาวๆ สั่นสะท้านด้วยผิวเข้มแบบหนุ่มอียิปต์ และดวงตาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เขาคือเจ้าของบทบาทอมตะในภาพยนตร์คลาสสิคระดับตำนาน Lawrence of Arabia และ Dr Zhivago ได้ลาลับจากโลกนี้ไปแล้ว

โดยฉากเปิดตัวของเขาในบทเชอริฟ อาลี อิบน์ เอล คาริช ใน Lawrence of Arabia ที่กำกับโดยเดวิด ลีน ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในฉากเปิดตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล โดยผู้กำกับระดับตำนานอีกคนของวงการ – อิงมาร์ เบิร์กแมนถึงกับออกปากว่า “โอมาร์ ชารีฟเป็นเจ้าของฉากเปิดตัวในหนัง Lawrence of Arabia ที่คุณจะไม่มีวันลืม เป็นฉากเปิดตัวที่งดงาม มีทั้งแสงอาทิตย์ และอูฐ” (ชมได้ที่คลิปด้านล่าง)

omar - lawrenceในฉากที่น่าจดจำฉากนี้ เขาต้องขี่อูฐตัดข้ามทะเลทรายเข้ามาในฉาก ซึ่งลีนปล่อยให้เวลาให้เดินไปนานเท่าที่เขาจะทำได้ โดยยึดถือปรัชญาการถ่ายฉากเปิดตัวจากวิลเลียม ไวเลอร์ “ถ้าคุณจะเซอร์ไพรส์ผู้ชมละก็ คุณต้องทำให้พวกเขาเบื่อแทบเป็นแทบตายให้ได้” ลีนถ่ายฉายนี้ท่ามกลางทะเลทราย ในเวลาราวๆ 9-10 โมงเช้า และถ่ายทำเพียงเทคเดียว “มันแค่เทคเดียว แต่ยาวนานอย่างสุดๆ เพราะระยะทางที่ผมต้องเคลื่อนที่เข้ามา” ชารีฟประเมินว่า เขาต้องเดินทางราวๆ 2-3 ไมล์ในฉากนี้ แต่บางทีระยะทางจริงๆ อาจจะเพียงแค่ 1/4 ไมล์ก็เป็นได้

หนังเรื่องนี้ที่ตอนแรกสั้นกว่า Gone with the Wind เพียงแค่นาทีเดียว ก่อนจะถูกตัดต่อใหม่ให้สั้นลงไปอีกราวๆ 20 นาที คว้ารางวัลออสการ์ในปี 1963 มาครองถึง 7 รางวัล แต่ชารีฟพ่ายในสาขานักแสดงสมทบให้กับ เอ็ด เบ็กลีย์ จาก Sweet Bird of Youth ที่น่าประหลาดใจก็คือ เขาไม่ใช่ตัวเลือกแรกของบทของบทนี้ แซม สปีเกลเตรียมให้นักแสดงหนุ่มเพลย์บอยชาวฝรั่งเศส คริสเตียน มาร์แควนด์ มาเล่น แต่ลีนกลับเลือกชารีฟแทนจากการเห็นเพียงแค่รูปถ่าย ทำให้หนุ่มอียิปต์ต้องดิ่งมาที่ทะเลทรายในกรุงอัมมัน ด้วยเครื่องบินเล็ก ที่พอมองลงมาก็เห็นจุดเล็กๆ ซึ่งก็คือลีนยืนคอยการมาถึงของเขาอยู่บนผืนทราย

เมื่อมาถึง ลีนจัดการเรื่องเครื่องแต่งกายให้กับชารีฟเอง เขาไม่เอาเคราปลอม แต่เอาหนวดไว้ ซึ่งชารีฟก็ไว้หนวดมานับตั้งแต่นั้น หนังมหากาพย์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำถึง 20 เดือน โดยเริ่มทำงานกันในเดือนพฤษภาคม 1961 ฉากในทะเลทรายทั้งหลายถ่ายกันในโมร็อคโค แต่ฉากเปิดตัวอันลือลั่นของเขาถ่ายกันที่จาฟาร์ ในจอร์แดน ที่เป็นจุดที่มีไอแดดมิราจ สวยที่สุด

