สงสัยอยู่เหมือนกันว่า DNI ที่ต่อท้าย 365 นั้น เป็นตัวย่อหรือหมายถึงอะไร พอมาดูจากข้อมูลถึงได้รู้ว่าชื่อหนังเรื่องนี้นั้นเป็นภาษาโพลิช และDNI ก็คือ Days ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นกำหนดเวลาสำคัญที่ตัวละครเอกฝ่ายชายกำหนดเอาไว้ หลังจากจับฝ่ายหญิงมาขัง ที่หากภายในเวลา 365 วันเขายังทำให้เธอรักไม่ได้ เขาจะปล่อยตัวเธอไป
แม้จะเป็นงานที่สร้างมาจากนิยายเล่มแรกในสามเล่มของบลังกา ลิพินสกา แต่เชื่อเถอะว่า ด้วยพล็อต ไม่ยากเลยที่คอหนังชาวไทยจะนึกถึงงานอย่าง “จำเลยรัก”
หากการเล่าเรื่องก็ไม่ได้ออกมาเป็นงานดรามา-โรแมนซ์ เมื่อ “365 Dni” ถูกนำเสนอไม่ต่างไปจาก “50 Shades of Grey” งานโรแมนซ์-อีโรติค ที่สร้างจากนิยายขายดีของอีแอล เจมส์ แต่ตัวเอกฝ่ายชายอย่าง มาสซิโม (รับบทโดย มิเชล มอร์โรเน) ในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นแค่นักธุรกิจร่ำรวยหน้าตาดีชอบเซ็กส์แบบรุนแรงอย่างคริสเตียน เกรย์ แต่เป็นถึงมาเฟียหนุ่มรูปหล่อแบบอิตาเลียนสไตล์ ที่มีความโหดอยู่ในตัวทั้งเกมรัก เกมชีวิต ซึ่งทำให้หนังมีพล็อตที่แตกหน่อต่อยอดไปเป็นงานแอ็คชันได้ (หากจะทำ)
ขณะที่นางเอกของหนังก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่ถูกจับผิดตัวเพื่อแก้แค้นแบบจำเลยรัก หรือเป็นสาวอ่อนโลกแบบอนาสตาเซีย แต่เป็นเลารา (แอนนา-มาเรีย ซีคลัคกา) ผู้หญิงเก่งที่ชีวิตรักไม่ได้สวยงามอย่างที่หวัง แล้วเพราะเธอเป็นเหมือนภาพในฝันของมาสซิโม ในวันเกิดเหตุลอบสังหารที่คร่าชีวิตพ่อของเขาและตัวเองถูกยิงจนสลบ ทำให้มาสซิโมเฝ้าตามหา และเมื่อเจอตัวก็จับมาขัง และพยายามทำให้เธอรักให้ได้ภายในเวลา 365 วันเช่นที่ชื่อหนังว่าเอาไว้
แล้วก็ไม่ต่างไปจาก “50 Shades of Grey” เมื่อจุดขายของหนังอยู่ที่บรรดาฉากรักเร่าร้อน ที่จะว่าไปแล้วในระดับของความหนักหน่วงนั้น ดูจะถึงพริกถึงขิง หนักหนาสาหัสมากกว่า และไม่ได้มาเป็นฉากรักแบบซาดิสท์หรือมาโซคิสม์ แถมหลายๆ ครั้งยังรู้สึก ‘จริง’ ด้วยซ้ำไป
โดยหนังตั้งหน้าตั้งขายของที่ตั้งใจจะขายอย่างจริงๆ จังๆ หากก็มีข้อบกพร่องมากมายให้รู้สึก โดยเฉพาะการใช้ดนตรีหรือเพลงประกอบกับฉากเหล่านี้ ที่ดูเกินๆ ล้นๆ มากกว่าจะช่วยเสริมอารมณ์ของตัวละคร และสร้างบรรยากาศของเหตุการณ์
ขณะที่เรื่องราวเนื้อหานั้น ดูเหมือนหนังจะไปให้ความสนใจกับจุดขาย จนละเลยงานในส่วนอื่นๆ ไปจนหมด ไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือของเหตุการณ์ ความสมเหตุสมผลของตัวละคร ที่ท้ายที่สุดก็ยากจะเชื่อว่า เลารานั้นรักมาสซิโม แต่ถ้ามองด้วยเหตุผลเรื่องบนเตียงเป็นสำคัญ เอาละ… มันก็อาจจะเป็นไปได้ การลอยชายไปไหนมาไหนของมาสซิโมจนไม่ต่างไปจากปีศาจ ก็นับได้ว่าเป็นความไม่น่าเชื่อถือของหนัง ส่วนรายละเอียดที่อยู่รอบๆ ก็ถูกคลี่คลายแบบง่ายๆ อาทิ ปัญหาในเรื่องธุรกิจของมาสซิโม ที่สรุปจบลงด้วยคำพูดว่า “ผมจัดการปัญหาเรียบร้อยแล้ว”
แม้ในเรื่องของภาพลักษณ์จะสอบผ่าน และการแสดงฉากรัก ทั้งแอนนา-มาเรีย และมอร์โรเน จะทำได้ดีทั้งคู่ แต่ในเรื่องของการแสดง โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่ต้องแสดงอารมณ์หลากหลายกว่า กลับออกมาจืดชืด คำพูดฟังดูแข็งๆ ไร้อารมณ์ ที่น่าสนใจกลับเป็นตัวละครอย่าง มาริโอ มือขวาอาวุโสของมาสซิโม และโดมินิโก ลูกน้องหนุ่มที่มาสซิโมส่งให้มาดูแลเลารา เพราะดูมีสีสัน และแสดงออกได้อย่างเป็นธรรมชาติมากกว่า ส่วนมอร์โรเน ก็ถือว่าไม่น่าเกลียดนัก กับบทที่ต้องเป็นคนแข็งๆ นิ่งๆ อย่างที่เห็น
จุดอ่อนอีกอย่าง (หลังจากที่เห็นเต็มไปหมด) ของ “365 Dni” ก็คือ ความประดักประเดิดในการใช้องค์ประกอบต่าง โดยเฉพาะเพลงประกอบที่มักจะมาผิดที่ผิดทาง หรือให้ความรู้สึกไม่ลงตัว ที่หลายๆ ครั้งยังทำสถานการณ์ในหนังกลายเป็นเรื่องตลกโดยไม่ได้ตั้งใจ
เรื่องราวต่างๆ ก็คาดเดากันได้ไม่ยาก ซึ่งมองในแง่ดีก็ไม่ใช่ข้อที่น่าตำหนิ เพราะหนังไม่ได้ตั้งใจจะขายอะไรตรงนี้ แล้วก็ไม่ขาดตกบกพร่องฉากบังคับที่เห็นเป็นประจำกันในหนังโรแมนซ์ทั้งหลาย หญิงสาวลองเสื้อผ้า ความหรูหราของชีวิต ที่ทำให้หนังมีอารมณ์เพ้อฝันในแบบเดียวกันกับ “50 Shades of Grey” หรือหนังรอม-คอมทั้งหลาย
ที่กับหนังซึ่งเป็นพิมพ์เขียวให้กับหนังเรื่องนี้ ดูไปยังขำไปแล้ว หนังที่มาทีหลังและมีอะไรหลายๆ ที่ทำให้นึกถึงแบบนี้ จะเหลือเหรอ….
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1306 ปักษ์หลัง มิถุนายน 2563