
การวิ่งเอคิเดน (Ekiden) เป็นการวิ่งผลัดระยะไกลซึ่งมีจุดกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้การส่งต่อสายสะพายแทนการส่งต่อไม้ผลัด ทำให้มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง
การแข่งวิ่งเอคิเดนที่โด่งดังที่สุดก็คือ ฮาโคเน เอคิเดน (Hakone Ekiden) ที่จัดกันมาตั้งแต่ปี 2463 โดยเป็นการแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัย ที่มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 20 ทีม แต่ละทีมมีนักวิ่งทีมละ 10 คน ซึ่ง 10 ทีมแรกจะมาจากทีมอันดับ 1-10 ของการแข่งขันในปีที่ผ่านมา อีกเก้าทีมคือทีมมาจากการคัดเลือกซึ่งจะมีการจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ขณะที่ทีมสุดท้ายจะเป็นการรวบรวมนักวิ่งที่ทำสถิติติดอันดับในการคัดเลือกเมื่อเดือนตุลาคม
ฮาโคเน เอคิเดนจะวิ่งกัน 2 วัน ในวันที่ 2 และ 3 มกราคมของทุกปี โดยวันแรกจะเป็นการวิ่งจากโตเกียวไปจนที่ภูเขาฮาโกเน ส่วนวันที่สองจะเป็นการวิ่งจากภูเขาฮาโกเนกลับไปโตเกียว ด้วยเส้นทางเดิม รวมระยะทางไป-กลับ 217.9 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางการวิ่งก็มีสภาพที่แตกต่างกันไป มีทั้งทางลาดชันขึ้นเนินลงเนิน ทางตรง หรือทางที่ต้องเผชิญกับสายลมแรง ทำให้นักวิ่งต้องศึกษาเส้นทางในช่วงตัวเองวิ่งเป็นอย่างดี ว่าจะต้องวิ่งหรือทำความเร็วอย่างไรถึงจะเหมาะสม
ที่สำคัญนักวิ่งแต่ละคนจะต้องเข้าเส้นชัยในช่วงที่ตัวเองรับผิดชอบให้ได้ เพราะหากมีนักวิ่งคนไหนไม่สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยในช่วงของตัวเองได้สำเร็จ ทีมจะถูกตัดออกจากการแข่งขันทันที ทำให้การวิ่งฮาโคเน เอคิเดนยังสื่อถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่ไม่ได้มีแค่การวิ่งในสนาม แต่เริ่มตั้งแต่การฝึกซ้อม การวางแผน การวางตัวนักวิ่งในแต่ละช่วง
จนไม่น่าแปลกใจที่งานวิ่งฮาโคเน เอคิเดนจะกลายเป็นงานวิ่งครั้งใหญ่ประจำปีของญี่ปุ่นอีกงานหนึ่ง ที่มีผู้ติดตามชมการแข่งขันทั้งในสนามและการถ่ายทอดสดจำนวนมหาศาล
และการแข่งขันรายการนี้ก็คือเป้าหมายของตัวละครในอะนิเมะซีรีส์ความยาว 23 ตอน เรื่อง Run with the Wind ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของชิออน มิอูระอีกที ซึ่งนำเสนอชีวิตของทีมวิ่งเอคิเดนของชมรมวิ่งมหาวิทยาลัยคันไซ ที่มีไฮจิ คิโยเสะ นักวิ่งระยะไกลฝีเท้าดี แต่ได้รับบาดเจ็บจนต้องหยุดวิ่งไปพักใหญ่เป็นหัวหน้าทีม และกำลังรวบรวมนักวิ่งเพื่อสร้างทีมเข้าแข่งฮาโคเน เอคิเดน โดยคิโยเสะเพิ่งได้นักวิ่งน้องใหม่ฝีเท้าดี คาเครุ คุราฮาระ มาเข้าทีม ที่พอรวมกับสมาชิกอีกแปดคน ที่อยู่ในหอพักเดียวกันกับทั้งคู่ ก็สามารถสมัครเข้าแข่งได้พอดี แต่ปัญหาก็คือนอกจากคิโยเสะกับคุราฮาระแล้ว สมาชิกที่เหลือไม่มีใครเป็นนักวิ่งแม้แต่คนเดียว แล้วที่แย่ยิ่งไปกว่าก็คือ บางคนไม่ได้สนใจกับการวิ่งเลยแม้แต่น้อย บางคนก็หมกมุ่นอยู่กับมังงะ บางคนก็วุ่นวายอยู่กับการหางานทำ บางคนก็สาละวนอยู่กับการใช้ชีวิตไปวันๆ
ซึ่งคิโยเสะต้องหาทางให้พวกเขากลายเป็นนักวิ่งให้ได้ และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้กำลังสำคัญอย่างคุราฮาระต้องถอนตัวเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้ โดยมีเวลาไม่มากนักก่อนที่จะถึงรอบคัดเลือก
ตัวละครของ Run with the Wind ก็คือพวกอันเดอร์ด็อก หรือไอ้ขี้แพ้ตามสูตรของหนังกีฬาที่เห็นกันเป็นประจำ แต่ที่แตกต่างออกไปก็คือ พวกเขาหลายๆ คนนั้น ไม่ได้คิดอยากจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันกีฬาสักรายการ หรือถ้าพูดให้ชัดเจนก็คือไม่คิดที่จะเข้าแข่งขันเลยด้วยซ้ำ และทำให้อะนิเมะซีรีส์เรื่องนี้ เป็นมากกว่าการหนังกีฬาที่ว่าด้วยการฝ่าฟันเพื่อทำให้ความฝันกลายเป็นจริง ที่หากจะมีตัวละครที่คิดในแบบนี้ ก็คงเป็นคิโยเสะหัวหน้าทีม กับน้องใหม่อย่างคุราฮาระเท่านั้น
