BIRD MINI MARATHON / ธงไชย แม็คอินไตย์
[จีเอ็มเอ็ม แกรมมี]
นอกจากจะเป็นสตูดิโอของธงไชย แม็คอินไตย์ ที่ทิ้งช่วงห่างจากอัลบัมก่อนหน้ายาวนานที่สุด ถึง 8 ปี หลังอัลบัม ‘อาสาสนุก’ เมื่อปี 2553 ซึ่งมีเพลงฮิตอย่าง “อยู่คนเดียว”, “Too Much So Much Very Much” และเป็นอีกครั้ง ที่ธงไชยหรือพี่เบิร์ดของแฟนเพลงทำอัลบัมร่วมกับศิลปินอื่น คล้ายๆ กับอัลบัม ‘เบิร์ด-เสก’ ที่ทำกับเสกสรร สุขพิมาย หรือว่า ‘ขนนกกับดอกไม้’ ที่ทำกับบรรดาศิลปินหญิงของต้นสังกัด อย่าง ใหม่ เจริญปุระ, คริสติน่า อากีล่าร์, มาช่า วัฒนพานิช, ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ และเสาวลักษณ์ ลีละบุตร
เมื่อธงไชยกลับมาพร้อมกับแปดศิลปินรุ่นใหม่ในแต่ละเพลงของพวกเขา Boom Boom Clash, Labanoon, URBoy TJ, Getsunova, แสตมป์ – อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข, Polycat, อะตอม – ชนกันต์ รัตนอุดม, Big Ass โดยแปดเพลงในอัลบัมถูกวาดคอนเส็ปท์เอาไว้ว่าคือ แต่ละสเตจของการวิ่งมาราธอน ที่มีด้วยกันทั้งหมด 8 สเตจ ซึ่งพูดไปก็อาจจะมองไม่เห็นภาพ หรืออาจจะติดงงๆ หากให้พูดแบบสรุปง่ายๆ แต่ละเพลงใน Bird Mini Marathon ก็คือการฟีเฌอริงหรือร่วมงานกับศิลปินแต่ละรายของธงไชย แม็คอินไตย์นั่นเอง
ซึ่งแต่ละศิลปินต่างก็มีแนวทางเฉพาะตัวที่โดดเด่น ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นบูม บูม แคลชกับดนตรีอีดีเอ็ม, ลาบานูน, บิ๊กแออส์ และเก็ทสึโนวา กับป็อป-ร็อคที่มีสำเนียงดนตรีของตัวเอง, ยัวร์บอยทีเจกับดนตรีฮิพ-ฮ็อพ, แสตมป์ กับดนตรีป็อป ที่เจือความเป็นโฟลค์เข้ามาได้กลมกลืน, โพลีแค็ทเจ้าของงานเพลงซินธ์-ป็อป ที่มีอิทธิพลดนตรียุค 80 และชนกันต์ รัตนอุดม กับป็อปที่ผสมผสานดนตรีอาร์แอนด์บี
ที่ด้วยความหลากหลายของแนวทางดนตรี เมื่อไล่เรียงดูกันแต่ละเพลงแล้ว อัลบัมชุดนี้น่าจะเรียกว่าเป็นงาน วอล์ค แรลลี ที่ผู้เข้าแข่งขัน ต้องเข้าแต่ละฐานเพื่อทำกิจกรรมบางอย่างที่แตกต่างกันซะมากกว่าการวิ่งมาราธอน ที่ว่ากันรวดเดียวยาวๆ แล้วกับการเป็นงานฟีเฌอริงที่มีธงไชย แม็คอินไตย์เป็นศิลปินหลักเมื่อเป็นเจ้าของอัลบัม ศิลปินรายอื่นๆ ก็ไม่พ้นศิลปินรองที่มาร่วมงาน ก็แปลกไปจากความคุ้นเคยโดยทั่วๆ ไป ทั้งในโลกของเพลงสากล และเพลงไทย ที่ส่วนใหญ่แล้ว ศิลปินหลักมักจะเป็นเจ้าของแนวทางเพลง ส่วนศิลปินที่มาร่วมงานก็จะมาพร้อมกับทางเฉพาะของตัวเอง ที่เข้ามาเติมสีสันให้กับทางเพลงเดิมๆ ของศิลปินหลัก อย่าง DNCE