ด้วยการแทรกเรื่องเสียดสีที่เป็นแง่มุมทางสังคม และแง่มุมทางการเมืองเข้ามาในเรื่อง อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ ไม่ได้เพียงแค่นำสัตว์ประหลาดจากหนังสยองขวัญตะวันตกมาใช้อย่างได้ผล แต่พวกเขากำลังจะกลายเป็นผู้นำเหล่าซากศพกระหายเลือดเดินทางไปทั่วโลก ผ่านหนังสยองขวัญที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง
และเจมส์ บัลมอนท์ จาก The Face ได้วิเคราะห์ถึงการเดินทางของซอมบีในครั้งนี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ
จากภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติที่แปรปรวนในหนัง Night of the Living Dead ของจอร์จ เอ. โรเมโร มาถึงความกลัวที่เกิดขึ้นในยุคหลังโรคเอดส์ ที่เป็นฉากหลังของเกมสยองขวัญในยุค 90s อย่าง Resident Evil เหล่าซากศพเดินได้และกระหายเลือดที่เรียกว่าซอมบี มักจะถูกใช้เปรียบเปรยกับความวิตกกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก และไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ สำหรับในยุคการระบาดของโคโรนาไวรัส ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกหรือนึกถึงหนังซอมบีอีกครั้ง
เมื่อภาพของเมืองที่เต็มไปด้วยความอ้างว้าง อัตราการเสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นเรื่องๆ และทฤษฎีสมคบคิดว่าที่ด้วยการใช้สัญญาณ 5จี มาควบคุมสมองผู้คน ไม่ยากเลยที่จะคิดไปถึงงานที่เปรียบได้กับฝันร้ายของผู้ชม ที่ว่าด้วยโรคหลังหายนะอย่าง 28 Days Later ของแดนนี บอยล์
เดือนมีนาคม 2020 กูเกิลรายงานว่า มีการค้นหาภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ ซึ่งนั่นเป็นช่วงก่อนจะมีมาตรการล็อคดาวน์เกิดขึ้นบนเกาะอังกฤษ
แต่การที่ซีรีส์สูตรสำเร็จของหนังซอมบีอย่าง The Walking Dead กำลังอ่อนล้าเต็มทีหลังออกอากาศมาแล้วถึง 10 ฤดูฉาย และหนังอินดีรวมดาวของจิม จาร์มุช The Dead Don’t Die ไปได้ไม่สวยในบ็อกซ์ ออฟฟิศเมื่อปี 2019 ดูเหมือนว่าหนังซอมบีกำลังแห้งตาย แล้วหากจะกลับมาได้ มันก็ต้องอาศัยความน่าสนใจใหม่ๆ
ฮอลลีวูดไม่จำเป็นต้องมองไปไหนไกลกว่าเกาหลีใต้เพื่อหาแรงบันดาลใจ การคว้ารางวัลออสการ์แบบสะเทือนวงการของบอง จุน-โฮ จาก Parasite กลายเป็นการสร้างจุดสุดยอดให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี หลังใช้เวลาฟื้นฟูกันกว่าสองทศวรรษ ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ แล้วกับการที่ประเทศสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากการระบาดของโคโรนาไวรัส ความสำเร็จที่ก่อนขึ้นก่อนหน้าย่อมได้รับการสานต่อ
ตามคอนเส็ปท์ของตะวันตก ซอมบีมีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีปีศาจในประเทศต่างๆ ที่มีก่อนหน้าน้อยมาก แล้วการแทรกเรื่องเสียดสีที่เป็นแง่มุมทางสังคม และแง่มุมทางการเมืองเข้ามา อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ ไม่ได้แค่นำตัวประหลาดจากหนังสยองขวัญตะวันตกมาใช้อย่างได้ผล แต่พวกเขากำลังจะกลายเป็นผู้นำเหล่าซากศพกระหายเลือดเดินทางไปทั่วโลก ผ่านหนังสยองขวัญที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง
