
เข้าชิงออสการ์ถึง 10 รางวัลใน 9 สาขา รวมถึงรางวัลใหญ่ หนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทดัดแปลงยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายที่ได้เข้าชิงถึงสองคนจากโจ เปสซีและอัล ปาชิโน แต่หนังเน็ทฟลิกซ์สร้าง มาร์ติน สกอร์เซซีกำกับ และสตีเวน ไซลเลียนเขียนบท ต้องกลับบ้านมือเปล่า เมื่อไม่ได้รางวัลใดๆ เลยในค่ำคืนออสการ์ และดานา แฮร์ริส-บริดสันจาก indiewire.com ก็วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์นี้ได้อย่างน่าสนใจ จนยากจะไม่หยิบมานำเสนอ แม้ฤดูประกาศรางวัลภาพยนตร์จากปี 2019 จะจบลงอย่างเป็นทางการไปแล้วก็ตาม
กับการก้าวขึ้นมาทั้งเป็นผู้สร้าง และจัดจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่ (ผ่านช่องทางสตรีมิงของตัวเอง) เน็ทฟลิกซ์ทำให้ความยากลำบากสำหรับประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ลดลง ด้วยการทำให้เข้าถึงได้ง่าย แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้องค์ประกอบสำคัญๆ ของหนังชั้นเยี่ยมหดหายไปด้วย
และเน็ทฟลิกซ์ก็รู้ดี ขณะที่บรรดาผู้บริหารพากันยิ้มแย้ม ยามเดินร่วมกับฝูงชนคนดังเข้าสู่ล็อบบีของดอลบี เธียเตอร์ในคืนประกาศรางวัลออสการ์ หากสายตาของพวกเขากลับแสดงถึงการยอมจำนน อย่างที่รู้กัน The Irishman หนังของมาร์ติน สกอร์เซซีได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 10 รางวัล แต่กลับบ้านมือเปล่า
กูรูออสการ์และช่วงเวลาล่ารางวัลต่างก็เขียน-พูด และแสดงความเห็นเอาไว้ก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์ว่า หนังมันยาวไป, มันน่าเบื่อ, มันเหมือนงานรวมฮิตของสกอร์เซซี, มันไม่ได้มีความหมายอะไร และเมื่อการประกาศผลค่อยๆ ผ่านไป เสียงพูดคุยในล็อบบีก็กลายเป็น มีอะไรผิดพลาดเหรอ? แคมเปญจน์ล่าออสการ์ใหญ่ไปใช่ไหม?, ใครลงเงินมากสุดชนะหรือเปล่า? และเน็ทฟลิกซ์ก็ยังคว้ารางวัลไม่สำเร็จ… จริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น?
ซึ่งดานาก็มีเหตุผลสำคัญ ที่ว่าทำไม The Irishman ถึงคว้าน้ำเหลวในงานออสการ์
แต่ไม่ใช่ว่าเน็ทฟลิกซ์ทำอะไรพลาด แคมเปญจน์ล่ารางวัลไม่ใช่ปัญหา หนังของสกอร์เซซีก็ไม่ใช่ กระทั่งเรื่องที่ว่าอะคาเดมีมีอคติกับเน็ทฟลิกซ์ จนเกิดการต่อต้านผู้ให้บริการสตรีมิงรายนี้ก็ไม่ใช่
หากเป็นเรื่องของความยากลำบากต่างหาก
รูปแบบการดำเนินธุรกิจของเน็ทฟลิกซ์ ขึ้นอยู่กับการควบคุมกฎของการเคลื่อนไหวข้อที่สอง เน็ทฟลิกซ์สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมบันเทิง ด้วยความสามารถในการลดความลำบากระหว่างผู้ชมกับคอนเทนท์ เมื่อทำให้มีตัวเลือกเป็นพันๆ และอะไรที่มาใหม่ล่าสุดก็จะกลายเป็นของเก่าในเวลาไม่ช้าไม่นาน
