SPIES IN DISGUISE: แอนิเมชันของฟ็อกซ์ที่ตกมาอยู่ในชายคาของดิสนีย์ ที่เห็นได้ชัดว่า โทนเรื่อง, สไตล์ และอะไรหลายๆ อย่างของหนัง แตกต่างไปจากแอนิเมชันดิสนีย์พันธุ์แท้จากพิกซาร์ หรือว่าวอลท์ ดิสนีย์มากมายมหาศาล
ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณภาพแย่กว่า ไม่ได้หมายความว่าทำได้ไม่ดีเท่า
Spies in Disguise เป็นเรื่องของแลนซ์ สเตอร์ลิง – สายลับจอมฉายเดี่ยว ที่จู่ๆ ก็โดนจัดฉากให้กลายเป็นคนทรยศองค์กร ทำให้ต้องจับมือกับวอลเตอร์ เบ็คเก็ทท์ – ไอ้หนูนักประดิษฐ์โลกสวย เพื่อเปิดโปงโฉมหน้าของวายร้ายตัวจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสเตอร์ลิงเป็นคนที่ทำงานร่วมกับใครไม่เป็น แถมยังมองทัศนคติของเบ็คเก็ทท์ว่าเป็นเรื่องแบบเด็กๆ เป็นพวกโลกสวย ไม่สามารถจัดการกับวายร้ายได้ แล้วที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เขาดันไปกินน้ำยาเปลี่ยนร่างของไอ้หนูทำให้ตัวเองกลายเป็นนกพิราบ ทำให้คนที่ไม่ยอมพึ่งใครอย่างสเตอร์ลิง ต้องอาศัยเจ้าหนูเบ็คเก็ทท์ ซึ่งเป็นคนที่เขาไม่เชื่อมือเป็นหลัก
ที่เมื่อเวลาผ่านไป สเตอร์ลิงก็ได้เรียนรู้จากเจ้าหนูรายนี้ว่า โลกและการทำงานมันมีอะไรมากกว่าที่เขาคิด
แม้จะเดากันได้ว่าบทลงเอยในตอนท้ายจะเป็นยังไง ก็แอนิเมชันสำหรับครอบครัวอะนะ แต่ Spies in Disguise ก็มอบให้ความบันเทิงได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะการให้เสียงของสองนักแสดงนำ วิลล์ สมิธ และทอม ฮอลแลนด์ (แน่นอนว่าต้องให้เครดิทกับแอนิเมเตอร์ ที่ออกแบบตัวละครของทั้งสองคนด้วย) ที่รับ-ส่งกันได้อย่างเข้าคู่เข้าขา
วิลล์ สมิธเองเห็นได้ชัดว่า งานในหนังเบาสมอง เน้นอารมณ์ขันแบบนี้แหละ ที่เหมาะกับเขาเป็นที่สุด โดยเฉพาะกับการเป็นคนมาดเยอะแบบสเตอร์ลิง หยิ่ง ดูเหมาะเจาะลงตัวเป็นพิเศษ ไม่ใช่เดินหน้าโซนเย็นอย่างที่เห็นใน Gemini Man
ส่วนฮอลแลนด์ นี่ก็เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า หากต้องการนักแสดงวัยรุ่นที่คล่องๆ และเอาอยู่ในเรื่องของอารมณ์ขัน บทเบาสมอง เขาคือตัวเลือกแรกๆ และในอารมณ์หนึ่งก็อดทำให้นึกถึงทารอน เอเจอร์ตันไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งบางทีเจ้าหนูฮอลแลนด์ก็น่าจะไปถึงจุดนั้นได้ไม่ยาก หากดูจากศักยภาพทางการแสดงในหนังหลายๆ เรื่อง
นอกจากการแสดง (ให้เสียง) จะไปได้ดี การออกแบบ-การวางลักษณะตัวละครที่ไม่ใช่สองตัวหลักก็ทำได้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะบรรดาก๊วนแก๊งนกพิราบ (รวมถึงการออกแบบสเตอร์ลิงเวอร์ชันนกพิราบ) ที่กลายเป็นตัวสร้างสีสันให้กับเรื่อง ทำให้หนังมีลูกเล่นแพรวพราวอยู่ตลอดเวลา จังหวะของหนังก็ลื่นไหล เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วไม่น่าเบื่อ ซึ่งก็รวมไปถึงการใส่มุขตลก อารมณ์ขัน ฉากแอ็คชัน ช่วงเวลาจริงจัง แล้วผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนด้วย
ส่วนบรรยากาศและโทน ก็อย่างที่ชื่อหนังว่าเอาไว้ เป็นหนังสายลับ ที่ย้ำกันชัดๆ อีกครั้งด้วยดนตรีประกอบมาในทางเดียวกับ James Bond 007 หรือ Mission: Impossible (อย่าลืมว่า ที่มาของ Spies in Disguise ก็คือ แอนิเมชันสั้นเรื่อง Pigeon: Impossible) ซึ่งตัวละครอย่างสเตอร์ลิงก็น่าจะได้รับอิทธิพลจากบอนด์ ส่วนเบ็คเก็ทท์คงเดาได้ว่าไม่พ้นคิว
งานนี้บลูสกายแสดงให้เห็นว่า พวกเขาก็ทำอะไรสนุกๆ ได้นอกจากการทำหนังชุด Ice Age ที่พักหลังกลายเป็นงานที่ซ้ำ, ช้ำ และไม่รู้จะไปต่อได้ยังไงแล้ว และหากนำไปเทียบกับแอนิเมชันชายคาเดียวกันจากอีกฝั่ง งานของบลูสกาย หรืออย่างน้อย Spy in Disguise ก็มีอะไรที่แตกต่างไปจากสองค่ายนั้นไม่น้อยเลย และหากดิสนีย์วางตำแหน่งค่ายแอนิเมชันในมือได้ดี เข้าที่เข้าทาง ก็จะทำให้ตัวเองมีความหลากหลายของเนื้องานมากขึ้น มีทั้งที่เป็นงานครอบครัว เน้นเด็กๆ เต็มที่จาก วอลท์ ดิสนีย์ เน้นผู้ใหญ่แบบพิกซาร์ ขณะที่บลูสกายน่าจะมาอยู่ตรงกลางหรือเป็นงานสำหรับเด็กวัยรุ่นหรือก่อนวัยรุ่นได้สบายๆ เมื่อดูจากอารมณ์ขันที่ดูกวนๆ ลูกเล่นที่ดูร่วมสมัย และการเล่าเรื่องที่โฉ่งฉ่าง (หรือตรงไปตรงมา) มากกว่า
ซึ่งนั่นหมายความว่า จะทำให้ดิสนีย์เป็นเบอร์หนึ่งในโลกแอนิเมชันต่อไปอีกตราบนานเท่านาน
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1296 ปักษ์หลัง มกราคม 2563
[one_half][/one_half][one_half_last][/one_half_last]