POLAR: เมื่อถึงวัย 50 ปี บรรดานักฆ่าในองค์กรอาชญากรรมภายใต้การดูแลของมร. บลัท จะถูกปลดระวางพร้อมกับได้รับเงินบำนาญก้อนหนึ่งไว้เก็บกิน แต่ที่ไม่มีใครรู้ก็คือ ภายใต้สัญญาที่เซ็นไว้กับองค์กร ระบุด้วยว่า หากนักฆ่าเกิดเสียชีวิตไปหลังเกษียณ เงินบำนาญที่ได้รับ รวมไปถึงเงินสะสมต่างๆ จะถูกดึงกลับมาเก็บไว้ในองค์กรทันที และด้วยสภาพปัญหาทางการเงินที่องค์กรต้องเผชิญ ไม่น่าแปลกใจที่มร. บลัทจะมีแผนส่งมือสังหารไปเก็บนักฆ่า ที่คิดว่าตัวเองจะได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข เพื่อดึงเงินที่องค์กรจะต้องเสียไปกลับคืนมา
และดันแคน วิซลา นักฆ่าเจ้าของฉายาแบล็ค ไกเซอร์ ก็เป็นนักฆ่ารายล่าสุดที่ชีวิตมาถึงจุดที่ต้องรับเงินทองที่ตัวเองสะสมมาจากการเป็นมือสังหาร แต่แล้วเขากลับถูกขอร้องให้รับงานชิ้นสุดท้าย ที่กลายเป็นการจัดฉากโดยมีเขาเป็นเป้าสังหาร แต่เขาก็พาตัวเองรอดพ้นมาได้ เพื่อไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ ซึ่งมร. บลัท ไม่มีทางยอมแน่ๆ
การตามล่าหาตัววิซลาจึงเกิดขึ้น ขณะที่เจ้าตัวเองก็เกิดไปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านสาว ที่ชีวิตเหมือนจมอยู่กับความทุกข์ ซึ่งปฏิบัติการไล่ล่าของมร. บลัทก็ทำให้เธอตกอยู่ในอันตรายด้วยเช่นกัน
โดยหน้าตา Polar ดูเป็นหนังที่ไม่ได้มีพล็อตที่ซับซ้อนวุ่นวาย และถูกนำเสนอในแบบงานขายความรุนแรง และสไตล์ เป็นหลัก ที่อาจจะทำให้นึกถึงหนังอย่าง John Wick เมื่อตัวละครต่างก็เป็นนักฆ่าที่ถูกตามล่าโดยองค์กรที่ตัวเองเคยสังกัดอยู่ไม่ต่างกัน
หากที่ผิดแผกออกไปก็คือ ขณะที่ John Wick เล่าเรื่องได้สนุก มันส์ สะใจ กับ Polar หนังได้แค่ความหวือหวาของงานด้านภาพ รวมไปถึงความรุนแรงที่ไม่บันยะบันยัง ที่หลายต่อหลายครั้งถูกนำเสนอแบบไร้เหตุผล ที่น่าแปลกก็คือ แม้จะอัดฉากแอ็คชันมาไม่น้อย แล้วก็จัดเต็มทั้งเลือดและความโหดเหี้ยม แต่ก็ไม่สามารถสร้างความตื่นเต้นได้ ยกเว้นแต่ว่าจะทำให้รู้สึกหวาดเสียวเป็นระยะๆ กับการสังหาร ฆ่าฟันเหยื่อ ด้วยความรุนแรงตามแต่จะนำมาเสนอ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่วิซลาถูกมร. บลัททรมาน แต่ละวิธีการนั้น ช่างคิด ช่างสรรหาเหลือเกิน ขณะที่ตัวของนักฆ่าวัยเกษียณก็มีน้ำอดน้ำทนสุดๆ
ส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังไม่สามารถขับเคลื่อนตัวเองไปได้อย่างที่ควรเป็น ก็มีทั้งเรื่องคิวบู๊ที่ดูพื้นๆ และจังหวะในการเล่าเรื่องด้วยภาพ ที่เห็นได้ชัดว่าโยนาส เอเคอร์ลุนด์ ผู้กำกับที่ผันตัวมาจากผู้กำกับมิวสิค วิดีโอ ยังมือไม่ถึงโดยเฉพาะในฉากแอ็คชัน กับช่วงเวลาที่ต้อง ‘รุก’ ผู้ชม เมื่อหนังเดินหน้าด้วยความเนิบช้าเกินไป สำหรับการกระตุ้นต่อมอะดรีนาลีน ตัวดนตรีประกอบที่อุตส่าห์ได้มืออย่างเดดเมาส์มาทำ ก็มีช่วงเวลาที่ไม่เหมาะเจาะพอดีกับภาพให้รู้สึกเป็นพักๆ
ถึงจะมีบาดแผลให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง เหมือนกับตัวละครหลักของหนังที่ชีวิตเต็มไปด้วยบาดแผล แต่หนังก็ยังมีสีสันจากงานด้านภาพ ทั้งการย้อมสี ตัดต่อ มุมกล้อง รวมไปถึงเรื่องราวที่มีปมบางอย่างในชีวิตของวิซลา ซึ่งปรากฏเป็นภาพหลอนในความทรงจำของเขา กลายมาเป็นจุดพลิกผันหักมุมของเรื่องและตัวละครในตอนท้าย ซึ่งช่วยให้พล็อตที่ดูธรรมดา เหมือนว่าไม่มีอะไรซับซ้อน ก็มีบางอย่างที่แอบซุกซ่อนอยู่ข้างใน และเป็นส่วนที่ทำให้หนังมีจิตใจมากขึ้น แม้เอาเข้าจริงๆ แล้วเอเคอร์ลุนด์ก็ยังทำไม่ถึงในระดับที่ทำให้เซอร์ไพรส์ได้แรงๆ สำเร็จก็ตามที
ส่วนเรื่องของนักแสดง ที่ได้ระดับแมดส์ มิคเคลเซน และวาเนสซา ฮัดเจนส์ มาเล่น มีริชาร์ด เดรย์ฟัส กับจอห์นนี น็อกซ์วิลล์ มาเป็นนักแสดงรับเชิญ แม้สองนักแสดงหลักจะพยายามมากมายขนาดไหน แต่เมื่อหนังนำเสนอได้อย่างที่เป็น ก็คงมองเห็นได้แค่ความพยายาม
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1274 ปักษ์หลังกุมภาพันธ์ 2562