การลดความลำบาก คือสิ่งที่อยู่ในหัวใจของหลายๆ ธุรกิจ ตั้งแต่แอร์บีเอ็นบีไปจนถึงอูเบอร์ ไปจนถึงเฟซบุค ด้วยการทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกสบายอกสบายใจ โดยเอาความพยายามทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะให้ได้รับความรื่นรมย์จากการสัมผัสผลิตภัณฑ์ออกไป การกำจัดความลำบากคือสิ่งที่สตรีมิงเป็น
อย่างไรก็ตาม มันกลายเป็นเรื่องดรามาก็เพราะว่า ความลำบากคือกุญแจสำคัญของภาพยนตร์ และเมื่อว่ากันที่หนังเยี่ยมๆ บางเรื่อง อย่างหนังประเภทที่มักจะเข้าชิงออสการ์บ่อยๆ ระดับของความลำบากมันก็จะสูงขึ้น จนกลายเป็นการชมที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกสบายใจ มันอาจจะเล่นงานผู้ชมด้วยความยาว อย่าง The Irishman หรือว่ากันที่ความตึงเครียดทางอารมณ์จากการชมเรื่องของการหย่าร้างใน Marriage Story หรือดูไปอ่านคำบรรยายไปแบบ Parasite ที่สำหรับหลายๆ คนมันคือความพยายามมหาศาล
แล้วยังมีเรื่องของโรงภาพยนตร์ ซึ่งไม่ต่างจากโรงงานที่เต็มไปด้วยความยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็น หนังต้องฉายตามเวลา, ในสถานที่เฉพาะ คนดูต้องฟันฝ่าการจราจรเพื่อไปให้ถึงโรง, จ่ายค่าบัตรผ่านประตู, ควักเงินซื้อขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม, หาที่นั่งที่จะชมได้อย่างชัดๆ แล้วก็ต้องทนดูโฆษณากับหนังตัวอย่างอีกราวๆ ครึ่งชั่วโมง อากาศในโรงก็อาจจะหนาวไป หรือร้อนไป แถมกลิ่นเครื่องปรุงข้าวโพดคั่วก็อาจตลบอบอวล ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น คุณอาจจะไม่ชอบอะไรที่อุตส่าห์ถ่อมาชม แต่ก็ต้องมาติดแหง็กอยู่กับมัน ไม่มีปุ่มเร่งไปชมเรื่องราวต่อไป หรือสามารถเลิกดูแล้วพยายามหาเรื่องอื่นดูแทน สิ่งเดียวที่คุณทำได้ก็คือ เดินออกจากโรงไป ซึ่งจะกลายเป็นการสร้างความรำคาญให้บรรดาคนแปลกหน้าที่นั่งถัดๆ ไป ขณะที่คุณรู้สึกเสียเวลาและหงุดหงิดไปตลอดเวลาที่เหลือในวันนั้น
โรงภาพยนตร์พยายามทำอย่างดีที่สุดเพื่อลดความยุ่งยากสำหรับผู้ชมภาพยนตร์ แต่มันเป็นเพราะรูปแบบการทำธุรกิจของพวกเขาต่างหากที่สร้างปัญหา และนั่นคือจุดอ่อนที่เปิดช่องให้สตรีมิงโจมตี และประสบความสำเร็จมโหฬารอย่างที่เห็น อย่างไรก็ตามเมื่อว่ากันหนังซึ่งรู้สึกกันลึกๆ ว่ามักจะคว้าออสการ์ สารพัดความยุ่งยากคือสิ่งที่ต้องมี ไม่ใช่ปัญหา