ที่มีร็อด สจวร์ทเป็นแขกรับเชิญ ในเพลงที่พวกเขาหยิบเอา “Da You Think I’m Sexy?” เพลงเก่าของปู่ร็อดมาทำใหม่ ตัวดนตรีก็เป็นเพลงป็อป-แดนซ์ ในแบบที่ดีเอ็นซีอีเป็น หรือ “ความเชื่อ” ของ Bodyslam ทางเพลงที่เป็นก็คือทางของบอดีสแลม ที่ได้ยืนยง โอภากุล มาร่วมงานในแบบที่ทำให้การพูดถึงประสบการณ์ชีวิต เติมเต็มการบอกเล่าถึง “ความเชื่อ” มีความหนักแน่นมากกว่าจะเป็นเสียงของอาทิวราห์ คงมาลัย ที่ด้วยวัยวุฒิแล้วอาจจะฟังแล้ว ทำให้ “ถึง” ได้ไม่เท่า
จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรมากมาย ส่วนหนึ่งก็คงไม่พ้น ธงไชยเป็นนัก “ร้อง” ที่ ทำงานได้หลากหลาย สิ่งที่เป็นลายเซ็น ก็คงเป็นเรื่องของเสียง ที่เจ้าตัวเพียงแค่หยิบไปใส่ในเพลงต่างๆ และถ่ายทอดออกมา ก็เท่านั้น แต่ทำให้รู้สึกสะดุดหรือฉุกคิดว่า เออ… มันไม่เหมือนที่เคยได้ยิน หรือเคยเห็นที่เป็นๆ กันมาอยู่บ้าง
เอาเป็นว่าที่สุดแล้ว แต่ละเพลงใน Bird Mini Marathon ก็คือ การทำงานในแบบที่ทำให้ธงไชย ได้มีโอกาสทำงานในแบบที่มีแนวทางแตกต่างกว่าที่เคยเป็น ด้วยการทำเพลงกับศิลปินหลายๆ ราย ที่ดนตรีมีซาวนด์และทางเฉพาะตัว ในแบบที่เอาตัวเองเข้าไปใส่
ที่โดยรวมๆ แล้วทุกเพลงก็ได้ในเรื่องของความเป็นป็อป ตัวดนตรีทำออกมาสมกับเป็น เบอร์ใหญ่ของต้นสังกัด (หรืออาจจะรวมถึงของวงการเพลงไทย) สามารถคุมซาวนด์ของทุกเพลงให้อยู่ในโทนเดียวกันได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า กับบางเพลง กับบางแนวดนตรี มันก็ “ไม่ใช่” เหมือนอย่างที่ได้ยินใน “พี่เปิดให้” (กับบูม บูม แคช) หรือว่า “Okay” (กับยัวร์บอยทีเจ) ที่ฟังสะดุด ขณะ “ผู้ต้องหา” (กับลาบานูน) ก็ฟังไม่ลงตัวสักเท่าไหร่นัก แล้วกับการเป็นนักร้องของธงไชย แม็คอินไตย์ แม้จะทำได้ดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า กับบางเพลงเสียงของธงไชยก็ “ไม่เข้า” แบบ “Okay” หรือใช้เสียงเขาได้ไม่เต็มศักยภาพ อย่าง “พี่เปิดให้” ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เพลงทำออกมาไม่ดี แต่บางครั้งเสียงพี่เบิร์ดของใครหลายๆ คนก็ไม่ได้เหมาะสมลงตัวกับทุกแนวทางเพลง อย่างน้อยก็ในครั้งนี้
