
จากซอมบี้ฝรั่ง ตั้งแต่งานต้นฉบับของจอร์จ เอ โรเมโร ไล่มาจนถึงงานของ แดนนี บอยล์, หนังอย่าง World War Z หรือทีวี ซีรีส์อย่าง The Walking Dead ก็ถึงคราวที่คนเอเชียจะมีหนังซอมบี้ของตัวเองบ้าง ซึ่งไทยเราก็มีทำกัน จำผีห่าอโยธยา ของไทยเราเมื่อปี – สองปีก่อนได้ไหมละ
ปีนี้ (2559) เราได้ดูหนังซอมบี้แดนอาทิตย์อุทัย I Am a Hero ที่สร้างมาจากมังงะ และหนนี้ก็เป็นซอมบี้จากแดนกิมจิ Train to Busan ซึ่งกลายเป็นงานที่ได้รับกล่าวขวัญถึงอย่างมาก ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และเมื่อเปิดตัวในบ้านเกิด ก็กลายเป็นหนังทำเงินทุบสถิติมากมาย ที่่น่าสังเกตุก็คือ ขณะที่ I Am a Hero มีที่มาจากมังงะ Train to Busan ก็เป็นหนังของผู้กำกับที่เป็นมือทำแอนิเมชันมาก่อน
หากได้ชม ก็คงไม่น่าประหลาดใจ ที่หนังเรื่องนี้จะกลายเป็นงานทำเงิน เพราะหนังทำออกมาเป็นงานขายความบันเทิงที่ดูสนุก ตื่นเต้น มีช่วงผ่อน ช่วงคลายอารมณ์คนดู มีความซาบซึ้ง ความประทับใจ จังหวะในการเล่าเรื่องเหมาะเจาะลงตัว แม้พฤติกรรมของตัวละครบางคน ในบางสถานการณ์จะดูผิดที่ผิดทาง หรือเป็นไปตามสูตรเกินไปบ้าง แต่โดยรวมๆ แล้วทุกอย่างก็ทำให้ถูกมองข้าม หรือละเลยไปอย่างรวดเร็ว จากการเดินหน้าไปอย่างลื่นไหลของหนัง
พล็อตเอง หากจะสรุปเอาง่ายๆ ก็คือ Snowpiercer หนังเกาหลีฝรั่งเล่น ที่ว่าด้วยขบวนรถไฟแห่งอนาคต ที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ ความเป็นอยู่ในแต่ละตู้รถไฟ แต่เติมซอมบี้กระหายเลือดเข้าไป โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่พ่อลูกคู่หนึ่ง ที่ต้องเดินทางไปปูซานกับรถไฟขบวนนี้ เพื่อไปหาอดีตภรรยาและแม่ โดยทั้งคู่ต่างมีมุมมองในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ตัวพ่อที่ทำงานเป็นผู้ดูแลกองทุน ดูจะไม่สนใจชีวิตของใครๆ นอกจากตัวเองและคนใกล้ตัว แต่ลูกสาวกลับมีมิตรจิตมิตรใจมากไปกว่านั้น และการเดินทางบนขบวนรถไฟที่เต็มไปด้วยซอมบี้ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกัน และปรับความเข้าใจกันแล้ว ยังทำให้แต่ละฝ่ายได้เรียนรู้ชีวิตในมุมที่กว้างกว่าที่เคยเป็น
ขณะที่ตัวละครรายรอบของหนัง ก็เป็นไปตามสูตรสำเร็จของหนังซอมบี้ มีคนเห็นแก่ตัว มีคนที่เต็มไปด้วยน้ำใจ มีคนที่เสียสละ และมีคนที่คอยแต่จะเอาตัวรอด ที่หากเป็นคอหนังทางนี้ ก็น่าจะพอมองออกว่า คนแบบไหนที่จะอยู่ คนแบบไหนที่จะไป ใครที่จะเป็นฮีโร หรือใครที่จะเป็นวายร้าย โดยวางประเด็นสำคัญเอาไว้ อยู่ที่การทำเพื่อคนอื่น ให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งรังแต่จะทำให้เกิดสิ่งเลวร้ายตามมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
บรรดานักแสดงทำหน้าที่ได้ดี ไม่ล้น หรือโอเวอร์จนเกินเหตุ แบบที่เคยเห็นในหนังเกาหลีหลายๆ เรื่อง แม้อย่างที่บอกไว้ข้างต้น พฤติกรรมของตัวละครบางคน อาจจะประหลาดๆ ไปบ้าง อย่างความอยากรู้อยากเห็นของเด็กหญิงที่เดินทางไปกับพ่อ หรือตัวละครคนจรจัดที่หลุดขึ้นมาอยู่ยนรถไฟขบวนนี้ด้วย ที่สำคัญชะตากรรมของแต่ละคนล้วนไม่ยากเกินคาดเดา
จริงๆ แล้ว หนังก็ไม่ได้มีอะไรที่สดใหม่แบบที่ต้อง ‘ว้าว!’ เมื่อเทียบกับหนังซอมบี้ที่เคยๆ ชมกันมา กระทั่งมูลเหตุที่มาของการแพร่กระจายของเชื้อซอมบี้ ก็บอกเอาไว้เพียงคร่าวๆ แต่การเล่าเรื่องที่แข็งแรง ไม่ใช่แค่เล่าเป็น แต่ยังเล่าสนุก ไม่ฟูมฟายจนน่ารำคาญ แล้วใช้องค์ประกอบที่มีอย่างคุ้มค่า ทำให้ความคุ้นเคยที่น่าจะเป็นความเคยชิน กลับเป็นความสนุกที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รถไฟออกจากสถานี
และกลายเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ต่อให้ไม่ได้หวือหวา หรือมาล้ำ-สด แต่ถ้าผู้กำกับเล่าเรื่องเป็น บทใช้ได้ หนังเรื่องหนึ่งก็พร้อมที่จะเป็นความบันเทิงที่ทำให้ลืมเวลาไปได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ปักษ์หลังสิงหาคม 2559