PILLOW WAR / Polycat
[สมอลล์รูม]
‘80 Kisses อัลบั้มชุดที่สองของโพลีแคท กลายเป็นสปริงบอร์ดส่งให้พวกเขากลายเป็นวงดัง เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ‘มาก’ ขึ้น หลังเปิดตัวด้วย 05:57 อัลบั้มชุดแรก ซึ่งเพลงดัง อย่าง “เธอคงยังไม่เคย” และ “ถ้าเธอคิดจะลืมเขา” ทำให้โพลีแคทมีชื่อติดปากแฟนเพลงพอสมควร ในระดับที่ถือว่าแจ้งเกิดได้สำเร็จกับชื่อใหม่ และแนวทางดนตรีใหม่ เพราะก่อนหน้านั้นคอเพลงสายแข็งน่าจะคุ้นเคยกับพวกเขาอยู่บ้าง ในฐานะวงดนตรีสกา, เร็กเก้ มากฝีมือที่ชื่อ สกาเรนเจอร์ ที่เคยมีผลงานอยู่ใน No Signal Input อัลบั้มรวมเพลงของศิลปินในแวดวงดนตรีเชียงใหม่
แต่การทำงานครั้งแรกในนามโพลีแคท พวกเขาหันมาทำงานที่แตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิงก็ว่าได้ เมื่อกลายเป็นป็อปมากขึ้น และมีซาวนด์ดนตรีในยุค 80 ผสม แต่ก็ยังไม่ถึงกับโดดเด่นจับหู หรือรู้สึกเข้มข่้นจนผิดหูมากนัก
จนงานชุดต่อมา อีพีชุด The Ordinary Love Story ทางดนตรีของพวกเขาชัดเจนแล้วว่าจะไปทางไหน กับการทำเพลงแบบซินธ์-ป็อป มีกลิ่นอายดนตรีจากดนตรีในยุค 80 ที่มี “พบกันใหม่” เป็นเพลงฮิต ซึ่งสร้างฐานแฟนเพลงให้กับวงดนตรีวงนี้มากขึ้น และเมื่อมาถึงอัลบั้มชุดที่สอง 80 Kisses โพลีแคทก็ไม่ใช่วงดนตรีที่มีคนรู้จักเฉพาะกลุ่มอีกแล้ว
ความสำเร็จที่ได้รับส่งโพลีแคทไปเป็นหนึ่งในวงดนตรีแถวหน้าของวงการเพลงไทยในช่วงเวลานั้นเลยก็ว่าได้ และหากจำเพาะเจาะจงลงไปถึงศิลปินที่ทำงานในทางของซินธ์-ป็อป พวกเขาคือเด็กหัวแถว
จุดเด่นในเพลงซินธ์-ป็อปของโพลีแคท ก็คือ การที่มีซาวนด์ มีสำเนียงดนตรี ซึ่งคุ้นเคยกันดี ในแบบที่ได้ยินแล้วก็ทำให้นึกถึงศิลปินหรือเพลงที่มีอิทธิพลต่อพวกเขา หรือต่อเพลงนั้นๆ ถนัดชัดเจน การเขียนเนื้อร้องที่มีมุมมองน่าสนใจ หรือมีลีลาการใช้ภาษาที่ทำให้เกิดวรรคทอง หรือฟังติดหู รวมไปถึงสัมผัสของป็อป ที่โพลีแคททำได้ดีกว่าศิลปินทางเดียวกัน ในรุ่นเดียวกัน จนส่งให้พวกเขาไปได้ไกลกว่าเพื่อนๆ ขณะที่การเรียบเรียงดนตรีก็ไม่ทิ้งลายการเป็นนักดนตรีอาชีพกันมายาวนาน เนื้อดนตรีซับซ้อน มีเทคนิกที่หวือหวา แต่ถูกนำเสนอในแบบฟังแล้วไม่วุ่นวาย หรือกลายเป็นการ ‘โชว์’ ที่มากเกินไป
กับระยะเวลาที่ห่างกันถึง 4 ปี จากอัลบั้มชุดที่แล้ว Pillow War งานชุดที่สามของโพลีแคท ถือว่าทิ้งช่วงห่างนานไม่น้อย แต่ถ้ามองไปถึงระหว่างทาง พวกเขาก็มีซิงเกิล ทั้งที่เป็นของตัวเองเพียวๆ และเป็นการทำงานร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ออกมาเป็นระยะ รวมถึงมีอีพีภาษาญี่ปุ่น แล้วก็ไปปรากฏตามเทศกาลดนตรีต่างๆ เรียกว่าก็ไม่ถึงกับหายหน้าหายตาไปจนถึงขั้นเงียบหาย