หนังเรื่องสำคัญอีกเรื่องของชารีฟก็คือ หนังมหากาพย์ Dr Zhivago ซึ่งถ่ายทำกันส่วนใหญ่แถบนอกเมืองแมดริดในช่วงเดือนธันวาคม 1964 – ตุลาคม 1965 ดวงตาสีน้ำตาลของเขากลายเป็นความประทับใจของผู้คนนับล้านๆ จากการรับบทคุณหมอนักกวี ที่ในตอนแรกถูกเสนอให้กับปีเตอร์ โอทูล แต่เขายังไม่อยากทำอะไรหลังเสร็จงานจาก Lawrence ก่อนที่บทนี้เกือบจะตกไปเป็นของพอล นิวแมน ลีนกลับยื่นบทนี้มาให้ชารีฟ “ผมคิดว่า… ‘ช่างมันเถอะ! ผมจะใช้โอมาร์ เขาทำงานด้วยง่าย!’”

omar- dr zhivagoชารีฟเองก็อ่านหนังสือของพาสเตอร์แน็ค เพื่อหาบทที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเขา ซึ่งน่าจะเป็นบทนักศึกษาที่กลายเป็นนักปฏิวัติ (ที่ท้ายที่สุดกลายเป็นของ ทอม คอร์เทเนย์) เพราะด้วยความเป็นคนอียิปต์เขาไม่คาดหวังว่าจะได้รับบทคนรัสเซียน ตอนนั้นเขากำลังถ่ายทำ Genghis Khan อยู่ที่ยูโกสลาเวีย ขณะกำลังเล่นไพ่บริดจ์กับยูล บรินเนอร์ในโรงแรมเมโทรโพล ที่เบลเกรด ตัวแทนของชารีฟก็โทรมา บอกว่าเขาได้รับการเสนอบทนำของหนังมาให้

และบทนี้ก็กลายมาเป็นบทอมตะในวงการภาพยนตร์อีกบทหนึ่งของโอมาร์ ชารีฟ

Dr Zhivago ต้องเจอคู่แข่งบนเวทีออสการ์อย่าง The Sound of Music และคว้ารางวัลมาได้แค่ 6 สาขา คำวิจารณ์ก็ไม่ดีนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อมากๆ เมื่อมองย้อนกลับไปจากวันนี้ แต่หนังประสบความสำเร็จในเรื่องรายได้ เมื่อทำเงินถึงกว่า 200 ล้านเหรียญ

สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับชารีฟก็คือ หนังเรื่องอื่นๆ ที่เขาเล่น เทียบไม่ได้เลยกับงานที่เขาทำกับเดวิด ลีน ไม่ว่าจะเป็น The Fall of the Roman Empire (1964), หนังแอ็คชัน Behold a Pale Horse ที่ออกฉายในปีเดียวกัน, The Yellow Rolls Royce ซึ่งเขาเล่นเป็นหัวขโมยประกบกับอินกริด เบิร์กแมน หรือกระทั่ง Genghis Khan แต่ก็ยังมีงานฮิตอย่างหนังเพลง Funny Girl (1968) ที่เขาเล่นกับบาร์บรา สไตรแซนด์ และที่ขาดไม่ได้ Mackenna’s Gold หนังตะวันตกรวมดาว ที่เขามีฉากต่อสู้ที่น่าจดจำกับเกรกอรี เป็ค ในปี 1968) รวมไปถึง Funny Lady หนังภาคต่อของ Funny Girl ที่ออกฉายในปี 1975

ชารีฟ เกิดที่อียิปต์ ในปี 1932 และเข้าเรียนที่โรงเรียนมีชื่อของประเทศอย่าง วิคตอเรีย คอลเลจ ชีวิตในช่วงวัยเด็กของเขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะ จนกระทั่งกษัตริย์ฟารัคหมดอำนาจในปี 1952 โอมาร์กลายมาเป็นนักแสดง และเข้าพิธีแต่งงานตั้งแต่ยังหนุ่มกับฟาเทน ฮาร์มามา นักแสดงสาวชาวอียิปต์ ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันในกรุงไคโร มีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนชื่อ ทารีคว์ ก่อนจะหย่าจากกันในปี 1966

