Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว 2.5 งานบนจุดแวะพักจาก Getsunova

2.5 / Getsunova
[White Music/ GMM Grammy]

“ไกลแค่ไหน คือ ใกล้”, “แตกต่างเหมือนกัน”, “เหตุผลที่ไม่มีเหตุผล”, “รู้ดีว่าไม่ดี”, “ความเงียบที่ดังที่สุด”, “ความรู้สึกที่ไม่เคยรู้สึก” คือส่วนหนึ่งของชื่อเพลง ที่เล่นกับคำที่มีความขัดแย้งหรือแตกต่างกันได้อย่างสนุก ของ เก็ทสึโนวา วงดนตรีสี่ชีวิตที่ประกอบด้วย ปราการ ไรวา – ร้องนำ, นาฑี โอสถานุเคราะห์ – กีตาร์, ปณต คุณประเสริฐ – กีตาร์/ ซินธิไซเซอร์ และ คมฆเดช แสงวัฒนาโรจน์ – กลอง

ชื่อวงเองก็มีที่มาจากการเล่นกับภาษา เก็ทสึ เป็นคำในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า พระจันทร์ ส่วน โนวา เป็นภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า การระเบิด ทำให้ชื่อวงของพวกเขาแปลว่า พระจันทร์ระเบิด

นอกจากจะเล่นกับภาษาได้สนุก อ่านแล้วสะกิดใจ ได้ยินก็เตะหู เรื่องราวในเพลงของเก็ทสึโนวา ก็สอดรับเข้ากับชื่อเพลงได้อย่างกลมกลืน

แต่ถ้าย้อนไปถึงอีพีชุดแรกElectric Ballroom ที่พวกเขาปล่อยออกมาเมื่อปี 2552 ทั้งชื่อเพลง เนื้อหา และดนตรีของเก็ทสึโนวาในวันนี้ ปี 2564 ที่ได้ยินจากอีพีชุดที่สองของเก็ทสึโนวา 2.5 แตกต่างกันเหลือเกิน เพราะใน Electric Ballroom พวกเขาเป็นวงร็อคที่ใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ มาช่วยสร้างลักษณะเฉพาะตัวให้กับดนตรีที่ฟังดิบแบบมีเดียมจากเสียงร้องและซาวนด์ดนตรี โดยเฉพาะการแต่งแต้มให้ภาคริธึมฟัง ‘ตื้ด’ ได้

ชื่อเพลง… ถ้าเป็นการเล่นคำ ก็เป็นมุมที่แตกต่าง เพราะเป็นชื่อสั้นๆ ยกชุด “รอยจูบ”, “รูปภาพ”, “เศษส่วน (Fraction)” และ “กล่อม” เนื้องานแม้จะรู้สึกว่า ยังต้องปรุงแต่งอีกเยอะ แต่ถ้ามองไปถึงองค์ประกอบต่างๆ เก็ทสึโนวา มีอะไรดีๆ ในตัวอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามสร้างสำเนียงดนตรีของตัวเอง การแต่งเพลงที่มีเซนส์ป็อปรุนแรง ทั้งจากเมโลดี และการสร้างฮุค

แล้วพอออกจากจุดสตาร์ทอย่างเป็นทางการกับอัลบัมแรก The First Album เมื่อปี 2559เก็ทสึโนวาก็ปรุงแต่งทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยได้โดยไม่ต้องรอนาน ความดิบของดนตรีหายไป เสียงร้องที่เคยแกว่งๆ ไม่ใช่แค่เข้าที่เข้าทาง แต่ยังกลายเป็นอีกลักษณะเฉพาะของพวกเขา นอกเหนือไปจากงานดนตรี งานป็อป-ร็อคที่วางดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในงานได้อย่างกลมกลืน การเรียบเรียงประณีตเนียน มีลูกตอดเล็กตอดน้อยของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ โดยเฉพาะกีตาร์ และซินธิไซเซอร์ สะกิดหู และแน่นอน… ชื่อเพลงเก๋ๆ ที่ไม่ได้แค่ตั้งเอาเท่ เมื่อเรื่องราวข้างใน มีทิศทางตามที่ชื่อเป็น ซึ่งบอกถึงการทำงานที่คิดเยอะ และมีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในแง่การทำงานศิลปะ และการตลาด

