
ดนตรีฮิพ-ฮ็อพปรากฏตัวออกมาจากการเมืองอเมริกันและสไตล์ดนตรีต่างๆ ราวๆ 42 ปีก่อน แต่รากจริงๆ แล้ว ก็แตกหน่อต่อก้านจากงานแจ๊ซซ์, ฟังค์ และโซลในยุคเก่า แม้หลายๆ คนอาจจะไม่อิน หรือชอบงานในทางนี้สักเท่าไหร่ แต่นี่คือ 10 อัลบั้มฮิพ-ฮ็อพที่เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบฮิพ-ฮ็อพ ที่แอเดรียน สปิเนลลี แห่งเว็บไซต์ pastemagazine.com เลือกมาให้ฟังกัน จากงานของ Digable Planets, Jurassic 5 และ Deltron 3030 วันนี้จะมาดูกันต่อว่ามีอัลบั้มอะไรอีกบ้าง
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่
RJD2, อัลบั้ม Dead Ringer: หนึ่งในอัลบั้มเพลงบรรเลงฮิพ-ฮ็อพที่เข้าถึงง่ายที่สุด และถือเป็นการสานต่อสิ่งที่ดีเ จ ชาโดว์ (DJ Shadow) ทำไว้อย่างยอดเยี่ยมในอัลบั้ม Endtroducing ด้วยการเป็นงานที่ประกอบด้วยแซมเพิลทั้งหมด ซึ่งโดยปกติ ดนตรีที่มาจากแซมเพิล มักถูกตำหนิว่าแย่ แต่งานชุดนี้ที่แซมพ์ทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่โฆษณาในโทรทัศน์ยันเพลงเปิดของซีรีส์ Mad Men แตกต่าง เพราะพวกเขาทำให้เพลงที่เราไม่เคยรู้ว่าเป็นงานไร้กาลเวลา มาเชื่อมต่อกันในแบบที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ และยังเต็มไปด้วยความพยายาม สำหรับความกล้าหาญในการวางโครงสร้างจังหวะ และการสร้างเพลงบัลลาดจากงานเพลงบรรเลง
Gnarls Barkley, อัลบั้ม St. Elsewhere: เป้าหมายของอัลบั้มชุดนี้คือ เข้าให้ถึงคนฟังเพลงฮิพ-ฮ็อพ, ป็อป และโซลที่มีจำนวนมหาศาล ซึ่งก็ทำให้ได้อัลบั้มที่สมบูรณ์แบบมากๆ สำหรับคนที่ไม่ชอบฮิพ-ฮ็อพ โปรดิวเซอร์-แดงเจอร์ เมาส์ (Danger Mouse) คัดสรรงานดนตรีเจ๋งๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยทำงานร่วมกับกูดี ม็อบ เอ็มซี (Goodie Mob MC), ซีโล-กรีน (Cee-Lo Green) ได้อย่างลื่นไหล ด้วยความแข็งแรงของเพลง “Crazy” ที่เป็นเพลงฮิตทั่วโลก จาก “Gone Daddy Gone” ที่คัฟเวอร์วง Violent Femmes ไปจนถึง “Just A Thought” ที่ใช้แฉ ฉาบ สนุกได้ใจ รวมไปถึงงานสบายๆ “Smiley Faces” ทำให้กนาร์ล บาร์คลีย์ กับซีโล-กรีน กลายเป็นชื่อสามัญประจำบ้าน แถมยังหยิบเอางานเซาเธิร์น โซลในตัวของกูดี ม็อบ มานำเสนอในแบบที่สร้างคนฟังหน้าใหม่ๆ ให้กับหนึ่งในทีมเอ็มซีที่เจ๋งที่สุดในโลกฮิพ-ฮ็อพ และหนึ่งในทีมโปรดิวเซอร์เจ้าของผลงานที่ส่งต่อไปถึงคนรุ่นหลังมากที่สุดได้อีกด้วย
