ขณะที่ศิลปินที่เซ็นสัญญากับค่ายเพลงบิ๊กๆ แม้จะมีรายได้จากลิขสิทธิ์เพลง จากยอดขายแผ่นและดาวน์โหลด รวมไปถึงสตรีมมิง แต่ที่มาของรายได้หลักนั้นก็มาจากการออกทัวร์ซะเป็นส่วนใหญ่ แล้วกับศิลปินที่ไม่ได้เซ็นสัญญาล่ะ เอากันแค่เฉพาะรายได้ของเพลงจากการบันทึกเสียง มีมากน้อยขนาดไหน และเทียบกับรายได้ส่วนนี้ของศิลปินทั้งหมดแล้วจะเป็นเท่าไหร่กัน?
คำตอบคือเท่ากับ 2.7% ของรายได้จากยอดขายของเพลงที่ถูกบันทึกเสียงทั่วโลก
ดูอาจจะน้อย แต่รายได้ของศิลปินที่ไม่ได้เซ็นสัญญานั้น มีอัตราเติบโตขึ้นในแต่ละปี แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับรายได้ทั่วโลกของเพลงที่ถูกบันทึกเสียง
จากการศึกษาครั้งใหม่ในเรื่องของการพิมพ์เพลงโดยมิเดีย (Midia) รายได้ทั่วโลกของเพลงที่ถูกบันทึกเสียงเพิ่มขึ้นถึง 1.7 พันล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมากกว่าปี 2016 ที่ทำไว้ 16 พันล้านเหรียญอยู่ 8.5% การเติบโตครั้งนี้ส่งผลให้รายได้ทั่วโลกของเพลงที่ถูกบันทึกเสียงต่ำกว่ารายได้ในปี 2008 ซึ่งทำไว้ 17.7 พันล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งนักวิเคราะห์อย่าง มาร์ค มุลลิแกน (Mark Mulligan) ให้ความเห็นว่า การเติบโตของธุรกิจดนตรีเป็นไปอย่างมั่นคง โดยตัวช่วยสำคัญก็คือธุรกิจสตรีมมิง ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 7.4 พันล้านเหรียญ มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 39% โดยยูนิเวอร์แซล มิวสิก กรุป ที่ทำรายได้เกือบๆ 5.2 พันล้านเหรียญในปี 2017 มีรายได้ถึง 29.7% ของรายได้ในธุรกิจนี้ แต่บริษัทที่รายได้เติบโตมากที่สุดก็คือวอร์เนอร์ มิวสิก ที่ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นถึง 18% และทำรายได้ถึง 3.1 พันล้านเหรียญ ส่วนโซนีมีรายได้มากกว่าเล็กน้อย เมื่อทำเงินไป 3.6 พันล้านเหรียญ ครองส่วนแบ่งการตลาด 22.1% และกับศิลปินอินดี ค่ายเพลงอินดีทำรายได้อยู่ที่ราวๆ 4.8 พันล้านเหรียญ คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 27.6%
ตัวเลขสุดเซอร์ไพรส์ก็คือ เมื่อเทียบกับรายได้ของค่ายเพลงใหญ่ๆ แล้ว ศิลปินที่ทำงานเองขายเองหรือศิลปินที่ไม่ได้เซ็นสัญญา ทำเงินไป 472 ล้านเหรียญ โดยรายได้หลักๆ ก็มาจากเว็บไซต์ทูนคอร์, ซีดีเบบี และแบนด์แคมป์ ซึ่งมุลลิแกนบอกว่าหากดูในตอนแรกก็รู้สึกว่าน่าประทับใจ เมื่อตัวเลขนี้ “สะท้อนความจริงที่ว่า มีตลาดระดับอยู่นอกเหนือการควบคุมของค่ายเพลง” การเติบโตของศิลปินที่ทำงานเองขายเองเหล่านี้เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ถึง 27.2% และทำให้รายได้จากศิลปินกลุ่มนี้ มีการเติบโตที่มากที่สุดในปี 2017
หากเอาเข้าจริงๆ ถ้าไปเทียบกับรายได้ของค่ายเพลงยักษ์ๆ เงิน 472 ล้านเหรียญ ก็แค่ 2.7% ของรายได้ทั่วโลกจากเพลงที่ถูกบันทึกเสียง เห็นได้ชัดว่ารายได้ค่ายเพลงใหญ่ทำให้เงินตรงนี้เป็นเรื่องจิ๊บจ้อยไปเลย และกับความจริงที่เกิดขึ้น มุลลิแกนตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า รายได้ของศิลปินที่ไม่ได้เซ็นสัญญา จะอยู่นอกเหนือการตรวจสอบของตลาดเพลงที่ถูกบันทึกเสียงทั่วโลก
ถึงจะมีตัวเลขการเจริญเติบโตที่ดูดี ก็ไม่ใช่เหตุผลสำหรับศิลปินที่ไม่ได้เซ็นสัญญา จะทำงานโดยไม่มีค่ายต่อไป อย่างน้อยในทางเศรษฐกิจศิลปินในกลุ่มนี้ก็ใช่ว่าจะทำได้อย่างที่ แชนซ์ เดอะ แร็ปเปอร์ (Chance the Rapper) ทำได้ แล้วในเวลาเดียวกัน ตัวเลขรายได้ที่ว่าก็ไม่ใช่สัญญาณเตือนภัยที่น่ากลัว เพราะหากรวมรายได้จากค่ายเพลงอินดีและศิลปินที่ไม่มีสัญญาเข้าด้วยกัน จะเท่ากับ 30.3% ของรายได้ทั่วโลกของเพลงที่ถูกบันทึกเสียงเมื่อปีที่แล้ว ที่หากมองถึงอนาคต มุลลิแกนบอกว่า เขามองเห็นตลาดเพลงส่วนนี้กำลัง “มีความหลากหลายมากขึ้น” และ “เสริมด้วยการที่ผู้ให้บริการสตรีมมิงสามารถเซ็นสัญญากับศิลปินหรือต่อรองกับค่ายเพลงอิสระได้โดยตรง ภาพรวมของธุรกิจตรงนี้น่าสนใจมาก”
แต่ถ้าศิลปินที่ไม่ได้เซ็นสัญญาจะเริ่มได้ผลตอบแทนมากขึ้น สำหรับงานที่หาเงินได้ด้วยความเหนื่อยยาก โดยคิดเปอร์เซ็นต์แล้วยังคงน้อยนิดเหมือนๆ กันนี้ ที่สุดแล้ว “ก็ไม่ได้หมายความว่าค่ายเพลงต่างๆ จะถูกช่วงชิงอะไรไป”
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ดูรายได้ของศิลปินที่ไม่ได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลง คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 6 กันยายน 2561
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่