การแกะรอยหนังซอมบีเกาหลี สามารถย้อนกลับไปได้จนถึงปี 1981 จากงานของผู้กำกับ กัง บีออม-กู เรื่อง Goeshi ที่อาจจะไม่มีใครรู้จักนัก และหนังเหล่านั้นก็ไม่เคยสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมใดๆ ให้เกิดขึ้นเลย จนกระทั่งการมาถึงของเยียน ซัง-โฮ พร้อมกับหนังสุดเร้าอารมณ์ Train to Busan เมื่อเดือนพฤษภาคม 2016
การอาละวาดที่ค่อยรวมกันจนกลายเป็นเหตุโกลาหลบนรถไฟความเร็วสูง ที่หนีออกจากจุดศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัส ถูกตีความว่าเป็นการวิพากษ์การตอบสนองต่อการระบาดของไข้หวัดเมอร์สเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้าที่หนังจะฉาย รวมทั้งเป็นงานส่งนักแสดงอย่าง ชอย วู-ชิค ที่ต่อมาได้รับบท เควิน ติวเตอร์กำมะลอใน Parasite และมา ดอง-ซอค เจ้าของบทที่ไม่ต่างไปจากฮีโรรากหญ้าที่ช่วยนำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับชนชั้นให้กับหนัง โดยอดีตเทรนเนอร์บุคลิกภาพรายนี้ กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์เกาหลี เมื่อหนังเรื่อง The Eternals ออกฉายในปี 2021 การรับบทกิลกาเมของเขาทำให้มา กลายเป็นนักแสดงเกาหลีคนแรกที่ได้รับบทซูเปอร์ฮีโรของมาร์เวลในหนังจอใหญ่
ด้วยยอดขายตั๋วกว่า 11.5 ล้านใบเฉพาะในเกาหลีใต้ Train To Busan กลายเป็นหนังทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในประเทศเกาหลีอันดับที่ 11 ก่อนจะมีการปล่อยแอนิเมชันตอนก่อนของหนัง Seoul Station ตามมาอย่างรวดเร็วในปีเดียวกัน ขณะที่เอ็ดการ์ ไรท์ ผู้กำกับของ Shaun of the Dead กล่าวชมงานระทึกขวัญคนแสดงต้นฉบับ ว่าเป็น “หนังซอมบีที่ดีที่สุดที่ผมเคยชมชั่วนิรันดร์” Train To Busan ยังถูกหยิบมาพูดถึงด้วยว่าเป็นหนังโรคระบาดที่ดีที่สุดที่ออกฉายในเกาหลีใต้
The Wailing หนังสยองขวัญผีสิง ที่ค่อยๆ เร้าอารมณ์ผู้ชมอย่างช้าๆ ด้วยทีท่าคล้ายๆ กันของนา ฮอง-จิน ที่ว่าด้วยเรื่องของการติดเชื้อที่คล้ายๆ กับซอมบีในเมืองที่ดูซึมเซาแถบชานเมือง ได้สัญญาการจัดจำหน่ายในต่างประเทศกับเน็ทฟลิกซ์ หลังคว้ารางวัลจากงานภาพยนตร์ในแถบตะวันออกมามากมาย หนังได้คะแนนที่ดีจากทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมทั่วโลก โดยที่เว็บมะเขือเน่าหนังได้ค่าความสดถึง 99% พร้อมคำชื่นชมถึงบรรยากาศที่ดูลึกลับกับการวางเรื่องราวดรามาแบบหนังตำรวจไว้ที่ด้านหลัง โดยมีนักวิจารณ์บางคนเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับงานสยองขวัญคลาสสิกของอังกฤษอย่าง The Wicker Man
ความสำเร็จของหนังในบริการสตรีมิงทิ้งมรดกตกทอดสำคัญเอาไว้ นั่นก็คือการแผ้วถางทางให้งานที่ได้ชื่อว่าเป็นซีรีส์เกาหลีเน็ทฟลิกซ์สร้างเรื่องแรกที่ออกอากาศทางผู้ให้บริการสตรีมิงรายนี้ Kingdom เมื่อปี 2019 ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์โซชอน องค์ชายรัชทายาทลี ชาง พยายามค้นหาความจริงว่าพระบิดาที่เป็นฮ่องเต้ กลับไม่เสด็จสวรรคต และมีชีวิตอยู่โดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติหลังจากประชวรอยู่นาน ขณะที่เกมกลทางการเมืองค่อยๆ ถูกเปิดเผย ร่างของคนตายก็กลับลุกขึ้นมาทำร้ายบรรดาผู้คนที่ยังมีชีวิต ซีรีส์เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นคำตอบของเกาหลีต่อ Game of Thrones แต่นอกเหนือไปจากธีมของเรื่องที่คล้ายคลึงกัน Kingdom ยังมาพร้อมกับพล็อตที่แน่นปึ้ก งานด้านภาพที่น่าตื่นตา และแฝงเรื่องราวเกี่ยวกับชนชั้นสูง, เรื่องการเมือง และสังคม
