Movie ReviewREVIEW

ดูมาแล้ว ภวังค์รัก – Concrete Clouds บันทึกความทรงจำถึงชีวิตในวิกฤตต้มยำกุ้ง

Concrete_Clouds-371722627-largeภวังค์รัก – Concrete Clouds: ไล่เรียงรายชื่อหนังไทยที่เข้าฉายนับตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งถึงกลางเดือนกันยายน สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำ Concrete Clouds หรือในชื่อภาษาไทยที่ตั้งได้ชวนให้เคลิบเคลิ้มว่า “ภวังค์รัก” ของ ลี ชาตะเมธีกุล เป็นหนังไทยเรื่องสำคัญของปี มันอาจจะยังไม่เหมาะสำหรับการใช้คำว่า ‘ดีที่สุด’ (ทั้งๆที่ในความคิดเห็นส่วนตัว มันเป็นเช่นนั้น อย่างน้อยก็จนถึงตอนนี้) แต่มันก็จะเป็นหนึ่งในสามหรืออย่างย่ำแย่ที่สุด ก็หนึ่งในห้าอย่างแน่นอน โอเค. นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าเศร้าในเชิงคุณภาพของหนังไทยโดยรวม แต่การมาถึงของหนังเรื่อง Concrete Clouds ก็ช่วยทำให้สถานการณ์โดยรวมดูมีแสงแห่งความหวังเรืองรอง

แต่บางที การจัดอันดับก็เป็นเพียงแค่ภาพลวงตา และไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับความมีเสน่ห์เย้ายวนและดึงดูดของตัวหนังเอง อย่างแรกที่สุดที่ทำให้รู้สึกว่า Concrete Clouds เป็นหนังที่พิเศษมากๆ-ก็ตรงที่มันเป็นหนังไทยหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่นำเอาเหตุการณ์ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปได้ไม่นานจนเกินไปมาถ่ายทอด และเชื่อว่าพวกเราที่อายุซักราวๆสามสิบขึ้น คงยังไม่ลืมว่า หายนะในทางเศรษฐกิจเม่ือปี 2540 มันส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราอย่างไร และพวกเราต่างก็มีประสบการณ์ร่วมในรูปแบบต่างๆกัน (อย่างที่รู้กัน หลายคนโดนเลย์ออฟ, หลายคนถูกลดเงินเดือน นักวิจารณ์หนังบางคนถูกลดค่าเรื่องทั้งๆที่ค่าจ้างด้ังเดิมก็น้อยนิดอยู่แล้ว)

เท่าที่นึกออกเร็วๆ หนังไทยที่แตะต้องประเด็นเดียวกันกับ Concrete Clouds ก็คือ “เรื่องตลก 69” ของเป็นเอก รัตนเรือง แต่หนังเรื่องนั้นซึ่งออกฉายในปี 2542 ก็แทบจะมองวิกฤตเศรษฐกิจในสายตาของคนร่วมสมัย และตอนนั้น ไม่มีใครบอกได้ว่าพวกเราจะพาตัวเองหลุดออกมาจากเรื่องตลกที่หัวเราะไม่ออกนี้ในสภาพเช่นใด หรือจะสามารถหลุดออกมาได้หรือไม่ด้วยซ้ำ ขณะที่หนังเรื่อง Concrete Clouds ซึ่งสร้างหลังจากทุกอย่างผ่านพ้นไปแล้ว 17 ปี (และมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายมหาศาลในระหว่างนี้ ทั้งเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ไปจนถึงความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเรา) มองมหกรรมแห่งความวิบัติฉิบหายครั้งนั้นด้วยสายตาแบบที่เรียกว่า scruntinization หรือการสำรวจตรวจสอบ และหนึ่งในหลายวิธีการที่หนังใช้เพื่อเรียกร้องให้ผู้ชมมองประวัติศาสตร์หน้านี้อย่างพินิจพิเคราะห์ก็ด้วยการนำเอาเรื่องส่วนตัวของตัวละครมาใช้เทียบเคียง หรืออีกนัยหนึ่ง อุปมาอุปไมย