เมโลดีติดหัว ฮุคโดนหู ที่น่าจะเรียกพวกเขาว่า นักสร้างซิงเกิล ได้ เพราะเพลงใน The First Album แข็งแรงในความเป็นป็อป มีพลังพอจะเป็นเพลงดัง ซึ่งถ้าได้แรงส่งจากการโปรโมทถึงๆ ก็พร้อมจะฮิตยกชุด อาจจะติดอยู่บ้างก็เรื่อง อารมณ์ในการฟังเป็นอัลบัม ที่ตัวเพลงดูจะอยู่ในระนาบเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่ยังเป็นเพลงเผาหัวช้า ที่ฟังจบแล้วก็เหมือนต้องมานับหนึ่งใหม่ จนไม่รู้สึก ‘สุด’ ทางอารมณ์นัก หากฟังยาวๆ จากเพลงแรกไปถึงเพลงสุดท้าย เพราะไม่มีเพลงที่ทำให้รู้สึก ‘พุ่ง’ ขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นปัญหาหรือจริตส่วนตัวของคนฟังก็พอพูดได้เหมือนกัน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ตอกย้ำการเป็นคนทำเพลงแบบ นักสร้างซิงเกิล ของเก็ทสึโนวาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อแต่ละเพลงสามารถขายตัวเองได้สำเร็จ เมื่อถูกตัดมาเป็นเพลงโปรโมทหรือซิงเกิล

โดยมีเพลงอย่าง “แตกต่างเหมือนกัน” ที่แสดงถึงชั้นในการแต่งเพลงของพวกเขา ส่วน “ไกลแค่ไหนคือใกล้” หรือ “คำถามซึ่งไร้คนตอบ” เก็ทสึโนวาหรือว่าปราการ ก็เผยให้เห็นว่า พวกเขาก็เล่นกับอารมณ์ได้ดีเหมือนกัน

ทำ-มะ-ดา งานชุดที่สอง ออกมาในปี 2562 ดนตรีของเก็ทสึโนวา ‘คม’ กว่าเดิม โดยมี “ชีวิตที่มีชีวิต” ที่ฟังหนักแน่นและเต็มอารมณ์ เป็นเพลงที่ยกระดับความเข้มข้นในการทำงานของพวกเขาไปอีกขั้น เช่นเดียวกับเรื่องราวที่ไม่ได้เป็นเรื่องราวความรัก แม้จะเป็นเพลงที่ใช้โฆษณารถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง แต่กับเนื้อหาที่มี เพลงนี้ก็มีชีวิตของตัวเอง และใช้ชีวิตของมันได้คุ้มค่า ขณะที่เพลงรักอย่าง “ปลาบนฟ้า” หรือ “วันหมดอายุ” ก็มีมุมมองที่น่าสนใจ ในเรื่องของการเปรียบเทียบ ส่วน “นักเดินทาง” ก็สามารถตีความออกไปได้หลากหลาย

ไม่ใช่แค่ดนตรีและเรื่องราว ที่เก็ทสึโนวาก้าวไปข้างหน้า เสียงร้องของปราการก็แม่นในเรื่องอารมณ์ และชุ่มความรู้สึกมากขึ้น

นั่นคือทั้งหลายทั้งปวงจากช่วงเวลาที่ผ่านมาของเก็ทสึโนวา ที่ต้องว่ากันยาวๆ เพราะหากจำไม่ผิด ยังไม่เคยหยิบงานของพวกเขามาเขียนถึงเลย ก่อนจะมาถึง 2.5 ที่คงไม่พ้นเป็นอีพีคั่นเวลาระหว่างงานชุดที่สองกับสาม ซึ่งชื่อชุดก็น่าจะหมายความตามนั้นอยู่แล้ว

