ขณะที่ Gone Girl ฉาบหน้าประเด็นที่ว่าด้วยสัมพันธภาพของชีวิตคู่ที่แตกร้าว จนยากจะสมาน ด้วยเรื่องราวที่เป็นหนังฆาตกรรม ซ่อนเงื่อน ที่ความรุนแรงของการระทำของตัวละคร ยังสะท้อนไปถึงความลึกของรอยแผลแห่งความสัมพันธ์ และชีวิตคู่ของตัวละครอีกด้วย
Interstellar เอง ที่ดูเป็นงานไซ-ไฟ เป็นหนังผจญภัยในอวกาศ เต็มไปด้วยศัพท์ทางวิชาการ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มากมาย เอาเข้าจริงๆ แล้ว เนื้อใน หรือแก่นของหนังเอง ก็ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์เรานี่เอง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก โดยมีการเอาตัวรอดเป็นตัวแปรในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น
เราจึงได้เห็นตัวอย่างความสัมพันธ์ของพ่อและลูกทั้งหมด 3 คู่ ในหนัง ที่เหตุการณ์ในเรื่องเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังอยู่ในจุดวิกฤต ผืนดินไม่สามารถทำการเพราะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ ขณะที่สภาพอากาศก็ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง จึงตัดสินใจส่งนักบินอวกาศ เดินทางผ่านรูหนอนที่มี “บางสิ่ง” ชี้ทางไว้ให้ เพื่อหาที่อยูใหม่ยังดาว 3 ดวงที่เคยมีการส่งนักบินอวกาศไปสำรวจมาแล้วก่อนหน้า
ซึ่งหนังก็ได้แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจของพ่อ-ลูก สองคู่ ที่หาทางรอดให้ลูกๆ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน หนึ่งเลือกที่จะทิ้งลูกไว้ที่โลก เพื่อไปหาดาวดวงใหม่ แล้วกลับมารับพวกเขา หนึ่งเลือกที่อยู่ที่โลกเพื่อเผชิญกับหายนะ และให้ลูกได้เดินทางไปตายเอาดาบหน้าซึ่งดูจะมีโอกาสรอดที่มากกว่า
และเมื่อเวลาผ่านไป หนังก็แสดงให้เห็นความเป็นพ่อในอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่ยอมให้โอกาสรอดกับลูกเพียงเพราะการยึดติดอยู่กับบางสิ่งบางอย่าง รวมไปถึงเป็นการปิดทางออกให้กับตัวเองไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเรื่องการตัดสินใจของใครบางคน ที่ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ไม่มีใครที่ต้องให้ห่วงกัน ที่พร้อมจะเอาตัวรอดไปเพียงลำพังเมื่อถึงสถานการณ์จวนตัว
โนแลนสามารถเล่าเรื่องราวที่เป็นดรามา ว่าด้วยความสัมพันธ์ของผู้คน ที่อยู่ในสภาวะที่ต้องเอาตัวรอด ในแบบที่เอาอยู่ และนวดคนดูในแบบตาย ได้อย่างกลมกลืนไปกับการเดินทางข้ามอวกาศ ที่นำเอาทฤษฎี ตลอดจนสมมติฐานต่างๆ มาสนับสนุนจนดูหนักแน่นจริงจัง และแน่นอนว่า น่าเชื่อถือ ไม่ต่างไปจากหนังอย่าง 2001 ของสแตนลีย์ คูบริค ที่ทุกอย่างดูสมจริงไปหมด ในแบบที่ถ้าไม่เข้าใจ ก็สามารถปล่อยวางได้ เพื่อที่จะไปสนุกกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ถูกโยนเข้ามาใส่ตัวละครได้อย่างเต็มที่
ขณะที่ตัวหนังเอง นอกจากจะเป็นงานที่โนแลนแสดงความทะเยอทะยานของตัวเองออกมามากที่สุดแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยอิทธิพลของหนังไซ-ไฟ คลาสสิคที่มาก่อน หลายต่อหลายเรื่องชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น 2001, Close Encounter of the Third Kind, The Right Stuff หรือว่า Solaris และ Contact (ที่มีคิพ ธอร์น เจ้าของทฤษฎีเกี่ยวกับรูหนอนเป็นที่ปรึกษา) ซึ่งทั้งหมดถูกนำมาขยำผสมผสานเป็นงานในแบบโนแลน ที่โปรดัคชันจัดใหญ่อลัง แบบของจริง ไม่ใช่ซีจี ดนตรีประกอบใหญ่ๆ (ที่ในเรื่องนี้ยังมาในทางเดียวกับการใช้ดนตรีของโยฮานน์ สเตราส์ ของคูบริคใน 2001) ฉากไคลแม็กซ์ที่มาพร้อมกับเหตุการณ์คู่ขนาน ที่ตัดสลับกันไปมาอย่างสนุก
ถึงจะรู้สึกว่า โนแลน “พยายาม” มากเกินไปอยู่บ้างกับหนังเรื่องนี้ แต่ท้ายที่สุดหนังก็จบลงในแบบที่น่าประทับใจ มีความหวัง มีแสงสว่างในชีวิต
ส่วนทางออกสำหรับการอยู่รอดของมนุษยชาติ อย่างที่หนังบอกเอาไว้ก็ไม่ได้อยู่ไกลจนสุดแกแล็กซี หากก็อยู่ที่นี่ ที่บ้านนั่นเอง
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1172 ปักษ์หลัง พฤศจิกายน 2557