หากหลายๆ เพลงก็ผสมกลมกลืนกันเป็นไปด้วยดี ที่คงไม่พ้นบรรดางานบัลลาด หรือเพลงป็อป ที่ธงไชยให้อารมณ์ ความรู้สึกส่งออกมาพร้อมกับเนื้อร้องได้ดี ไม่ว่าตัวดนตรีนั้น จะไม่ใช่ทางของเจ้าตัวเหมือนอย่างที่เคยเป็น เช่น “ชีวิตเดี่ยว” ที่พื้นดนตรีเป็นทางของเก็ทสึโนวา, “พริบตา” ป็อป ฟังโปร่ง สว่าง ของแสตมป์ ในโทนใกล้ๆ กับเพลงของ American Authors หรือ A Great Big World ที่หากจำกันได้ก่อนหน้านี้ อภิวัชร์ ก็คือเจ้าของเพลง “น้ำตา” เพลงยอดเยี่ยมรางวัลสีสันอวอร์ดส์ จากอัลบัม Simply Bird นั่นเอง, “กำแพง” โพลีแค็ทราวกับพาธงไชยในวันนี้ไปร้องเพลงของธงไชยในช่วงเริ่มต้นการทำงาน ที่เติมเสียงซินธ์เข้ามาในปริมาณที่มากขึ้นนั่นเอง, “กว่าจักรวาล” และบรรยากาศก็อยู่ในทางเดียวกับเพลงในยุคหลังๆ ของธงไชย ที่ร้องรับ-ส่งกับชนกันต์ได้อย่างลงตัว และในแบบที่ศิลปินรุ่นน้องร้องเพลงที่ชัดถ้อยชัดคำกว่าในอัลบัมของตัวเองด้วยซ้ำ
ส่วน “สิ้นสุดคือจุดเริ่มต้น” ที่เป็นงานของบิ๊กแอสส์ มาแบบงานบัลลาด ร็อค ที่เรียบเรียงใฟ้ฟังใหญ่ ฟังแล้วอาจจะนึกถึงงานของ X-Japan ใส่เครื่องสายมาเต็ม อารมณ์เป็นรอยเดียวกับ “เธอผู้ไม่แพ้” ทั้งเนื้อหา และความรู้สึกที่เพลงส่งออกมา ถือว่าเป็นการปิดท้ายได้แบบฟินๆ ยิ่งใหญ่ รวมไปถึงรับกับเพลงแรก “พี่เปิดให้” พอดิบพอดีในส่วนของเรื่องราว ที่กับเพลงอื่นๆ แล้ว ดูเหมือนจะอยู่กับเรื่องโอกาสทางความรักที่เหลือไม่มากนัก หรือการใช้ชีวิตที่เหมือนกับไม่มีใครอะไรประมาณนั้น ซึ่งจะว่าไปแล้วด้วยชีวิตการทำงานที่ยาวนานของธงไชย และวัยของเจ้าตัวเอง เรื่องพวกนี้ก็น่าจะถูกมองข้ามไปแล้ว หรือหากมีก็น่าจะเป็นสีสันชีวิต มากกว่าจะว่ากันเป็นจริงเป็นจัง
หากมองกันถึงว่านี่คืองานเพลงป็อป กับการหายหน้าหายตาไปถึง 7-8 ปี จากการออกอัลบัมใหม่ แล้วกลับมาพร้อมกับอัลบัม ที่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็รู้สึกถึงการเป็นงานที่มีเจตนาจะพาธงไชยไปหาคนฟังอีกกลุ่มหนึ่ง อีกรุ่นหนึ่ง ผ่านแฟนเพลงของศิลปินรุ่นหลังๆ เหล่านี้ Bird Mini Marathon นอกจากจะเป็นอัลบัมที่เต็มไปด้วยเพลงซิงเกิล ยังเป็นงานที่แสดงถึงศักยภาพในความเป็นนักร้องของธงไชย ที่ต่อให้เวลาจะผ่านไปแค่ไหนก็กัดกร่อนไม่สำเร็จ และหลายต่อหลายครั้งก็สามารถกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับดนตรีและศิลปินในอีกรุ่น ในอีกยุคสมัยได้ แม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบครบรอบด้านก็ตามที
และไม่ได้หมายความว่า แฟนเพลงของศิลปินจากช่วงเวลานี้ จะกลายเป็นแฟนพี่เบิร์ด เหมือนผู้คนที่ร้องเพลง “ด้วยรักและผูกพัน”, “สบายๆ” และเต้นกับ “คู่กัด” ได้อย่างสนิทใจก็ตามที
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน เมษายน 2561
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่