6 UNDERGROUND: งานกำกับของไมเคิล เบย์ ที่ได้สองมือเขียนบทจาก Deadpool ทั้งสองภาค พอล เวอร์นิกกับเร็ทท์ รีสส์มาเขียนบทให้ โดยที่รายหลังยังเป็นเจ้าของเครดิทใน Zombieland ทั้งสองภาคอีกต่างหาก แล้วก็ทำขึ้นฉายให้ชมกันทางเน็ทฟลิกซ์
จากเครดิทการทำงานของทั้งสามคน น่าจะหวังได้ถึงหนังแอ็คชันเอามันส์สักเรื่องหนึ่ง ที่มีความแสบสันต์ ความกวน Teen อยู่ในตัว แล้วที่เพิ่มเติมก็คือพระเอกของเรื่องก็คือ ไรอัน เรย์โนลด์ส จาก Deadpool อีกต่างหาก
หากคิดไว้แบบนั้น บอกเลยว่าคิดไม่ผิด เพราะ 6 Underground คืองานเอามันส์ขนานแท้จริงๆ โดยทันทีเรื่องราวเกริ่นนำว่ากันจบ ก็ตามด้วยความมันส์ในฉากเปิดขับรถไล่ล่าที่ว่ากันยาวๆ แล้วก็เข้าสู่การแนะนำตัวละคร ซึ่งเป็นคนคนกลุ่มหนึ่งที่มารวมตัวกันตามความต้องการของมหาเศรษฐีนักประดิษฐ์ ที่หลอกทุกๆ คนว่าตัวเองตายไปแล้ว เพื่อสร้างทีมพิเศษเพื่อปกป้องโลกด้วยการฆ่าคนเลว ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากศาลเตี้ย แต่แม้จะทำงานกันเป็นทีม แต่ก็มีกฎในเรื่องความสัมพันธ์เอาไว้ ทั้งไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อจริงให้กันและกันรู้ แต่เลือกจะเรียกกันเป็นหมายเลข 1-2-3 แทน เพื่อไม่ให้รู้จักสนิทสนมกันมากนัก แล้วก็ไม่ต้องรับรู้ถึงตัวตนของแต่ละคน รวมไปถึงทุกคนจะต้องหาทางเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันกันเอาเอง หากเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามแผน ก็สามารถถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้
ปฏิบัติการล่าสุดของพวกเขา ก็คือการช่วยน้องชายของประธานาธิบดีเผด็จการแห่งเทอร์กิสถาน ซึ่งถูกพี่ชายตัวเองขังเอาไว้ แล้วส่งให้เป็นผู้นำในการโค่นอำนาจของพี่ชายอีกที ซึ่งในครั้งนี้ทีมได้สมาชิกใหม่เป็นอดีตทหารหน่วยเดลตา ที่กลายมาเป็นหมายเลข 7 ของทีม
และการมาถึงของเจ็ด ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อเขาพกทัศนคติแบบทหาร ที่ไม่ยอมทิ้งใครไว้เบื้องหลังมาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับกฎของทีม ที่ทุกคนต้องดูแลและเอาตัวรอดได้ เมื่อเกิดปัญหาจะไม่มีใครหวนกลับไปช่วย อย่างที่ว่าเอาไว้ แล้วไม่ใช่แค่นำความคิดนี้มาให้กับกลุ่ม เจ็ดยังละเมิดกฎในแบบที่หนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าทีมทำอะไรไม่ได้ เช่นเดียวกับผลลัพธ์ที่ตามมา เมื่อสมาชิกเปิดเผยและมีความผูกพันกันมากขึ้น จนกลายเป็นการเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ของคนในทีม
ท้ายที่สุดความคิดในเรื่องความสัมพันธ์ของหมายเลขหนึ่ง
หากไปอยู่ในมือของผู้กำกับคนอื่น 6 Underground อาจจะกลายเป็นงานแอ็คชัน ที่ให้ความรู้สึกประทับใจกับความสัมพันธ์ของตัวละคร รวมไปถึงได้เห็นพัฒนาการของหนึ่ง หัวหน้าทีมที่ไม่ต่างไปจากคนไร้ใจได้เป็นขั้นเป็นตอนมากกว่านี้ แต่เพราะนี่คือหนังของเบย์ แง่มุมต่างๆ ที่ทำให้หนังหนักแน่น มีเลือด มีเนื้อเหล่านี้เลยไม่ถูกขับเน้นแบบจริงๆ จังๆ นำเสนอเป็นประเด็นหลักก็ใช่ แต่ก็จับมาเล่ากันแบบผิวเผิน ในแบบที่แค่ ‘รับรู้’ แต่ไม่ ‘รู้สึก’
ซึ่งก็รวมไปถึงความสมเหตุสมผลต่างๆ นานา ในการปฏิบัติงานของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นการเล็ดรอดเข้าไปในประเทศต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย หรือการที่ทำตัวเป็นคนตาย แต่ก็ไปโผล่ไหนมาไหนแบบเปิดหน้าเปิดตา
แต่ถ้ามองข้ามความสมจริงสมจังของเรื่องได้ และไม่สนกับอารมณ์ความรู้สึกของหนังหรือว่าตัวละคร 6 Underground ก็คืองานเอามันส์แบบหนังการ์ตูน ดูสนุกและเพลิดเพลินไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบในแบบงานขายสไตล์ แล้วก็ใส่อารมณ์ขันที่หนักไปทางมุขหนัง มุขเพลงเข้ามา ที่หากเป็นคอเพลงคอหนังแล้ว 6 Underground จะทำให้ยิ้มและหัวเราะได้เป็นระยะๆ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าใครที่อยู่เบื้องหลังอารมณ์ขันกับมุขประมาณนี้ หากเคยดู Deadpool
เพราะการที่ขายฉากแอ็คชันเป็นหลัก ตัวหนังทั้งหมดเลยไม่ต่างไปจากการเอาฉากแอ็คชันมาต่อกัน โดยมีพล็อตที่วางไว้กว้างๆ มาเชื่อมฉากเหล่านั้น แม้จะดูตื่นตา หวือหวา เพียงใด แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็เป็นสิ่งที่เบย์ทำมาหมดแล้วก็ว่าได้ในหนังเรื่องก่อนๆ ไม่ได้สดใหม่อะไรนัก แถมกับการเป็นหนังที่ขายฉากแอ็คชันเวอร์ๆ วังๆ ขนาดนี้ การได้ชมผ่านจอโทรทัศน์ทางบริการสตรีมิงเน็ทฟลิกซ์ ก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องเสียของ
เพราะหากได้ชมบนจอใหญ่ๆ ระบบเสียงกระหึ่มๆ อย่างในโรงภาพยนตร์ อะไรๆ มันก็คงตูมๆ ตามๆ กันเต็มที่ ดนตรีและเพลงประกอบก็คงไม่จมอย่างที่เห็น
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1296 ปักษ์หลัง มกราคม 2563
[one_half][/one_half][one_half_last][/one_half_last]