LIFE ITSELF: ในวโรกาสที่หนังสารคดีเรื่อง life itself ซึ่งว่าด้วยชีวิตและผลงานของโรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์หนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดของอเมริกา (อันนี้พูดเลย) จะได้มาฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเราในวันอาทิตย์นี้ (25 ม.ค.) และสุดสัปดาห์หน้า (30-31 ม.ค. และ 1 ก.พ.) ขอนำข้อเขียนของตัวเองที่ได้เขียนรำลึกถึงการจากไปของโรเจอร์ อีเบิร์ท ซึ่งตีพิมพ์ไว้ในนิตยสารสตาร์พิคส์ ฉบับพิเศษของเมื่อต้นปีที่แล้ว (2014) มาให้อ่านอีกที-เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการเดินทางมาของหนังเรื่องนี้
“ความตายของนักวิจารณ์”
จำได้ว่าครั้งแรกที่ได้เห็นชื่อของโรเจอร์ อีเบิร์ท มันก็คือตอนที่ชื่อของเขากับนักวิจารณ์คู่หู จีน ซิสเคล ถูกใช้เพื่อการโปรโมทหนังบนหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่ง-ด้วยวิธียกนิ้วโป้งขึ้น ภายใต้วลีอันโด่งดัง ‘Two Thumps Up’
สารภาพตามตรงว่าไม่ชอบวิธีการวิจารณ์หนังแบบนี้เลย เพราะรู้สึกว่านอกจากมันไม่แฟร์กับตัวหนังและมักง่ายเกินไปแล้ว ยังสะท้อนทัศนคติและวิธีคิดในแบบบริโภคนิยม หมายความว่าผมเชื่อว่าบทบาทหน้าที่ของนักวิจารณ์หนังไม่ใช่การทำตัวเองเป็นเหมือนคู่มือผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเสมือนโปรโมทเตอร์ หรือ’ผู้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการ’ ในการช่วยให้ผู้ชมมองเห็นหรือเข้าถึงคุณค่าต่างๆนานาที่ซุกซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนั้นๆ และในทางกลับกัน พิทักษ์สิทธิ์และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ชมในกรณีที่หนังเหล่านั้น-ดูหมิ่นและเหยียบย่ำสติปัญญาและรสนิยม
จนกระทั่งได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนของอีเบิร์ทนั่นแหละ ทัศนคติในเชิงลบต่อนักวิจารณ์รายนี้ก็ค่อยๆมลายหายไปชนิดปลิดทิ้ง และเอาเข้าจริงๆแล้ว อีเบิร์ตเป็น ‘แชมเปี้ยน’ ของการทำหน้าที่นักวิจารณ์หนังอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ หลายครั้งหลายครา ข้อเขียนของเขาช่วยให้เราสนุกกับหนังได้มากกว่าที่โดยลำพังตัวผู้ชมเองจะสามารถสนุกกับมันอย่างจริงจัง และแน่นอน นับครั้งไม่ถ้วนที่บทวิจารณ์ของเขาช่วยให้มองเห็นอะไรๆอย่างทะลุปรุโปร่ง ไขความกระจ่าง หรือแม้กระทั่งเห็นแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์
สำหรับผม อีเบิร์ทเป็นเหมือนอาจารย์โยดาเวอร์ชั่นออนไลน์ และยอมรับว่าทั้งอ่าน ทั้งศึกษาวิธีคิด วิธีเขียน ตลอดจนทัศนคติทั้งหลาย และนำมาปรับใช้ในข้อเขียนของตัวเอง เป็นเรื่องปกติธรรมดาว่าถ้าหากเราจะหยิบยืมหรือแม้แต่ ‘ขโมย’ จากใคร เราก็ต้องเลือกจากคนที่เก่งที่สุด
การจากไปของโรเจอร์ อีเบิร์ทเมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้ว-เป็นเหมือนกับการสูญเสียญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเลยทีเดียว และก็รู้สึกใจหายว่านับจากนี้ไป เราจะไม่ได้อ่านข้อเขียนของเขา ความเห็นของเขาต่อหนังใหม่ๆที่เข้าฉายในแต่ละสัปดาห์ และบางที ก็แอบนึกสงสัยว่า หากเขายังมีชีวิตอยู่่ เขาจะเขียนถึงหนังอย่าง American Hustle หรือ Blue is the Warmest Color ในแง่มุมใด และแสงสว่างแบบไหนที่เขาจะหยิบยื่นให้กับแฟนๆตัวหนังสือของเขา
แต่ถึงแม้ว่าโอกาสเหล่านั้นหลุดลอยไปแล้ว ข้อเท็จจริงที่มองเห็นได้อย่างโทนโท่ก็คือ ตัวหนังสือของเขาทั้งหลายทั้งปวงที่เจ้าตัวเขียนเอาไว้อย่างมากมายก่ายกองก็ยังคงอยู่ให้แฟนๆได้ตามอ่านชนิดไม่หวาดไม่ไหวทีเดียว และไม่ว่าข้อเขียนเหล่านั้นจะพูดถึงหนังที่หลุดพ้นการรับรู้ของคนอ่านไปเนิ่นนานเพียงใด ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มันก็ยังคงทำหน้าที่ขยับขยายมุมมองและโลกทัศน์ กระตุ้นเร้าและสร้างความกระตือรือร้นให้กับคนอ่านอย่างไม่เคยหยุดยั้งหรือเสื่อมคลาย
นึกได้เช่นนี้แล้วก็อุ่นใจขึ้นมาได้ระดับหนึ่งว่า อย่างน้อย อีเบิร์ทก็ยังคงอยู่กับคนอ่านของเขาและไม่ได้จากไปไหน และเหนืออื่นใด ข้อเขียนของเขายังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวา
ไม่มากไม่น้อย มันทำให้อดคิดเลยเถิดต่อเนื่องไม่ได้ว่า บางที ความเป็นความตายของนักวิจารณ์ (หนัง) อาจจะไม่ได้กำหนดด้วยอายุขัยของแต่ละคน และเมื่อใดก็ตามที่ตัวหนังสือของใครคนนั้นหยุดถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ หรือส่งผ่านความกระตือรือร้นไปสู่คนอ่าน เขาหรือเธอก็ ‘ชีวิตหาไม่แล้ว’ โดยปริยาย หรือพูดง่ายๆว่า ตายไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะได้ตายจริงๆ
ครับ ไม่มีอะไร เขียนเพื่อย้ำเตือนตัวเองและเผื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์สำหรับใครก็ตามที่บังเอิญมาอ่านเจอ
โดย ประวิทย์ แต่งอักษร
สามารถกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่