ตอนที่ซีรีส์ฤดูฉายที่สองปิดฉากลงพร้อมกับเสียงวิจารณ์ชื่นชม บรรดาผู้ชมต่างก็ส่งเสียงตอบรับการประกาศสร้างปีที่สามด้วยความยินดี
ท่ามกลางกระแสการระบาดของโคโรนาไวรัสทั่วโลกในปี 2020 เกาหลีใต้ได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากวิธีการที่ใช้ควบคุมและจำกัดวงของไวรัสภายในประเทศ แล้วในตอนนี้ ขณะที่ประชากรในประเทศกำลังเฝ้าดูความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก วงการภาพยนตร์ของเกาหลียังคงถูกจับตามองอย่างต่อเนื่อง ด้วยผลงานที่ปล่อยออกมาเป็นสายในปี 2020 ที่ดูเหมือนเป็นการสะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
ที่อยู่แถวหน้าก็คืองานที่หลายๆ คนเฝ้ารอ Peninsula หนังภาคต่อทุนสูงของ Train to Busan ที่กลายเป็นงานแอ็คชันที่มอบความมันส์ในระดับเดียวกับ Mad Max เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นในโลกอันรกร้างแต่เต็มไปด้วยบรรดาซอมบี และ #ALIVE ที่ได้ยู อาห์-อิน นักแสดงหัวแถวของเกาหลี จากหนังซ่อนเงื่อนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำเมื่อปี 2018 Burning มารับบทนำ เป็นเจ้าหนุ่มจูน-วู ที่รอดตายจากการติดเชื้อที่เกิดการระบาดในกรุงโซล แต่เขาก็ต้องเผชิญกับกลุ่มซากศพกระหายเลือดจำนวนมาก โดยตัวเองอยู่อย่างโดดเดี่ยวในอพาร์ทเมนท์ เหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและสถานการณ์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนของหนัง มีตัวช่วยจากการที่หนังเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีใกล้ตัวมาใช้เอาตัวรอด ขณะที่จูน-วูและบรรดาเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ต้องกักตัวเองอยู่ในอพาร์ทเมนท์พยายามประวิงเวลาเอาไว้ให้วิกฤติการณ์สงบ โดยไม่มีทั้งสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ท
ที่กลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อก็คือ การที่ #ALIVE เริ่มถ่ายทำกันก่อนหน้าที่จะมีรายงานการค้นพบไวรัสโควิด-19 อยู่หลายเดือน ราวกับหยั่งรู้ล่วงหน้า แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ที่เพิ่งเกิดขึ้น และจุดสุดยอดของการสร้างสรรค์ที่ต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ
ระหว่างที่มีสารพัดเหตุการณ์ที่โลกโยนใส่เราในปี 2020 ดูเหมือนอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งหมายความยังมีอะไรมากกว่านี้จะถูกปล่อยออกมาให้เห็น ขณะที่โลกตะวันตกยังถูกล็อคกับชีวิตที่ต้องต่อสู้กับตัวเองต่อไป…
โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง กระแสหนังซอมบีเกาหลี คลื่นลูกใหม่ของภาพยนตร์สยองขวัญ คอลัมน์ Special Scoop นิตยสารเอนเตอร์เทนฉบับที่ 1309 ปักษ์แรกสิงหาคม 2563