
หนังเกาหลีจากปี 2017 ที่ตัวละครในเรื่องมีที่มาจากเว็บตูน ซึ่งไม่รู้ว่าดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนเรื่องจากเดิมไปมากน้อยขนาดไหน ด้วยความที่ไม่เคยอ่าน แต่ตัวพล็อตของหนังก็ถือว่าน่าสนใจ และทำให้ตัวเองเป็นงานนีโอ-นัวร์ ตีแผ่ด้านมืดของตัวละคร ที่มีความเป็นงานในเชิงจิตวิทยาในคราวเดียวกัน
จางแตยอง (คิมซูฮยอน) นอกจากจะเป็นมาเฟียหนุ่มระดับหัวแถว ยังเป็นเจ้าของบ่อนคาสิโนหรู ที่ทำให้เขาเป็นคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จในโลกสีเทาเข้ม ๆ แต่เขาก็มีปัญหาส่วนตัว เป็นคนที่มีสองบุคลิกซึ่งแตกต่างกันสิ้นเชิง ทั้งจิตใจและร่างกาย หนึ่งคือมาเฟียหนุ่มรูปหล่อ กับนักข่าวอิสระนิรนาม ทำให้เขาตัดสินใจเข้ารับการรักษาจากหมอชเวจินกี (อีซุงมิน) เพื่อที่จะกำจัดอีกหนึ่งบุคลิกภาพออกไปได้ถาวร ระหว่างการรักษา แตยองก็ได้พบกับชายหนุ่มที่ประสบอุบัติเหตุจนมีสภาพเป็นผัก หากเมื่อพยายามสังหารเขาก็ฟื้นขึ้นมา ซึ่งหนังบอกในเวลาต่อมาว่าเป็นการกระทำตามคำแนะนำของหมอชเว เพื่อที่เขาจะได้สลัดหลุดจากอีกบุคลิกหนึ่ง
ชายคนที่ว่า เมื่อกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ก็พยายามเลียนแบบแตยอง ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนาม ผ่าตัดใบหน้า รวมถึงโดดเข้ามาสู่โลกอาชญากรรม คบหากับผู้หญิงของแตยอง ยิ่งไปกว่านั้น ยังหาทางฉกชิงตัวตนของอีกฝ่าย จนนำไปสู่การต่อสู้ของทั้งสองคนที่เป็นตัวจริงกับตัวปลอม โดยมีเรื่องการชิงดีชิงเด่นระหว่างแก๊งมาเฟียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
นอกจากจะเรื่องจะล้ำ หนังยังมีปมที่พร้อมหลอกผู้ชม ด้วยการเล่นเรื่องตัวจริงตัวปลอมของตัวละคร ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์ของหนัง แล้วก็เติมความเป็นงานแอ็กชั่นผ่านความขัดแย้งในโลกอาชญากรรม ทำให้ความซับซ้อนของเรื่อง ที่แค่ปมบุคลิกซ้อนทับของตัวละคร และตัวจริงตัวปลอม ก็ถือว่าหนักอยู่แล้ว เพิ่มมากขึ้น
หากคงไม่ได้ย่ำแย่อะไร แถมน่าจะสนุกในแบบที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกหัวหรือก้อย ถ้าหนังตกอยู่ในมือคนที่เล่าเรื่อง ‘เป็น’ มีความชัดเจนในเรื่อง ‘บท’ ว่าจะเล่น หรือเล่าอะไรเป็นหลัก แต่ลีจุงซับ ผู้เขียนบท กับลีซารัง ผู้กำกับให้ในสิ่งที่หนังเรียกร้องไม่ได้
แม้จะรักษาปมของหนัง ประเด็นของเรื่อง ที่ว่าด้วยตัวจริง ตัวปลอม ทั้งจากเรื่องบุคลิกภาพของแตยอง ที่ยากจะตัดสินว่า ที่สุดแล้วบุคลิกที่แท้จริงคือคนไหน ทั้งเรื่องการพยายามเปลี่ยนตัวเองเป็นแตยองของมหาเศรษฐีที่ประสบอุบัติเหตุ เอาไว้ได้ ส่วนบทสรุปตอนท้าย คนที่อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์เหล่านี้ ก็มีความเกี่ยวพันกับคอนเซ็ปต์ตัวจริง ตัวปลอม และยังพัวพันกับเรื่องในโลกอาชญากรรมเช่นเดียวกัน
แต่เพราะการเล่าเรื่องที่เน้นสไตล์ แม้จะหวือหวา ดูล้ำ ให้บรรยากาศแบบที่รู้สึกจากหนังอย่าง ‘The Matrix’ ภาคแรก หรือ ‘Drive’ ราวกับพาผู้ชมไปพบเรื่องราวในอีกโลกหนึ่งซึ่งไม่มีอยู่จริง มีสัมผัสแบบแฟนตาซีกลาย ๆ มีภาพสวย ๆ มุมกล้องงาม ๆ โปรดัคชั่นดีไซน์เริ่ด ๆ ทั้งสถานที่ ตลอดจนเสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร คิวบู๊ที่ท่วงท่าอย่างกับการเต้นรำ
เมื่อละเลยเนื้อหา รวมถึงความสมเหตุสมผลของเรื่อง และตัวละคร เสียเวลากับสิ่งที่ไม่ควรเสีย จนไม่เหลือพื้นที่ให้กับการอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างหนักแน่น ‘Real’ จึงเป็นงานขายสไตล์ที่ดูกลวง ๆ แถมใช่ว่าจะดูรอบเดียว แล้วสามารถทำความเข้าใจได้ ‘กระจ่าง’
กระทั่งการพยายามอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนท้าย ของตัวละครรายหนึ่งก็ใช่ว่าจะ ‘ชัดเจน’ โดยยังไม่รวมความเป็นไปในฉากแอ็กชั่นปิดเรื่อง ที่พาหนัง ‘หลุด’ เป็นงานเหนือจริง
มองแง่ดีก็คือ หนังอาจได้รับการกล่าวขวัญ ตีความ แต่พอไม่ได้อยู่บนพื้นฐานทั้งความสมเหตุสมผล และความเป็นเหตุเป็นผล ไม่แปลกที่หนังจะล้มเหลวทั้งความบันเทิง ทั้งการนำเสนอเรื่องราว
ทำให้นอกจากจะเสียดายสไตล์ที่ปั้นมาอย่างดี การแสดงที่คิมซูฮยอนมอบให้ก็เป็นความสูญเปล่าไปด้วยเช่นกัน
(REAL ทางวิว)
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1338 ปักษ์หลังตุลาคม 2564
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่