เอาเข้าจริงๆ ถ้ามองถึงช่วงระยะเวลาระหว่างการทำงานในแต่ละอัลบั้ม เวลา 6 ปีของ 05:57 กับ 80 Kisses ถือว่านานกว่า แถมก่อนหน้าจะมีงานชุดใหม่ ก็ไม่ได้มีซิงเกิล หรือว่าอีพีมาคั่นอย่างเป็นล่ำเป็นสันอีกต่างหาก และหากเทียบการทำงานในแต่่ละครั้ง แต่ละอัลบั้ม
การทอดยาวของเวลา สำหรับผลงานของโพลีแคท ถือเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า
จากความไม่ชัดเจน ในแบบศิลปินที่กำลังค้นหาตัวเองใน 05:57 เป็นศิลปินซินธ์-ป็อปเต็มตัวในแบบที่ทำได้และทำถึงของ 80 Kisses
Pillow War อัลบั้มขนาดกระทัดรัด บรรจุงานทั้งหมด 8 เพลง ก็ไม่ต่างกัน
เรื่องแนวทางดนตรี ถือว่าชัดเจนกันไปแล้วตั้งแต่อัลบั้มชุดก่อนหน้า แล้วก็ลงหลักปักฐานแน่นหนา จริงจังมากขึ้นจากซิงเกิล, อีพี ต่างๆ ที่ออกตามมาหลังจากนั้น
ท่วงทำนอง สำเนียงดนตรี ยังมีสัมผัสที่คุ้นเคยของอิทธิพลดนตรีที่พวกเขาได้รับ แต่ที่กลายเป็นความจัดจ้าน และทำให้งานชุดนี้วูบวาบมากขึ้นก็คือ ด้วยความฉูดฉาดของแนวดนตรีที่แตกต่างซึ่งถูกเพิ่มเติมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นโซล, อาร์แอนด์บี, ฟังก์ ส่งให้ Pillow War มีเสน่ห์เฉพาะตัว ที่เป็นการขยับเดินจากงานชุดที่ผ่านๆ มา ที่น่าสนใจก็คือ ลีลาของดนตรีที่นำมาแต่งแต้มนั้น ยังเป็นบรรยากาศและอารมณ์ที่อยู่ในยุคเดียวกันกับทางหลัก แต่พวกเขาสามารถทำให้ฟังร่วมสมัย ให้ความรู้สึก ‘ใหม่’ ได้สำเร็จ ทั้งด้วยซาวนด์ของเพลง ทั้งด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่วงมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เป็นการนับ 1 – 2 – 3 ที่ไม่ได้เพิ่มแค่จำนวน แต่ได้ผลงานที่ประสบการณ์เพิ่มพูนด้วยเช่นกัน
ความคม ความแม่นในเรื่องเนื้อหา และมุมมองในการแต่งเพลงของ รัตน จันทร์ประสิทธิ์ ยังไว้ใจได้ ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือไม่ แต่เรื่องราวส่วนใหญ่ใน Pillow War ก็คือ การมองไปถึงความรักในอดีต ตั้งแต่สมัยมัธยม ไปจนถึงคนที่อาจจะเคยมีความฝันร่วมกันถึงขั้นพูดคุยถึงเรือนหอ การใช้ชีวิตคู่ หรือคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่เคยทำให้ในช่วงเวลาที่เคยอยู่ด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นมุมมองที่น่าสนใจ และให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากการพูดถึงเรื่องเดียวกันของศิลปินหลายๆ รายที่มาก่อนหน้า