omar_sharifเขาได้ชื่อว่าเป็นหนุ่มเจ้าชู้ เจ้าของฉายา เฟร็ดแห่งไคโร และมีข่าวคราวความสัมพันธ์กับนักแสดงหญิงร่วมจออยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็น สไตรแซนด์, อนุค เอมี, แคเธอรีน เดอเนิฟ หรือไดแอน แคนนอน แต่หลังหย่ากับภรรยา เขาก็ไม่คิดจะลงหลักปักฐานกับใครอีกเลย ในช่วงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต แม้จะมีบ้านที่เบเวอร์ลี ฮิลล์ส แต่ส่วนใหญ่เขามักจะใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปมากกว่า ส่วนชีวิตช่วงหลัง ชารีฟมักไปพักที่แฟลตในกรุงปารีส และได้รับการดูแลโดยแม่บ้านที่ชื่อ เปปิตา ถึงวัยจะมากขึ้น มาดเท่ๆ ดูดีของเขาก็ไม่หายไปไหน แม้ผมดำสนิทจะแปรเปลี่ยนเป็นสีเทาเงิน ความสนใจของเขาช่วงนี้ ตอนกลางวันจะอยู่ที่การแข่งม้า และเล่นไพ่บริดจ์ในตอนกลางคืน แล้วก็ยังสนุกกับการไปกินมื้อค่ำหรูหราราคาแพงๆ กับเพื่อนๆ

ปรัชญาในการใช้ชีวิตของชารีฟก็คือ ทำงานให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อสร้างความสนุกสนานให้ตัวเอง เมื่อมีเงินกองในธนาคาร เขาจะไม่รับงาน แต่พอเงินหมด เขาก็จะรับงานแสดงอีก ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เขาต้องไปปรากฏตัวในงาน Chichester Festival ในยุค1980s ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และรับหนังระทึกขวัญเรื่อง Red Star เมื่อปี 1994 ที่มีทิโมธี ดัลตัน กับไนเจล ฮาเวอร์ส แสดงนำ หนังเรื่องนี้ดึงเขาไปเล่นได้ก็เพราะการถ่ายทำส่วนหนึ่งจะปักหลักกันที่ตอนใต้ของฝรั่งเศส และบางส่วนของลักเซมเบิร์ก

ชารีฟเข้ารับการผ่าตัดทำบายพาสส์หัวใจตั้งแต่ปี 1992 และหลังจากนั้นก็เกิดหัวใจวายอ่อนๆ อยู่หลายต่อหลายครั้ง ช่วงบั้นปลายชีวิต เขามักตำหนิหนังช่วงกลางๆ ของการทำงานว่าเป็นหนังขยะ การขาดแคลนบทบาทที่เหมาะสมที่มาถึงมือ ทำให้เขาเริ่มปฏิเสธข้อเสนอต่างๆ ที่มีเข้ามาในช่วงปลายยุค 1990s “ผมสูญเสียความเคารพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง” เขากล่าวในปี 2004 “กระทั่งหลานๆ ของผมยังเล่นตลกกับผม ‘คุณปู่ หนังเรื่องนั้นแย่จัง แล้วเรื่องนี้ล่ะ? มันแย่เลยล่ะ’”

แต่แล้วหน้าที่การงานของชารีฟก็กลับมาเข้ารูปเข้ารอยจนได้ ซึ่งต้องขอบคุณบทในหนังฝรั่งเศสเรื่อง Monsieur Ibrahim (2003) ที่เขาเล่นเป็นเจ้าของร้านชาวมุสลิมในปารีส และรับเด็กชายชาวยิวมาดูแล หนังทำให้เขาได้รับรางวัลซีซาร์ของฝรั่งเศส ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัลออสการ์ เขาตามติดความสำเร็จของเรื่องนี้ด้วยบทชีค ในทะเลทรายที่ต้องต่อสู้กับคนถึง 11 คนที่เข้ามาเล่นงานเขาใน Hidalgo หนังสไตล์ตะวันตกที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ที่นำแสดงโดย วิกโก มอร์เทนเซน

ในปี 2007 ชารีฟถูกสั่งให้เข้าคอร์สจัดการกับความโกรธเกรี้ยว หลังไปชกคนดูแลลานจอดรถในอเมริกา ที่ไม่ยอมรับเงินยูโรจากเขา ขณะที่ตัวเองมักไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงไคโร และโรงแรม โรยัล มอนซีน ในปารีส

แล้วในวันที่ 10 กรกฎาคม 2015 เขาก็จากโลกนี้ไป เหลือไว้เพียงแต่ผลงานให้จดจำ

จากเรื่อง อำลา-อาลัย โอมาร์ ชารีฟ อีกหนึ่งตำนานผู้จากไปโดย ลุงทอย นิตยสาร เอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1189 ปักษ์แรก สิงหาคม 2558

สามารถกดไลค์ Like ติดตามเพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:etc Features

Comments are closed.