Kid Cudi, อัลบั้ม Man on The Moon: The End of Day: อัลบั้มชุดนี้คือการรวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยของสหัศวรรษมาไว้ด้วยกัน โดยความสวยงามอยู่ที่ความเรียบง่ายของคิด คูดี การร่ายที่เต็มไปด้วยอารมณ์ จังหวะจะโคนที่ล่องลอย ขณะที่ในเพลงอย่าง “Soundtrack 2 My Lyfe” ไม่เคยละเสียงกีตาร์ริฟฟ์ นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ยิน, “Enter Galactic (Love Connection Part 1)” ก็คือฟังค์ ร็อคมันส์ๆ ที่ทำให้คูดีดูน่ารักน่าชังขึ้นเป็นกอง กระทั่งในยามที่เขาครุ่นคิดอยู่กับตัวตนเล็กๆ ของตัวเอง คูดีก็ยังมีเสน่ห์สำหรับกลุ่มคนฟังที่หลากหลาย และยังมีการปรากฏตัวสุดพิเศษของ MGMT และราทาแทท (Ratatat) ในเพลง “Pursuit of Happiness (Nightmare)” ซึ่งทำให้ดนตรีร็อคและฮิพ-ฮ็อพผสมผสานกันได้อย่างน่ามหัศจรรย์
The Roots, อัลบั้ม How I Got Over: จัดว่าเป็นงานที่มีการเบี่ยงเบนแนวทางดนตรีมากที่สุดใน 11 อัลบั้มของเดอะ รูทส์ ตัวอัลบั้มเปิดด้วยเสียงของนักร้องจากวง Dirty Projectors – แอมเบอร์ คอฟฟ์แมน (Amber Coffman) และแองเจล เดราดูเรียน (Angel Deradoorian) ที่ฮัมคลอไปกับเสียงเปียโนฉ่ำๆ ก่อนที่ เควสท์เลิฟ (Questlove) จะลั่นกลองให้กับดนตรีทุกชิ้นบรรเลงกันอย่างเต็มรูปแบบ นี่คือสูตรของเพลงฮิพ-ฮ็อพแบบเล่นสด ที่เดอะ รูทส์ทำได้ดีกว่าใคร นับตั้งแต่ตั้งวงขึ้นมาในช่วงปลายยุค 80 อัลบั้มชุดนี้ยังได้ศิลปินอย่าง Monsters of Folk, โจแอนนา นิวซัม (Joanna Newsom), จอห์น เลเจนด์ (John Legend) และอีกมากมายมาร่วมงาน นี่คือการเขียนความเรียงในที่เป็นศิลปะในแบบดนตรีฮิพ-ฮ็อพ กับความพยายาม, การเรียบเรียงของเควสท์เลิฟและวงที่อยู่เบื้องหลังเขา นำไปวัดกันตัวต่อตัวกับงานที่ดีที่สุดของพวกเขาได้สบายๆ โดยไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นแนวดนตรีไหน เพลง “Radio Daze” น่าจะเข้าถึงได้ง่ายที่สุด กับเสียงนักร้องโซลเป็นแบ็คกราวนด์, ดนตรีว่ากันสดๆ, เปียโนเล่นในทางของแจ๊ซซ์ เสียงร้องท่อนฮุคที่นุ่มนวลของ ไดซ์ รอว์ (Dice Raw) บวกเสียงร้องล่องลอยจากบลู (Blu) และนักร้องนำตัวจริงของวง แบล็ค ธอก์ท (Black Thought) แต่นี่เป็นแค่โชว์ความงดงามของเสียงดนตรีแบบพื้นๆ ของอัลบั้มนี้เท่านั้นเอง
(ยังมีต่อ)
จากเรื่อง 10 อัลบั้มฮิพ-ฮ็อพ สำหรับคนที่ไม่ชอบฮิพ-ฮ็อพ (2) โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 23 ตุลาคม 2558