FEATURESMusic Featuresดนตรีมีเหตุ

ทำความเข้าใจกันใหม่ กับหลายๆ เพลงฮิตที่ถูกตีความหมายไปผิดๆ กับอีก 5 เพลงสุดท้าย ที่เอามาตีแผ่ให้รู้กัน

คำพูดบางคำยังถูกตีความหมายผิดๆ เนื้อเพลง ประเด็นหรือเรื่องราวในเพลงก็ไม่ต่างกัน และเอริค ฟาน รีแนน จากเว็บไซต์ mentalfloss.com ก็หยิบเอาคำตอบจากเจ้าของเพลงที่มักถูกตีความผิดๆ มาให้รับรู้กัน ไม่ว่าจะเป็น “Closing Time”, “Imagine”, “Total Eclipse of the Heart”, “Just Like Heaven”, “Like a Virgin”, “Harder to Breathe”, “Summer of ’69”, “The One I Love” และ “Semi-Charmed Life” วันนี้มาดูต่อว่า ยังมีเพลงอะไรอีกที่ถูกเข้าใจไปผิดๆ

“American Girl” ของ Tom Petty and the Heartbreakers ต้องขอโทษแฟนๆ เรื่องเล่าตำนานชาวบ้าน เพราะเพลงฮิตปี 1977ของทอม เพ็ตตี ไม่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสาวมหาวิทยาลัยฟลอริดา ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากระเบียงของตึกบีตี ทาเวอร์ส ถึงแม้เนื้อเพลงท่อนที่ 2 จะพูดถึงหญิงสาวที่ยืน “alone on her balcony” และ “could hear the cars roll by out on 441” ซึ่งเป็นถนนใกล้ๆ กับเกนส์วิลล์ เขตที่ตั้งมหาวิทยาลัย และเพ็ตตีก็จัดการกับความเข้าใจผิดๆ ที่เกิดขึ้นกับเพลงนี้อยู่หลายครั้ง

ในหนังสือ Conversations With Tom Petty เขาบอกว่า เพลงนี้ “กลายเป็นเรื่องตำนานท้องถิ่น ที่เกิดขึ้นในฟลอริดา ซึ่งโคตรไม่จริงเลย มันไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องนั้น แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วๆ ไป” ส่วนไมค์ แคมป์เบลล์ มือกีตาร์ของวง ก็สนับสนุนเพ็ตตีเต็มที่ เขาย้ำว่า การตีความในเพลงนี้ ใช้เนื้อร้องมากำหนด “บางคนใช้คำในเพลงเป็นหลัก แล้วไม่นึกถึงเรื่องราว สำหรับผมมันก็แค่เพลงรักที่สวยงามเพลงหนึ่งนั่นเอง”

“In the Air Tonight” ของฟิล คอลลินส์ อีกเพลงที่ถูกเข้าใจผิดเพราะตำนานท้องถิ่น ซิงเกิลแรกในฐานะศิลปินเดี่ยวของคอลลินส์ ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ชายที่ปฏิเสธจะช่วยคนกำลังจมน้ำ และจากที่คอลลินส์เล่า เขาก็ไม่เคยเชิญผู้ชายคนนี้มายืนแถวหน้าเวทีคอนเสิร์ท เพื่อที่จะถูกตำหนิผ่านเพลง In the Air Tonight แล้วถ้าคิดง่ายๆ เพลงนี้ก็คือการมองอย่างจริงจังและครุ่นคิด ถึงการหย่าร้างกับภรรยาคนแรกของคอลลินส์

เจ้าตัวถึงกับสาบานว่า เรื่องราวที่เขารวบรวมเขียนเป็นเนื้อเพลง แว่บขึ้นมาขณะกำลังทำงานในห้องอัด แถมยังขำกับที่มาของเพลงซึ่งถูกลือๆ กันอีกต่างหาก คอลลินส์ยอมรับกับทาง BBC ว่า ไม่เคยรู้เรื่องที่เล่าๆ กันเกี่ยวกับเพลงนี้มาก่อน “ที่ยิ่งกว่าตลกก็คือ ผมได้ยินเรื่องพวกนี้ซึ่งเล่ากันมานานโขอยู่ โดยเฉพาะในอเมริกา เคยมีคนเข้ามาพูดกับผมว่า ‘คุณเคยเห็นคนกำลังจมน้ำหรือเปล่า?’ ผมตอบ ‘ไม่’ นี่คือเพลงหนึ่งในหลายๆ เพลง ที่ผมเขียน ซึ่งบางทีผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร”

“London Calling” ของ The Clash หนึ่งในเพลงที่เหมือนแถลงการณ์ทางการเมืองอันเจ็บแสบของเดอะแคลช กลับพูดถึงเรื่องการเมืองของอังกฤษน้อยมาก และพูดถึงความกลัวจมน้ำ ที่เป็นเรื่องของโจ สตรัมเมอร์มากกว่า ในการชำแหละเพลงนี้ในเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นอล มิค โจนส์ อ้างว่าทางวงวิตกกับข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ ลอนดอน อีฟนิง สแตนดาร์ด เมื่อปี 1979 ที่พูดถึงความเป็นไปได้ว่า แม่น้ำเธมส์จะล้นขึ้นมาท่วมกรุงลอนดอน แล้วพวกเขาตอบโต้กับข่าวนี้ยังไง? โจนส์ตอบว่า “เราก็พับหนังสือพิมพ์ซิ”