2.5 มีเพลงทั้งหมดห้าเพลง หนึ่งในจำนวนนี้เป็นเพลงเก่า “คำถามซึ่งไร้คนตอบ” ซึ่งเอามาปรุงแต่ง ตีความใหม่เป็นเพลงร็อคสนุกๆ ที่น่าจะช่วยให้การแสดงสดบนเวทีของเพลงนี้ ฟังจัดจ้านมากขึ้น ส่วนเพลงที่เหลือก็มี “ลืมว่าต้องลืม”, “คนเดิมที่ไม่เหมือนเดิม”, “หน้ากาก” และ “จุดแวะพัก (.5)”

“ลืมว่าต้องลืม” กับ “คนเดิมที่ไม่เหมือนเดิม” สองเพลงที่เป็นลายเซ็นของเก็ทสึโนวาตั้งแต่ชื่อ เป็นงานเพลงรักเศร้า ซึ้ง ว่าด้วยความรักในแบบ “ลืมไปไม่รักกัน” และ คนที่เปลี่ยนไป ตามลำดับ ที่พลิกด้านหรือมุมในการมอง แล้วมีการใช้ภาษาที่ทำให้แตกต่าง และแน่นอน… เหมือนกับชื่อเพลง ในแบบที่เป็นลายเซ็นของวง

“จุดแวะพัก (.5)” เพลงช้าอีกเพลง เนื้อหาตัดพ้อ น้อยใจ ที่ชีวิตเหมือนดอกไม้ริมทาง เป็นที่พักใจของใครสักคนก่อนเขาจะไปเจอคนที่ (คิดว่า) ใช่ ซึ่งทำให้ “หน้ากาก” กลายเป็นเพลงที่น่าสนใจที่สุดในอีพีชุดนี้ ที่บอกเล่าถึงความอึดอัดกับการต้องใส่หน้ากาก หรือทำตัวตามที่คนอื่นชี้นำ หรือเป็นไปความต้องการของสังคม (ที่ย้อนแย้งก็คือ หนึ่งในสมาชิกของวงผูกผ้าปิดหน้าปิดตาตลอดเวลา :D) ดนตรีฟังรุกเร้า ซึ่งก็เป็นไปตามอารมณ์ของเรื่องราว

ด้วยจำนวนเพลงที่ไม่มาก จะเรียก 2.5 ว่าเป็นจุดแวะพักระหว่างอัลบัมชุดใหม่ยังเดินทางมาไม่ถึงไปพร้อมๆ กับการมองเป็นงานคั่นเวลาก็คงได้ แต่ตัวงานก็คงมาตรฐานของเก็ทสึโนวาเอาไว้ครบ ดนตรีที่ติดหู เพลงที่โดน และพร้อมจะดัง ส่วนรายละเอียดดนตรี ฟังเผินๆ อาจไม่มีอะไรแตกต่าง แต่จากที่รู้สึกเมื่อเทียบกับงานก่อนๆ พวกเขาดูจะเน้นเรื่องความหนักแน่นของอารมณ์หรือซาวนด์ในเพลงเป็นพิเศษ เช่น การวางเสียงร้องประสาน ใน “ลืมว่าต้องลืม” หรือ ใช้เสียงกลองแน่นๆ ซึ่งทำให้ดนตรีในอีพีชุดนี้ฟัง ‘ร็อค’ มากขึ้น และมีความเป็นงานเมนสตรีมมากกว่าที่เคยเป็น

ซึ่งเป็นความ ‘ไม่แตกต่างที่แตกต่าง’ หรือ ‘ความเหมือนที่ไม่เหมือน’ แล้วแต่จะเลือกมอง

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.