29 - 29Shares
OUTLAW KING: งานกำกับของเดวิด แม็คเคนซี ผู้กำกับ Hell or High Water ที่เปรียบได้กับเป็นงานภาคต่อกลายๆ ของ Braveheart หนังออสการ์ของเมล กิ๊บสัน เมื่อเรื่องราวคาบเกี่ยว สอดรับสานต่อกันก็ว่าได้ โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน ก่อนที่วิลเลียม วอลเลซจะถูกประหารชีวิต บั่นศรีษะ และถูกแยกร่างออกเป็นสี่ส่วนแล้วนำไปประจานตามเมืองต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้นำชาวสก็อตต์คนไหนคิดกระด้างกระเดื่อง แยกแผ่นดินออกไปจากสหราชอาณาจักร ที่มีกษัตริย์ เอ็ดเวิร์ดที่ 1 เป็นผู้ปกครอง
แต่แทนที่จะให้ผลตอบแทนอย่างที่หวัง กลับเป็นการจุดไฟในการต่อสู้ของชาวสก็อตต์ขึ้นมาอีกครั้ง หลังต้องทนกับการปกครองที่เอารัดเอาเปรียบของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษี การเรียกเกณฑ์ทหาร โดยมีโรเบิร์ต เดอะ บรูซ เป็นผู้นำ แต่หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ และรวบรวมไพร่พล กองกำลังของเขาถูกฝ่ายอังกฤษโจมตีจนแตกกระซานซ่านเซ็น โรเบิร์ตกับภรรยาและลูกต้องแยกย้ายกันหลบหนี โดยตัวเขาต้องหาทางรวบรวมกองกำลังขึ้นมาใหม่ ส่วนกษัตริย์เอ็ดเวิร์ด ก็ส่งลูกชาย-เจ้าชายแห่งเวลส์มาจัดการโรเบิร์ตที่ไม่ได้รับการยอมรับในฐานะราชาแห่งสก็อตแลนด์จากทางอังกฤษ
จากเรื่องราวที่มีแง่มุมทางสังคม และเป็นงานแบบหนังตะวันตกยุคใหม่ แม็คเคนซีพามาพบกับเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์บนเกาะอังกฤษ ที่ตัวเรื่องราวไม่ได้มีแง่มุมพิเศษลึกซึ้งมากนัก และดูจะเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เป็นไปตามประวัติศาสตร์มากกว่า โดยแสดงให้เห็นถึงวิบากกรรม ความลำบากลำบนของโรเบิร์ต เดอะ บรูซ ที่พยายามรวบรวมกำลังพลต่อสู้กับฝ่ายอังกฤษ เพื่อปลดแอกสก็อตแลนด์จากการปกครองของฝ่ายแรก ที่ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนสก็อตต์เลยแม้แต่น้อย
หนังเล่าเรื่องไปตามลำดับเหตุการณ์ ไม่มีหักมุมหรือสร้างเซอร์ไพรส์ใดๆ ที่พอจะเรียกได้ว่าประหลาดใจ ก็คงเป็นการได้เห็นหนอน (ไม่) น้อยของคริส ไพน์ ที่รับบทเป็นโรเบิร์ต เดอะ บรูซ ในฉากอาบน้ำท่ามกลางธรรมชาติ 😀
มีเรื่องความพยายามของโรเบิร์ต เดอะ บรูซ ที่การบากหน้าไปขอความร่วมจากบรรดาขุนนางสก็อตในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การเผยธาตุของพวกผู้นำสก็อตต์หลายๆ ราย ที่มีความไม่เชื่อใจในศักยภาพของโรเบิร์ต หรือเอาเรื่องส่วนตัวมานำเรื่องเพื่อชาติบ้านเมือง เป็นความโดดเด่นของเรื่อง
มีฉากต่อสู้ฉากใหญ่ในตอนท้าย เป็นไฮไลท์สำคัญ
มีตัวละครที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน เป็นอีกหนึ่งจุดสนใจ ไม่ว่าจะเป็นโรเบิร์ต เดอะ บรูซ ที่ดูเหมือนก็ไม่ใช่ว่าอยากจะเป็นผู้นำในการต่อสู้ครั้งนี้นัก จนกระทั่งสถานการณ์บีบคั้นอย่างที่สุด, เอลิซาเบ็ธลูกทูนหัวของกษัตริย์อังกฤษที่ถูกส่งมาแต่งงานกับโรเบิร์ต ที่มีความเป็นผู้หญิงยุคใหม่ มีความรู้ และต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของสามี หรือ ลอร์ดดักลาสที่ต้องการแผ่นดินของครอบครัวกลับคืน รวมไปถึงเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งตัวบทดูมีความฉูดฉาดจัดจ้าน และนักแสดงที่มารับบท (แอรอน เทย์เลอร์-จอห์นสัน และบิลลี โฮวล์ ตามลำดับ) ก็เล่นได้อย่างมีสีสัน
หนังยังวาดภาพเจ้าชายแห่งเวลส์ให้เป็นเด็กหนุ่มที่พยายามพิสูจน์ตัวเองให้พ่อ (กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดส์) ได้เห็นถึงความสามารถ จนดูเป็นพวกสุดโต่ง มีความบ้าคลั่งในตัว ซึ่งก็รวมไปถึงบรรดาผู้นำทัพอังกฤษอีกหลายคน ที่ภาพบนจอไม่ต่างไปจากพวกกระหายสงคราม
ฉากต่อสู้ทั้งหลายไม่ได้เน้นไปที่ความยิ่งใหญ่ หากออกมาดิบ โหด น่ากลัว มากกว่า ซึ่งหนังก็ถ่ายทอดออกมาด้วยมุมกล้องในระยะประชิด ที่ย้ำถึงความโกลาหล อลหม่านของการต่อสู้ได้ดี
ถึงจะพยายามเติมสีสันต่างๆ เข้ามา รวมไปถึงมีหลายๆ สถานการณ์ที่สามารถนำใช้สร้างความซาบซึ้ง บีบอารมณ์ให้โศกเศร้าได้ แต่ท้ายที่สุดหนังก็ไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ รวมไปถึงไม่สามารถหยิบใช้สิ่งที่มีให้เป็นประโยชน์ได้
Outlaw King เลยดูจะเป็นเรื่องการบันทึกเหตุการณ์ที่เล่าได้อย่างหวือหวามากกว่า ที่หากศึกษากันต่อ ก็คงรู้ว่า หนังก็ไม่ได้มาเป๊ะ หรือถูกต้องตามประวัติศาสตร์สักเท่าไหร่เลย
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1272 ปักษ์หลัง มกราคม 2562
29 - 29Shares