Seven Samurai หรือ 7 เซียนซามูไร หนังอมตะสุดคลาสสิกของอากิระ คูโรซาว่าเมื่อปี 1954 เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกนำมาเล่า มาดัดแปลงใหม่อยู่หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหนังตะวันตก The Magnificent Seven โดยผู้กำกับจอห์น สเตอร์เจส ที่ตอนหลังอังตวน ฟูควา ก็นำมาทำใหม่อีกรอบ, The Invincible Six, Battle Beyond the Stars ที่ได้ชื่อว่าเป็น Seven Samurai ในห้วงอวกาศ, หนังอิตาเลียน The Seven Magnificent Gladiators, อะนิเมะซีรีส์ Samurai 7, Seven Swords งานของฉีเคอะ กระทั่งไทยเราก็มี 7 สิงห์ตะวันเพลิง ที่ต้นแบบก็คือ The Magnificent Seven
แล้วก็ยังมีงานในแบบที่เรียกได้ว่าคลับคลาคลับคล้าย เช่น Pixar’s A Bug’s Life หรือถูกหยิบยืมบางส่วน อย่าง Rogue One: A Star Wars Story รวมถึงบางตอนของ Mandalorian และ Clone War ที่เป็นซีรีส์ในจักรวาลของ Star Wars
ล่าสุด แซ็ค สไนเดอร์ ผู้กำกับที่แจ้งเกิดจากหนังเรื่องแรก Dawn of the Dead ซึ่งเอาหนังซอมบีคลาสสิกของ จอร์จ เอ. โรเมโร มาทำใหม่ และได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังที่มีสไตล์ด้านภาพชัดเจน น่าตื่นตา จากงาน อย่าง 300, Watchmen และ Sucker Punch รวมถึงเป็นผู้กำกับที่เริ่มต้นจักรวาลที่แผ่ออกไปของดีซี (DC Extended Universe) ด้วย Man of Steel และภาคต่อ Batman v Superman: Dawn of Justice ตลอดจน Zack Snyder’s Justice League ก็หยิบเอาเรื่องราวของ Seven Samurai มาเล่าใหม่อีกครั้งเป็น Rebel Moon โดยวางเอาไว้เป็นหนังไตรภาค ที่เริ่มด้วย Rebel Moon – Part One: A Child of Fire แล้วก็เป็น Rebel Moon – Part Two: The Scargiver ที่การถ่ายทำเสร็จ วางกำหนดปล่อยให้ดูเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องที่สาม บทอยู่ในระหว่างการทำงาน
ฉากหลังของ Seven Samurai หนนี้เป็นห้วงอวกาศ ยุคที่แกแล็กซี่ถูกปกครองโดยดาวมาเธอร์เวิร์ลด์ ที่หลังพระราชาและราชินีของดาวถูกลอบปลงพระชมน์ ก็ตกอยู่ในการดูแลของบาลิซาเรียสอุปราช และมีการส่งกองทหารภายใต้การนำของ แอตติคัส โนเบิล ออกไปปราบปรามพวกขบถ ตลอดจนคุกคามดวงดาวต่าง ๆ เพื่อฉกฉวยทรัพยากรมาใช้ และดวงจันทร์แห่งเวลดต์ ซึ่งประชากรเป็นชาวไร่ชาวนา มีผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลผลิตหลัก ก็คือดาวดวงล่าสุดที่กองกำลังของมาเธอร์เวิร์ลด์โดยโนเบิลคุกคาม ทำให้คอรา อดีตทหารของมาเธอร์เวิร์ลด์ ที่หันมาใช้ชีวิตอย่างสงบที่นี่ กับกันนาร์ ชาวนาที่เคยติดต่อซื้อขายกับพวกขบถ ต้องออกเดินทางไปหาเหล่านักรบจากดวงดาวต่าง ๆ เพื่อมาช่วยพวกเขารับมือกับความโหดเหี้ยมของมาเธอร์เวิร์ลด์ ที่จะกลับมาอีกครั้งเพื่อยึดเอาพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ
แม้เรื่องราวตั้งต้นแทบจะไม่ผิดเพี้ยนจากงานของคูโรซาวา แต่รายละเอียดของเนื้อหาที่อยู่ภายในของ Rebel Moon – Part One: A Child of Fire ก็มีผิดแผกไปบ้าง ตามสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และเงื่อนไขของเรื่องที่แตกต่างออกไป แล้วไม่ใช่แค่ Seven Samurai เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น แต่ยังมี Star Wars ที่ให้สัมผัสถึง “อิทธิพล” ที่มีต่อหนังเรื่องนี้ อย่างน้อย ๆ ก็ผ่านตัวละคร ไค ของชาร์ลี ฮันแนม ที่แทบจะมาพิมพ์เดียวกับฮัน โซโลจากหนังของจอร์จ ลูคัส ยิ่งไปกว่านั้นการพบกันของเขากับคอราและกันนาร์ ก็มาพิมพ์เดียวกับการพบกันของโอบีวัน, ลุค และโซโล ที่ทาทูอีน
ที่น่าตลกก็คือ ในเวลาเดียวกัน Star Wars เองก็มีสารตั้งต้นเป็น Hidden Fortress งานอีกเรื่องของอากิระ คูโรซาวา
นอกจากเรื่องราวที่ชวนนึกถึงหนัง “คลาสสิก” ที่มาก่อน งานดีไซน์ต่าง ๆ ฉากต่าง ๆ เสื้อผ้าหน้าผม ตัวละครบางรายของ Rebel Moon – Part One: A Child of Fire ก็ยังทำให้นึกถึงสิ่งที่เคยพบในหนังเรื่องอื่น ๆ ก่อนหน้านี้เช่นกัน หุ่นนักรบ จิมมี ที่ให้เสียงโดยแอนโธนี ฮ็อปกินส์ ก็ไม่ต่างจากเจ้าหุ่นใน Chappie หรือล่าสุดอย่าง Creator ตัวร้ายของเอ็ด สไครน์ ก็ทำให้นึกถึงตัวแสบของ The Fifth Element ที่เล่นเอาไว้โดยแกรี โอลด์แมน ทั้งภาพลักษณ์และการพูดการจา ท่าทาง
จากที่เคยสร้างความสดใหม่ให้เกิดขึ้นบนจอภาพยนตร์ ด้วยงานอย่าง 300 หรือ Sucker Punch ทำให้หนังจากนิยายภาพ มีมิติใหม่ ๆ พาเรื่องราวเก่า ๆ ที่น่าจะเอาต์ไปแล้วอย่าง Dawn of the Dead กลับมาขึ้นจอได้อย่างมีชีวิตชีวา สไนเดอร์กลับไม่สามารถทำให้ เรื่องราว ตัวละครที่คุ้นตา ๆ มาพร้อมความเจิดจ้าที่แตกต่างไปจากที่เคยเห็นหรือสัมผัส
ตัวเรื่องก็ไม่ได้มีสถานการณ์พลิกผัน หรือหักมุมในแบบสร้างความประหลาดใจ หรือลุ้นไปกับความเป็นไปของตัวละครได้สำเร็จ
งานด้านภาพที่ดูเท่เมื่อหลายสิบปีก่อน… แต่เมื่อวันนี้… มีผู้ตามมากมาย และถูกใช้ ทำ ดัดแปลงจนเกลื่อนตา ก็ไม่ได้ดูหวือหวา หรือทำให้ตื่นตา ได้เช่นที่เคยเป็น
การใช้งานดนตรีประกอบที่แผดย้ำ ๆ เป็นระยะ ๆ ก็ได้ยินกันจนเฝือ ไม่ว่าจะเป็นในหนังใหญ่, หนังตัวอย่าง หรือกระทั่งหนังโฆษณา
การแสดงก็ดูแห้งแล้ง ขาดอารมณ์ หลาย ๆ ตัวละครดูไม่ต่างไปจากงานละครเวที โดยมีแค่ฮันแนม กับเสียงของฮ็อปกินส์เท่านี้ ที่ดูมีเลือดมีเนื้อ
ปูมหลังของตัวละครก็ดูบางเบา มีแค่การเอ่ยถึงเพียงผิวเผิน ซึ่งไม่ช่วยให้รู้สึกว่า เพราะอะไร? ทำไม? พวกเขา (และเธอ) ถึงต้องมาร่วมทำศึกครั้งนี้ ที่ดูแล้วแทบไม่มีทางชนะเลย รวมถึงไม่ทำให้ผู้ชมผูกพันกับพวกเขามากพอที่จะรู้สึกไปกับชะตากรรมที่แต่ละคนต้องเผชิญ
