ตอนแรก อ่านที่ http://bit.ly/1gD07M8
ตอนที่สอง อ่านที่ http://bit.ly/18Z03nh
กับการเปลี่ยนแปลงผู้ที่เข้ามาบริหารจัดการวงดนตรีระดับบิ๊กอย่างยูทูว์ ที่พอล แมคกินเนสส์ซึ่งดูแลวงมาตั้งแต่ยังเป็นวุ้น ผ่องถ่ายการดูแลวงไปให้กับไลฟ์ เนชัน ที่ซื้อบริษัทของแมคกินเนสส์ด้วยเงินถึง 30 ล้านเหรียญ ในมุมมองของนีล แมคคอร์มิค ที่รู้จักกับวงมานานตั้งแต่ยังเรียนไฮสคูล ขณะที่ด้านหนึ่งมองว่าไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในอีกมุมหนึ่ง ทางวงก็อาจจะกำลังเจอกับวิกฤตได้เหมือนกัน
เพราะการจัดการกับวง อาจเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่วงยากจะรับมือ เช่น หลังไบรอัน เอพสไตน์เสียชีวิต เดอะ บีเทิลส์ก็เหมือนถูกทิ้งจนไม่มีทิศทาง โดยมีพอล แม็คคาร์ทนีย์ เป็นคนกุมหางเสือหลัก และท้ายที่สุดวงก็แยกทางกัน เมื่ออัลเลน ไคลน์ เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าด้านดนตรีที่ดูมีอนาคตพยายามเข้ามาดูแล
วง เดอะ โรลลิง สโตนส์ ก็ถูกบริหารจัดการอย่างเข้มข่้นในช่วงเริ่มต้นอาชีพ โดยแอนดรูว์ ลูก โอลด์แฮม ผู้ชาญฉลาดโดย แต่ในช่วงสิ้นยุค 60 ทางวงถังแตก แล้วใครละที่ทำหน้าที่จัดการวงอยู่ในตอนนี้? คำตอบก็คือ มิค แจกเกอร์ กับการสนับสนุนของคีธ ริชาร์ดส์ (แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้ง) รวมไปถึงคำแนะนำที่เชื่อถือได้ของคนในของวงการธุรกิจเพลง, โปรโมเตอร์ และผู้บริหารของสังกัดแผ่นเสียง
การจัดการสิ่งต่างๆ ให้กับศิลปินรุ่นๆ ผู้ใสซื่ิอ และมากความสามารถ เป็นธุรกิจที่แตกต่างจากการดูแลยอดขายตั๋วการแสดงที่มั่นคง ของศิลปินใหญ่ที่เปี่ยมประสบการณ์ ร่ำรวย และมีพลัง เมื่อมีการแสดงที่ประสบความสำเร็จสักครั้ง วงดนตรีส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ร่วมจัดการกับครั้งต่อๆ ไป ซึ่งยูทูว์ก็เป็นหนึ่งในวงที่ทำแบบนี้ โดยมีทีมที่ใหญ่และมากประสบการณ์ของพรินซิเพิล แมเนจเมนท์ ของแมคกินเนสส์ ที่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมเป็นคนดูแล
แล้วอะไรละที่โอเซียรีจะนำมาให้วง? นั่นก็คือ พลัง, ความคิด, ความรู้ซึ้งแจ่มแจ้งในรายละเอียดต่างๆ รวมไปถึงประสบการณ์เฉพาะในเรื่องธุรกิจดนตรี ตลอดจนความใกล้ชิดกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางดนตรี ซึ่งอย่างหลังนี่เอง ที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้ยูทูว์ไม่ต้องไปอยู่ในกลุ่มของวงร็อคโบราณ ที่มีเดอะ โรลลิง สโตนส์ ยึดหัวหาดเอาไว้อยู่ ซึ่งศิลปินในกลุ่มนี้จะออกทัวร์โดยเน้นไปที่กลุ่มแฟนเพลงของวงแท้ๆ และนี่คือสิ่งที่ยูทูว์ หรือ โบโนไม่ต้องการให้วงเป็น แม้จะอยู่ในช่วงระยะสุดท้ายในการทำงานก็ตาม พวกเขายังอยากอยู๋ในตลาดของป็อป และเป็นส่วนหนึ่งของการถูกพูดถึงทางวัฒนธรรม
อัลบั้มชุดล่าสุดของวง No Line On The Horizon ออกมาเมื่อ 4 ปีก่อน และโชว์สุดท้ายของ 360 Degree ทัวร์คอนเสิร์ททำเงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์เพลง ก็ผ่านมาแล้ว 2 ปี ตอนนี้พวกเขากำลังเขียนเพลง และบันทึกเสียง รวบรวมและกลั่นกรองวัตถุดิบต่างๆ ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้อัลบั้มชุดต่อไป เป็นงานชุดสำคัญ
แทนที่จะมานั่งกังวลถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการบริหารจัดการวง ซึ่งเป็นเรื่องของเบื้องหลัง แฟนๆ น่าจะได้เห็นสัญญาณที่เกิดขึ้นหลังช่วงเวลาของการไตร่ตรอง และรวมวงใหม่ นั่นก็คือ การขยับเกียร์เดินหน้าเต็มตัว เพื่อการกลับมาเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก
และคนที่ควรห่วงมากกว่าคือ แฟนเพลงของมาดอนนา เพราะปีหน้า โอเซียรีกำลังจะมีงานที่ล้นมือแน่ๆ
จากเรื่อง ผลลัพธ์ของสัญญามูลค่า 30 ล้านเหรียญของยูทูว์ (ตอนจบ) โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556