เพลงของข้าว” – THE SONGS OF RICE: นอกเหนือจาก “เพลงของข้าว” หรือ the Songs of Rice ของอุรุพงศ์ รักษาสัตย์ จะเป็นหนังที่ตั้งมาตรฐานในการสร้างหนังไว้สูงลิบลิ่ว (ทั้งในแง่ของไอเดียเริ่มต้น, เนื้อหาและกลวิธีการถ่ายทอด และแน่นอน งานกำกับภาพที่ต้องใช้คำว่า น่าตกตะลึงพรึงเพริด) และมุ่งหน้าไปสู่การเป็น ‘หนึ่งในหนังไทยที่ยอดเยี่ยมที่สุดของปี 2015’ แน่ๆ อีกอย่างที่โดยส่วนตัวแล้ว-เชื่อว่าต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ในภายภาคหน้า (ขึ้นอยู่กับว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น และเงื่อนไขทางสังคมที่ไม่ปิดกั้นหรือคับแคบเกินไป) “เพลงของข้าว” พร้อมกับ “สวรรค์บ้านนา” ผลงานเรื่องก่อนหน้าของอุรุพงศ์-จะเป็นหนังที่ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอย่างไม่มีข้อเคลือบแคลง
เรื่องหนึ่งท่ีต้องรีบบอกกล่าวก็คือ นี่ไม่ใช่หนังจำพวกที่สร้างเพื่อหล่อเลี้ยงภาพลวงตาที่ดูเพ้อฝันของสังคมกสิกรรมในต่างจังหวัดในแบบที่หลายคนอาจจะเคยเห็นในนิตยสาร อสท. หรือไกด์บุ้คของฝรั่งที่ชวนท่องเที่ยวเมืองไทย (วิถีชีวิตสงบเงียบ, เรียบง่าย, สมถะ, พึงพาตัวเองได้, อยู่กับธรรมชาติ) แต่ทั้ง “สวรรค์บ้านนา” และโดยเฉพาะ “เพลงของข้าว” เป็นเสมือนกับการ update สถานการณ์ล่าสุดของสังคมชนบทที่คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับระบบเกษตรกรรม (อันนี้สรุปเอาเอง) และแง่มุมหนึ่งที่หนังนำเสนอให้เห็นได้อย่างน่าสนใจมากๆก็คือ ในขณะที่หลายๆชุมชนยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม แต่พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธการมาถึงรูปแบบชีวิตสมัยใหม่และความเปลี่ยนแปลง
และส่วนที่นับเป็นเรื่องดีงามๆก็คือ คนทำหนังไม่ได้ตัดสินและพิพากษาว่า ‘ความเปลี่ยนแปลงและสิ่งแปลกปลอม’ ทั้งหลาย-เป็นของดีหรือของเลว อาทิ ประเพณีวิ่งควาย-ซึ่งมีระบบจัดการเหมือนการแข่งม้า และเป็นการพนันเห็นๆ-ซึ่งไม่เหมือนกับสมัยก่อนแน่นอน หรือการที่จู่ๆ ผู้ชมก็ได้เห็นเครื่องบินพารามอเตอร์โผล่เข้ามาในระหว่างที่พิธีแห่แหนอะไรซักอย่างกำลังดำเนินอยู่ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้-ก็คือคุณยายที่เซิ้งบั้งไฟไปพร้อมกับโชว์ทักษะในเล่นฮูล่าฮูพที่บางที รายการขายเครื่องออกกำลังกายต้องชวนไปเป็นแขกรับเชิญ แต่อย่างหนึ่งที่แน่ๆ-ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า-คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
หนังเรื่อง The Songs of Rice อาจจะไม่มีเส้นเรื่อง แต่มันก็ไม่ได้ปราศจากประเด็นที่มุ่งถ่ายทอด และแง่มุมหนึ่งที่สรุปได้ก็คือ มันบอกเล่าสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตสิ้นสุด (ประเพณีบุญบั้งไฟ, บายศรีสู่ขวัญ, กวนข้าวทิพย์, การตักบาตรข้าวเหนียว, ฯลฯ) และเนื้อหาที่ได้รับการบอกเล่า-ตอกย้ำว่าวัฒนธรรมและประเพณี ตลอดจนการร้องรำทำเพลงของชุมชนหลายๆแห่งที่เกี่ยวพันอยู่กับวิถีชีวิตในแบบชาวนายังคงแข็งแกร่งอยู่มากๆ และในขณะที่ด้านหนึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี อีกด้านหนึ่งมันก็น่าเศร้า-โดยเฉพาะเมื่อมองจากสายตาของผู้ชมที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในเมืองซึ่งน่าเชื่อว่า เหตุการณ์สารพัดสารพันเบื้องหน้าเป็นอะไรที่ ‘พวกเรา’ แทบไม่รู้จัก, คุ้นเคยหรือมีประสบการณ์ร่วมแต่อย่างใด
โดยอัตโนมัติ มันแปลว่าช่องว่างระหว่างสังคมเมืองกับสังคมต่างจังหวัด-ก็ยังคงมหึมา และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พวกเขา’ กับ ‘พวกเรา’ มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ และไม่ค่อยได้เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง ทั้งๆที่ว่าไปแล้ว หนึ่งในตัวแปรที่สามารถชำระชะล้างความเหลื่อมล้ำและความเป็นคนละพรรคคนละพวก-ให้มลายหายไปในพริบตา อีกทั้งยังทำให้ความเป็นเจ้าหรือเป็นไพร่, เป็นเสื้อเหลืองหรือเป็นเสื้อแดง, คนกรุงเทพหรือคนต่างจังหวัด, ผู้ชาย ผู้หญิงหรือเพศที่สาม, คนนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม (และนิกายความเชื่ออื่นๆ) ตลอดจนความผิดแผกในลักษณะอื่นๆ-ล้วนไม่ได้แตกต่างกันจริงๆ อยู่ตรงที่พวกเราทุกคนเป็นชนชาติที่กินข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนกัน
มองในแง่มุมนี้ นอกจาก “เพลงของข้าว” จะสะท้อนท่วงทำนองและจังหวะจะโคนที่ไพเราะเพราะพริ้งและสนุกสนานรื่นเริง ยังฟังดูเหมือนเป็นเพลงที่่น่าจะช่วยให้ผู้ชมโดยเฉพาะในบ้านเรา-ได้ค้นพบความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
โดย ประวิทย์ แต่งอักษร
ให้กำลังใจด้วยการกด Like เพจสะเด่าส์ได้ ที่นี่