ช่วงระยะในการเล่าเรื่อง (Pace) ก็ไม่ได้ช่วยหนัง เพราะเดินหน้าไปอย่างอืดเอื่อย เชื่องช้า ราวกับวางตัวเองเป็นงานมหากาพย์ เน้นความละเมียดละเอียด ไม่ใช่งานขายความบันเทิง ความสนุกสนาน พยายามเล่าเรื่องให้ดูลุ่มลึก แต่ทั้งเหตุการณ์และตัวละคร ไม่ได้มีมิติเช่นที่พยายาม แถมเรื่องราวทั้งซ้ำ ทั้งคาดเดาได้สบาย ๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Rebel Moon – Part One: A Child of Fire จะว่าไปแล้ว ไม่ต่างไปจากหนังเรื่องก่อนหน้าของสไนเดอร์ Army of the Dead ที่เจ้าตัวอุตส่าห์กลับไปหาหนังซอมบีที่สร้างชื่อให้ตัวเอง แต่ไม่สามารถสร้างผลกระทบใด ๆ ให้เกิดขึ้นได้ เมื่อทั้งเรื่องราว ทั้งตัวละคร ไม่ใช่แค่ซ้ำ หรือช้ำ หากถูกทำจนทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว ในแง่ของความตื่นตา หรือความบันเทิงก็ไม่ตอบโจทย์ จนงานที่ถูกวางไว้ว่าจะมีภาคต่อ ตอนแยก ตามมาเป็นจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หรือว่าแอนิเมชันซีรีส์ มีแตกหน่อออกมาได้แค่เรื่องเดียวคือ Army of Thieves
และกับ Rebel Moon นอกจากจะมีภาคสอง Rebel Moon – Part Two: The Scargiver ปล่อยให้ชม 19 เมษายน 2567 และกำลังทำบทภาคสาม ก็ถูกวางไว้เป็นจักรวาล (อีกแล้ว) เช่นกัน เมื่อมีแผนทำวิดีโอเกม, แอนิเมชัน, นิยายภาพ, นิยาย รวมถึงซีรีส์โทรทัศน์ ทั้งที่เป็นเรื่องราวตอนก่อน หรือว่าตอนแยกสารพัด ที่ถูกประกาศออกมา ซึ่งน่าจะพอใช้อธิบายได้ว่า ทำไมเรื่องราวของตัวละครหลาย ๆ รายถึงดูบางเบา เมื่อจะถูกเล่า อธิบายด้วยสารพัดสิ่งในจักรวาล
แต่พวกเขาหรือเธอจะมีโอกาสนั้นไหม?
เพราะบางที Rebel Moon ก็อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับความพยายามครั้งก่อนของสไนเดอร์ เมื่อดูจากจุดเริ่มต้นที่ไม่สวยงามนัก ยกเว้นว่า หนังเรื่องที่สองของ Rebel Moon จะกอบกู้สิ่งที่หนังเรื่องแรกทำไม่ได้ โดยเฉพาะ “ความบันเทิง”
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว การเป็นผู้สร้างความตื่นตาให้กับจอภาพยนตร์ของแซ็ค สไนเดอร์ คงเป็นเพียงอดีตที่ไม่หวนกลับมาอีกแล้ว
ผู้กำกับ: แซ็ค สไนเดอร์ ผู้เขียนบท: แซ็ค สไนเดอร์, เคิร์ต จอห์นสแตด, เชย แฮ็ตเทน จากเรื่องของ แซ็ค สไนเดอร์ นักแสดง: โซเฟีย บูเทลลา, ดไจมอน เฮาน์ซู, เอ็ด สไครน์, มีชีล ฮุยสแมน, แบ ดูนา, เรย์ ฟิเชอร์, ชาร์ลี ฮันแนม, แอนโธนี ฮ็อปกินส์
โดย นพปฎล พลศิลป์ จาก คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 34 ฉบับที่ 12 มกราคม 2567
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์หรือกดติดตามเพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่