แน่นอนว่า The Irishman มีแฟนของตัวเอง และใครก็ตามที่รักหนังเรื่องนี้ ต่างก็รู้สึกแบบเดียวกัน มันคือการชมชีวิตการทำงานช่วงสุดท้ายของแฟรงค์ ชีแรน ในฐานะของแกงสเตอร์ตัวเล็กๆ และอะไรที่ต้องสูญเสียไปบ้าง การได้เห็นเขาอยู่อย่างแปลกแยกในสถานดูแลคนชราที่ไหนสักแห่ง ย่อมทำให้รู้สึกถึงความหนักหนาสาหัสอย่างเต็มที่ในชีวิต รวมไปถึงการตัดสินใจแย่ๆ ของเขา มันเป็นการชมนักแสดงที่คุ้นเคยกันดีในหนังของสกอร์เซซีที่แตกต่างไปจากที่เคยเห็นเพียงเล็กน้อย และอาจทำให้คุณต้องพิจารณาผลงานชิ้นเอกของสกอร์เซซีใหม่อีกครั้ง มันเป็นงานที่น่าพึงพอใจอย่างมาก และเป็นผลงานของคนทำหนังระดับปรมาจารย์
มาตรฐานของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน แต่ถึงกระนั้นกว่าเราจะได้เห็นวันสุดท้ายของชีแรนก็ต้องตอนจบเรื่องของหนังความยาว 3 ชั่วโมงครึ่งเรื่องนี้ คุณสามารถกดปุ่มไปดูเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ แต่นั่นจะเป็นการทำลายเวทมนต์ของหนังโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ต่างไปจากการชม 35 นาทีตรงนี้ แล้วไปชมอีก 1 ชั่วโมงตรงนั้น จนความรู้สึกติดๆ ขัดๆ สะสมเพิ่มพูนมากขึ้น ทางเดียวที่จะสัมผัสการเดินทางของชีแรนในแบบที่เต็มตื้นจริงๆ ก็คือต้องอยู่กับเขา และมันก็อาจจะต้องการแลกด้วยความไม่สะดวกสบายของคุณ
นั่นคือการไปชมที่โรงภาพยนตร์ กับการดูตามระบบแบบแผนเดิมๆ ที่กลายเป็นผู้ชนะในครั้งนี้ ถ้าคุณจ่ายตังค์ซื้อตั๋วดู The Irishman ในโรงภาพยนตร์ คุณก็เลือกที่จะเกาะติดอยู่กับมันไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบนจอภาพยนตร์ คุณก็พร้อมจะชมมัน มันแทบจะได้ความสนใจของคุณไปอย่างเต็มที่ แถมหัวจิตหัวใจของคุณก็ไม่มีอะไรให้ทำที่ดีไปกว่า การซึมซับกับสิ่งที่คนทำหนังเอามาวางไว้ตรงหน้าคุณ แล้วพอคุณยอมสยบให้มัน ก็ไม่มีความลำบากลำบนในการชมอีกต่อไป
ที่น่าตลกก็คือ ขณะที่รูปแบบการทำงานที่ปราศจากความยุ่งยากของเน็ทฟลิกซ์ ทำงานได้ดีมากๆ สำหรับภาพยนตร์จำนวนมากมายมหาศาลของตัวเอง มันก็ทำให้หนังอย่าง The Irishman เจอกับผลเสียแบบเต็มๆ ต่อให้เน็ทฟลิกซ์จะเอา The Irishman เข้าฉายในโรงภาพยนตร์จำนวนหยิบมือสักราวๆ 1 เดือนหรือมากกว่านั้น แต่มันก็เป็นเพียงชิ้นเนื้อที่เสิร์ฟผู้ชม ในแบบที่เหมือนกับเตือนให้พวกเขารู้ว่า มันง่ายกว่าถ้าพวกเขาจะรอ
เราจะยอมแพ้เมื่อไม่มีตัวเลือกให้เลือก และสตรีมิงก็ตั้งใจที่จะให้คุณมีตัวเลือกอยู่เสมอ และตลอดเวลา คุณสามารถเมินตัวเลือกมากมายที่อยู่รายรอบได้ แต่นั่นเป็นงานที่ยาก การชม The Irishman ทางเน็ทฟลิกซ์ คือการต่อสู้กับความลำบาก ตลอดระยะเวลาในการชม 210 นาที