ในแง่ของรูปแบบหรือฟอร์ม ผู้ชมถูกเรียกร้องให้เชื่อมโยงโดยอัตโนมัติอยู่แล้วระหว่างฉากหลังของหนังที่เป็นเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอะไรที่ซีเรียสจริงจัง กระทั่งคอขาดบาดตาย กับเรื่องที่ถูกบอกเล่าคู่ขนานว่าด้วยความรักของชายหนุ่มหญิงสาวที่ผู้ชมอนุมานสันนิษฐานได้ไม่ยากว่า ครั้งหนึ่ง พวกเขาก็คือแจ็คกับโรสนั่นเอง (เพื่อเป็นข้อมูล หนังเรื่อง Titanic ถูกส่งเข้ามาฉายในเมืองไทยในปี 2540 เช่นเดียวกัน) พูดง่ายๆ และไม่ได้เล่นสำบัดสำนวน-ว่า ยิ่งเนื้อหาสองส่วนนี้ (จริงๆแล้ว ต้องรวมอีกเรื่องหนึ่งที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างน้องพระเอกกับสายป่านเข้าไปด้วย) ดูไม่เกี่ยวข้องกันในทางเนื้อหามากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งเกี่ยวข้องกันในทางความหมายมากขึ้นเท่านั้น

และว่าไปแล้ว วิธีการที่คนทำหนังชักชวนให้ผู้ชมย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ครั้งกระนั้น มันน่าจะทำให้เราตระหนักได้ว่า สภาวะทางสังคมโดยเฉพาะในช่วงก่อนที่ฟองสบู่แตกมีสภาพคล้ายคลึงกับชื่อภาษาอังกฤษของหนังเรื่องนี้อย่างไร มันเหมือนกับก้อนเมฆที่ใครมองเห็นได้ด้วยตา แต่ดำรงอยู่จริงๆหรือไม่-เป็นคำถามที่พวกเราซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์ครั้งกระนั้นมาแล้วล้วนแล้วต้องตอบได้

ในส่วนของกลวิธีการนำเสนอ หนังมีจริตแบบหนังนอกกระแส ทั้งการถ่ายแบบลองเทค การลำดับภาพแบบ dynamic และ discontinuity ซึ่งละข้อมูลจำนวนมากให้ผู้ชมต้องไปปะติดปะต่อกันเอาเอง การสอดแทรกเหตุการณ์ที่ผู้ชมอาจจะรู้สึกถึงความไม่เชื่อมโยง ดนตรีที่เหมือนกับต้องการแสดงสภาวะภายในจิตใจของตัวละคร จริงๆแล้ว มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบของคนทำหนัง และไม่รู้ใครจะว่าอย่างไร แต่นี่เป็นแท็คติกที่ช่างสอดประสานกลมกลืนไปกับเนื้อหาและจุดมุ่งหมายที่คนทำหนังต้องการนำเสนอซะเหลือเกิน (และนั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงการใช้ประโยชน์จากมิวสิควิดีโอที่สำหรับผู้คนในช่วงทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา มันเป็นรูปแบบความบันเทิงที่มีความหมายกับชีวิตอันแห้งแล้งของพวกเรา)

หรือพูดให้ชัดๆ นี่ไม่ได้เป็นหนังที่เพียงแค่พูดถึงช่วงเวลาที่ผู้คนตกอยู่ในภาวะเคว้งคว้างและล่องลอย แต่มันทำให้ผู้ชมดื่มด่ำกับสภาวะเช่นนั้นได้ด้วยตัวเอง และก็อีกนั่นแหละ ถ้าหากยังจดจำกันได้ มีใครบ้างตอนนั้นที่ไม่รู้สึก insecure

อย่างที่ใครๆมักจะพูดกันว่า บทบาทหนึ่งของหนังคือบันทึกความทรงจำ ซึ่งหลายครั้งหลายครา มันเป็นสิ่งที่เราหาอ่านไม่ได้จากตำราประวัติศาสตร์ เพราะมันมีเรื่องของมู้ดและโทน อารมณ์และความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง บางทีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้-อาจจะฟังดูเป็นการด่วนสรุปเกินไป แต่ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะได้รับการต้อนรับจากผู้ชมในบ้านเราอย่างไร เชื่อว่าในภาคภายหน้า นี่จะเป็นหนังที่อธิบายให้ลูกหลานของพวกเราได้นึกภาพออกอย่างชัดเจนและแน่นหนาว่า ตอนที่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง พวกเราอยู่ในภาวะห่อเหี่ยว จนตรอก และสิ้นหวังเหมือนกับผู้โดยสารบนเรือไททานิกตอนชนภูเขาน้ำแข็ง-เพียงใด

โดย ประวิทย์ แต่งอักษร

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.