Stuart Hawkins เปิดตัวให้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง จากการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” มาทำใหม่ได้อย่างมีเสน่ห์ ให้อารมณ์แบบงานแสดงสดที่นักดนตรีต่างแสดงความจัดจ้านในเรื่องฝีไม้ลายมือ ให้สัมผัสกันผ่านเสียงดนตรีอย่างเต็มที่ จนเป็นเพลงที่ฟังสนุก เพลินไปกับการเรียบเรียงดนตรีที่มีชั้นเชิง ซับซ้อน แล้วก็มีช่วงที่ให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นมีโอกาสด้นสด ซึ่งทำให้บทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ฉบับนี้ เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ร่าเริง
นอกจากนี้รายได้จากการดาวน์โหลดและสตรีมเพลงนี้ จะนำไปสมทบทุนและสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 ด้วยเงินพระราชทานเป็นทุนประเดิมจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยทางมูลนิธิได้น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็ง โดยผู้สนใจดาวน์โหลดได้ที่ ไอทูนส์ สโตร์ส ในราคา 29 บาทเท่านั้น
หลังจากส่งเพลงมาให้ฟัง หนนี้สจวร์ท ฮอว์กินส์ที่ใช้ชีวิตในบ้านเรามากว่า 11 ปี และได้ขึ้นแสดงดนตรีกับศิลปิน อย่าง โก้ มิสเตอร์แซ็กแมน และนักเปียโน-นักแต่งเพลง หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม ก็ส่งอัลบัมชุดแรกของตัวเอง And What If I Don’t มาให้สัมผัสบ้าง โดยในอัลบัมที่มีเพลงทั้งหมด 7 เพลง 8 แทร็คชุดนี้ เป็นการนำบทเพลงของศิลปินแจ๊ซซ์อมตะหลายต่อหลายคน มาเรียบเรียงบันทึกเสียงกันใหม่ โดยมีเพลง “And What If I Don’t” เพลงเก่าของ Herbie Hancock เป็นเพลงเด่น ที่นอกจากจะเป็นเพลงที่เป็นชื่อชุดแล้ว เพลงนี้ยังมีให้ฟังกันถึงสองเวอร์ชัน ที่ต่างก็เรียบเรียงดนตรีออกมาได้อย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะการให้เครื่องดนตรีแต่ละชนิด ได้มีโอกาสเผยความเยี่ยมยอดของตัวเอง
แล้วกับอีก 6 เพลงที่เหลือก็มีเพลงอย่าง “Gee Baby Ain’t I Good To You” ที่เป็นการคารวะตำนานเพลงบลูส์ Jimmy Witherspoon ที่มีความโดดเด่นไปจากเพลงแรกที่ได้ฟังกัน โดยเฉพาะท่วงท่า ลีลา ของดนตรีบลูส์ ที่ทำให้เพลงนี้ ไม่ได้มีแค่ความเศร้า เพราะยังมีอารมณ์ขัน ที่ส่งออกมาจากเครื่องดนตรีแต่ละชนิดให้ได้สัมผัสอีกด้วย โดยเฉพาะเสียงทรัมเป็ทของฮอว์กินส์ จนกลายเป็นเพลงที่แทนความรู้สึกหวานอมขมกลืน ช้ำแต่ยังสนุกไปกับชีวิตได้อย่างรื่นรมย์
ขณะที่ “Super Blue” เพลงของ Freddie Hubbard มือทรัมเป็ตระดับโลกอีกราย ก็กลับมามีชีวิตอีกหน โดยเพลงนี้ ความโดดเด่นอยู่ที่เสียงทรัมเป็ทกับแซ็กโซโฟน ที่มีการเล่นหยอกล้อ ปะทะ และสอดรับกันอย่างเพลิดเพลิน รวมไปถึง “Lover Man” เพลงอมตะของ Billie Holiday ที่ถูกนำมาร้อง มาทำใหม่อยู่หลายต่อหลายครั้ง โดยหนนี้เสียงทรัมเป็ทของฮอว์กินส์ คือตัวละครสำคัญในเพลงที่สร้างอารมณ์เซ็กซี และการยั่วเย้าให้กับเพลง โดยเฉพาะการเล่นรับ-ส่ง คลอไปกับเสียงเปียโนไปมา
ที่น่าสนใจก็คือ สำหรับทุกเพลงในอัลบัม And What If I Don’t จะมีช่วงเวลาของการอิมโพรไวส์ ช่องของดนตรีที่ให้เจ้าของเครื่องดนตรีแต่ละประเภทได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา รวมทั้งให้อารมณ์แบบงานเล่นสด ที่พาให้แต่ละเพลงเต็มไปด้วยความรู้สึก และเลือดเนื้อในทุกเสียงดนตรีที่ได้ยิน ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายๆ เลยจากงานแบบสตูดิโออัลบัม และกับการบันทึกเสียงก็ช่วยขับเน้นความโดดเด่นเหล่านี้ของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงให้ซาวนด์ที่ฟังดูเก๋า คลาสสิค
โดยอัลบัมชุดนี้ ยังเป็นงานการกุศลอีกต่างหาก เมื่อรายได้จะนำไปสมทบทุนการดำเนินงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่นเดียวกับซิงเกิล บทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น”
เรียกว่างานชุดนี้ คนซื้ออย่างเราๆ ได้ทั้งงานเพลงคุณภาพ และได้บุญไปพร้อมๆ กันเลยทีเดียว
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง And What If I Don’t อัลบัมแจ๊ซซ์แสนรื่นรมย์ของ สจวร์ท ฮอว์กินส์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 30 มีนาคม 2561
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่