แต่เรื่องราวดูจะให้ความสำคัญกับการหาความหมายของการทำอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้ชีวิตตัวเองมีคุณค่า มากกว่าการไปถึงซึ่งชัยชนะ เช่นที่ตัวละครอย่างเจ้าชาย หรือรุ่นพี่ที่กลายเป็นรุ่นเดียวกันในมหาวิทยาลัยของคิโยเสะแสดงให้เห็น
แม้จะคาดเดากันได้ว่า ท้ายที่สุดทีมชมรมวิ่งมหาวิทยาลัยคันไซของคิโยเสะ ก็จะต้องไปเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันฮาโคเน เอคิเดนได้สำเร็จ แต่อะนิเมะซีรีส์เรื่องนี้ ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องราวการพัฒนาตัวเองของตัวละคร ที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่พวกที่มีความสามารถ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงสภาพจิตใจ มุมมองของแต่ละคนที่ปลี่ยนไป เมื่อได้ลงสนามวิ่งในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือผิดหวัง ที่บางคนก็นำไปใช้กับชีวิต และได้เปิดโลกในอีกด้านหนึ่ง
กระทั่งคุราฮาระ นักวิ่งฝีเท้าดีที่เคยมองแต่เรื่องของชัยชนะ หากในท้ายที่สุด เขาก็ได้ค้นพบความหมาย และคุณค่า ตลอดจนความสวยงามของการวิ่ง ที่แตกต่างไปจากที่เคยมอง
เรื่องราวของ Run with the Wind มีความเพ้อฝันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะหากนำเอาโลกแห่งความเป็นจริงไปจับ คนอย่างเจ้าชายที่กลายเป็นนักวิ่งระดับหัวแถวได้โดยเวลาไม่กี่เดือน แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ถ้ามองไปถึงเรื่องของการเอาชนะอุปสรรค ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘การวิ่ง’ สิ่งที่ตัวละครรายนี้แสดงให้เห็นก็คือ หากเราสามารถปรับตัวเองเข้ากับสิ่งที่ต้องทำ หรือจัดการสิ่งที่ต้องทำให้เข้ากับศักยภาพของตัวเองได้ ความสำเร็จหรือความเป็นไปได้นั้น ก็ไม่ได้อยู่ไกล ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากการแสดงให้เห็นถึงคุณค่า หรือความงามของความพยายาม ที่เมื่อความสำเร็จมาอยู่ในมือ มันก็กลายเป็นความหอมหวาน
แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวของการแข่งขัน ที่พอถึงช่วงของการแข่งฮาโคเน เอคิเดน Run with the Wind ก็นำเสนอได้อย่างสนุก น่าตื่นเต้น ไม่แพ้หนังกีฬาทั่วๆ ไป โดยเฉพาะหากมองว่า นี่คือการวิ่งระยะไกล ที่กินเวลายาวนาน และไม่มีอะไรมากกว่าการวิ่ง ซึ่งโอกาสที่จะสร้างความเร้าใจให้กับผู้ชม ไม่กลายเป็นความน่าเบื่อ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ท้ายที่สุด ซีรีส์อะนิเมะเรื่องนี้ก็ทำได้ โดยสามารถสอดแทรกความประทับใจเข้ามาได้ด้วย
ขณะที่โทนโดยรวมของเรื่องเป็นงานเบาๆ ก็ทำให้เรื่องของการวิ่งหรือทำอะไรสักอย่างที่ไม่เคยทำ กลายเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความพยายาม และเต็มไปด้วยอารมณ์ในแบบงานฟีลกูด ที่ดูแล้วปลุกเร้าความรู้สึกดีๆ ทำให้มีพลัง และแน่นอนซาบซึ้ง หรือประทับใจไปกับความพยายามของตัวละคร ที่ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างมีเสน่ห์ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักหรือรอง ที่สามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกผูกพันกับแต่ละคนได้อย่างรวดเร็ว แล้วตัวละครเหล่านี้ก็มีพัฒนาการทางความคิด เช่นเดียวกับทักษะและความสามารถในการวิ่ง ที่แตกต่างไปจากวันแรกๆ
จากเรื่องวิ่งที่เป็นจุดหมายของตัวละคร และของเรื่อง ท้ายที่สุด สิ่งที่ Run with the Wind มอบให้กับผู้ชมก็คือ ความหมายของการวิ่ง ที่อุปมา-อุปมัยได้ไปถึงการใช้ชีวิต หรือการทำอะไรสักอย่าง ที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย หรือสร้างความภาคภูมิใจ ‘เล็กๆ’ ให้กับตัวเองได้สำเร็จ
[RUN WITH THE WIND ทางเน็ตฟลิกซ์]
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1323 ปักษ์แรก มีนาคม 2564
เป็นกำลังใจให้ www.sadaos.com ด้วยการสนับสนุนทางการเงิน ได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนเงินมาที่ shopsadaos@gmail.com เพื่อดำเนินการมอบรางวัลให้กับผู้สนับสนุนที่โชคดีต่อไปเป็นประจำทุกเดือน
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่