ความกลัวจมน้ำของสตรัมเมอร์มีมานาน และปรากฏขึ้นตั้งแต่ร่างแรกๆ ของเพลงนี้ แล้วโจนส์ก็เข้ามาขยายมุมมองในเพลงให้กว้างขึ้น จน “เพลงนี้กลายเป็นคำเตือนถึงเรื่องร้ายๆ ในชีวิตประจำวัน” ขณะที่โจนส์ก็เอาเรื่อง จะว่ายน้ำหรือว่าจมดีของวงมาเล่นตลก “เราเหมือนจะนำหน้าใครไปนิดหน่อย ในเรื่องสภาวะโลกร้อน จริงไหม?”

“Blackbird” ของ The Beatles พอล แม็คคาร์ทนีย์ เล่าว่า เพลงนี้ “ไม่ได้เกี่ยวกับนกสีดำปีกหัก ใครๆ ก็รู้ว่า มันเป็นสัญลักษณ์บางอย่าง”

ในหนังสือ the McCartney songbook พอลแต่ง Blackbird ให้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในอเมริกา โดยได้แรงบันดาลใจจากการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ เหยียดผิว ในระบบโรงเรียน ที่ลิตเติล ร็อค, อาร์คันซอ ซึ่งหนังสือพิมพ์ ยูเอสเอ ทูเดย์ สรุปเอาไว้ง่ายๆ ว่า “พอล แม็คคาร์ทนีย์ แต่งเพลง Blackbird ซึ่งเป็นเรื่องการต่อสู้ของคนผิวดำ”

ในปี 2008 แม็คคาร์ทนีย์ เล่าถึงการที่ทางวงสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนขนาดไหนเอาไว้ “ผมได้ความคิดที่ว่า จะใช้นกสีดำแทนบรรดาคนผิวดำ มันไม่จำเป็นต้องเป็น ‘นก’ หรอก แต่ในตอนนั้นมันก็ใช้ได้ เหมือนๆ กับที่คุณเรียกเด็กผู้หญิงว่า ‘นกน้อย’ นั่นแหละ เธอไม่ใช่นก มันเป็นการใช้สัญลักษณ์น่ะ”

“Born in the USA” ของบรูซ สปริงสทีน หากจัดอันดับเพลงที่ถูกตีความหมายผิดๆ แล้วไม่มีเพลงนี้ ต้องถือว่าไม่สมบูรณ์ กรีล มาร์คัส นักวิจารณ์เพลงเชื่อว่า เพลงนี้ที่ถูกใช้เหมือนเพลงปลุกใจทางการเมืองสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป เป็นเพลงที่ “เห็นกันชัดเจนว่า กุญแจสำหรับความนิยมของเพลงนี้ ก็คือ การเข้าใจอย่างผิดๆ และสปริงสทีนก็ยกย่องความจริงที่ว่า คนทั่วๆ ไปมักจะได้ยินอะไรที่พวกเขาอยากได้ยิน”

ขณะที่เว็บตีความเรื่องเพลง บอกว่า “คนส่วนใหญ่คิดว่านี่เป็นเพลงที่แสดงความรักชาติ เกี่ยวกับความภูมิใจในความเป็นอเมริกัน แต่จริงๆ แล้ว เป็นการมองด้วยความละอายกับสิ่งที่อเมริกาทำกับทหารผ่านศึกเวียตนาม ด้วยจังหวะสนุกๆ ท่อนคอรัสเร้าใจ และปกอัลบั้มที่แสดงถึงความรักชาติ มันง่ายมากที่จะคิดว่านี่คือเพลงที่แสดงความภาคภูมิใจในความเป็นอเมริกันมากกว่าความน่าละอายที่เวียตนาม”

และที่สุดแล้ว นี่คือเพลงที่มีความขัดแย้งกัน ระหว่างการมองโลกในแง่ดีแบบการไล่ตามความฝันแบบอเมริกัน ซึ่งคนฟังคิดว่าเพลงนี้เป็น กับความจริงที่ว่า นี่เป็นเพลงที่จับเอาอารมณ์ความรู้สึกสิ้นหวังของชนชั้นแรงงานในอเมริกายุคหลังสงครามเวียตนาม โดยสปริงสทีนอธิบายถึงตัวละครในเพลงนี้ว่า “แยกตัวจาก รัฐบาล, จากครอบครัว เพื่อไปถึงจุดที่ว่า ไม่มีอะไรที่สมเหตุสมผลเลยในชีวิต”

จากเรื่อง 15 เพลงฮิตที่ถูกตีความหมายไปผิดๆ (3) โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 28 สิงหาคม 2558

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.