ด้วยความเป็นไปที่คล้ายๆ กัน Parasite อาจจะไม่คว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมก็เป็นได้ หากให้เน็ทฟลิกซ์นำออกฉาย งานมาสเตอร์พีซของบอง จุน-โฮเรื่องนี้ สั้นกว่า The Irishman มากกว่าหนึ่งชั่วโมง แล้วก็มีองค์ประกอบของหนังเบาสมองและหนังสยองขวัญ ที่อยู่ในเรื่องราวหลอนๆ ที่ว่าด้วยการต่อสู้ทางชนชั้น แถมยังต้องใช้ความสนใจอย่างยิ่งยวดให้กับคำบรรยาย ซึ่งเป็นสิ่งที่นีออน (ผู้จัดจำหน่ายหนังในอเมริกาเหนือ) และโรงภาพยนตร์สามารถให้การสนับสนุนการชมได้ในแบบที่สตรีมิงไม่มีทางทำได้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่หมัดน็อคเน็ทฟลิกซ์ เช่นเดียวกับที่ไม่ใช่การชื่นชมยกย่องโรงภาพยนตร์ และการจัดจำหน่ายหนังในแบบเดิมๆ ซึ่งก็เป็นอย่างที่ทอม ควินน์ผู้ก่อตั้งนีออนให้สัมภาษณ์เอาไว้ “ทุกๆ คน ต้องนั่งลงและคิดให้ออกว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับหนังแต่ละเรื่อง”
ผู้ชมและอุตสาหกรรมบันเทิงต่างก็เรียนรู้ว่ามีหนังมากมายมหาศาลแค่ไหน ที่ความยุ่งยากในการชมบนจอใหญ่ๆ ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีกลับคืน และมันก็เป็นไปได้ว่า The Irishman อาจจะสร้างผลกระทบได้มากกว่านี้หากเวลาฉายมันสั้นลง แต่การนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์เช่นที่เคยทำกัน บางทีอาจจะไม่สร้างประโยชน์ทางการเงินให้กับเน็ทฟลิกซ์ และการให้ผู้ชมได้มีโอกาสดูหนังบนจอใหญ่ๆ ก็อาจจะไม่ทำให้หนังได้ออสการ์มาสักตัวก็เป็นได้ อย่าลืมว่าพาราเมาท์ก็นำ Wolf of Wall Street หนังความยาวสามชั่วโมงของสกอร์เซซีออกฉายในวงกว้างมาแล้วในปี 2014 และถึงจะได้เข้าชิงออสการ์ถึงห้ารางวัล แต่หนังก็กลับบ้านมือเปล่าไม่ต่างไปจาก The Irishman
ด้วยความภาคภูมิใจกับชัยชนะที่ได้รับจาก American Factory และรางวัลนักแสดงสมทบหญิงของลอรา เดิร์นจาก Marriage Story ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเน็ทฟลิกซ์มีความสุขกับการได้รับรางวัลออสการ์ปี 2020 และท้ายที่สุดการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล มันก็อาจจะทำให้พวกเขาได้ในสิ่งที่ต้องการมากที่สุดไปแล้วเรียบร้อย นั่นก็คือยอดสมาชิก
แต่ขณะที่กำลังมองไปข้างหน้าด้วยความหวังบนเวทีออสการ์ กลยุทธของเน็ทฟลิกซ์ก็อาจจะต้องมาพร้อมกับการประมวลผลใหม่ ผู้ชมสามารถสัมผัสกับความบันเทิงอย่างเต็มที่จากผลงานอันเยี่ยมยอดของคนทำหนัง โดยไม่ต้องมานั่งจดจ่อและสัมผัสกับมันตามลำพัง ผ่านจอแก้วได้ไหม? ตอนนี้เน็ทฟลิกซ์น่าจะรับรู้เรียบร้อยแล้วว่า การลดความยุ่งยากของพวกเขามันมีขีดจำกัด และพวกเขาก็เริ่มทำอะไรบางอย่างไปแล้ว อย่าง มีวิธีเดียวที่จะปิดการเล่นตัวอย่างโดยอัตโนมัติ
หากแค่นั้นมันน่าจะพอแล้วจริงหรือ?
โดย ฉัตรเกล้า จากเรื่อง ทำไม The Irishman จึงตกม้าตายบนเวทีออสการ์ คอลัมน์ Special Scoop นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1299 ปักษ์แรก มีนาคม 2563