บางเพลงอย่าง “เจ้าหนู” ที่พูดถึงแววตาของคนที่แอบรัก ก็มีกิมมิกเล็กๆ ในช่วงอินโทรที่ทำให้วูบไปถึง “แววตา” อีกหนึ่งเพลงฮิตของเจตริน วรรธนะสิน
ส่วน “ตอนที่เธอมานอนที่ตัก” เรื่องราวและดนตรีที่ร้อยเรียงรวมกัน ก็ทำให้เพลงนี้มีทั้งความน่ารักและความเซ็กซี่ โดยเนื้อหาก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นได้เสมอของคนที่รักกัน แต่ไม่เคยแสดงออกให้ล่วงรู้ ซึ่ง (เท่าที่เคยได้ยิน) ไม่เคยมีใครหยิบจับมาเล่น จนรัตนทำออกมาอย่างที่ได้ฟัง
หากที่ถูกใจหรือชอบเป็นพิเศษก็คือ “ดูดี” ที่เหมือนเป็นการแตกหน่อ ต่อยอด จากเพลงอมตะ “Wonderful Tonight” จากเพลงของคนรักที่ (น่าจะ) ใช้ชีวิตด้วยกัน กลายเป็นเพลงของคนที่อยู่ใน โซนเพื่อน นั่งดูเพื่อนหญิงกำลังแต่งตัวไปเดทกับใครคนหนึ่ง และต้องช่วยออกความเห็นในเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม การหว่านเสน่ห์ ต่างๆ นานา รวมถึงกลเม็ดเคล็ดลับ จะรู้ได้ยังไงว่าเขามีใจหรือเปล่า
“ถ้ากังวลว่าเขามีใจบ้างไหม Oh วิธีดูไม่ยากอะไร วันนี้เวลาได้เจอ แกลองมองในตาเขา ถ้ามีสายตาแบบเดียวกับชั้น ที่มองแกตลอดมาก็แปลว่ารักหมดหัวใจ” และ “แกลองประคองมือเขา ถ้ามีสัมผัสไม่ต่างจากครั้งที่ฉันเคยได้จับไว้ แสดงว่าเขานั้นเฝ้ารอ ทั้งชีวิตอยากกอดคนที่เขารัก
และห่วงใยที่สุดเลยเว้ยแก”
ซึ่งเป็นเรื่องเจ็บจี๊ด แล้วก็เป็นตลกร้าย หักมุมในคราวเดียวกัน เมื่อดนตรีมาแบบรื่นรมย์ สุขสันต์ แต่อารมณ์ของตัวละครในเพลงนั้น คนละเรื่องกันเลยก็ว่าได้ ภาษาที่ใช้ ซึ่งเป็นคำง่ายๆ ในแบบเพื่อนสนิทพูดคุยกัน ก็ยิ่งทำให้สัมผัสถึงความรู้สึกแบบหวานอมขมกลืน หน้าชื่นอกตรมได้เต็มๆ
ถ้าย้อนไปดูถ้อยคำต่างๆ ที่รัตนเล่าออกมาเป็นเรื่องราวในเพลง กับมุมมองที่ใช้
นี่คือนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ ที่ทำงานได้น่าสนใจมากๆ ทั้งการหยิบจับเรื่องราว การใช้ภาษา ที่มีความ ‘เฉพาะตัว’ ไปหมด และเป็นจุดแข็งยิ่งกว่างานดนตรีของโพลีแคทด้วยซ้ำ
เพราะขณะที่เสียงซึ่งได้ยิน ยังมีกลิ่นให้นึกถึง แต่กับเรื่องที่ได้ฟัง มันเป็นไปในทางตรงกันข้าม
แม้ทั้งสองสิ่งจะเดินทางมาด้วยกันได้อย่างกลมกลืน ลงตัว รวมถึงควงคู่เดินไปข้างหน้ามาตลอด แต่ก็ต้องยอมรับกันว่า หากช่วงห่างของระยะเวลาในการเดินทางจาก 80 Kisses มาถึง Pillow War เรียกว่าการรอคอย เรื่องเล่าในภาษาของรัตนทำให้ช่วงเวลานั้น เป็นการรอคอยที่แสนคุ้มค่าเหลือเกิน
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 32 ฉบับที่ 5 เมษายน 2564
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่
[one_half][/one_half][one_half_last][/one_half_last]