Music ReviewREVIEW

ฟังไปแล้ว – WHEN WE ALL FALL ASLEEP, WHERE DO WE GO? อัลบัมของสาวความหวังแห่งวงการเพลง บิลลี อายลิช

WHEN WE ALL FALL ASLEEP, WHERE DO WE GO? / Billie Eilish
[Darkroom/ Interscope]

“คนพากันบอกว่า ‘ร็อคตายแล้วนี่?’ แต่พอผมมองไปที่คนอย่างบิลลี อายลิช ร็อคแอนด์โรลล์ ไม่ได้ใกล้จะตายเลย” เดฟ โกรห์ล แกนหลักและนักร้องนำของ Foo Fighters บอก “ลูกสาวผมชอบบิลลี อายลิช มากๆ” และ “สิ่งที่ผมเห็นว่าเกิดขึ้นกับลูกสาว มันเป็นการปฏิวัติเหมือนๆ ที่เกิดกับผมในตอนอายุเท่าๆ กัน ลูกสาวผมฟังบิลลี อายลิช แล้วก็กลายเป็นพวกเดียวกันผ่านเพลงของเธอ เธอต่อกันติดกับลูกสาวผม เราเลยไปดูเธอเล่นที่วิลเทิร์น ซึ่งการสื่อสารระหว่างเธอกับผู้ชม มันคือสิ่งเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับเนอร์วานาเมื่อปี 1991 คนดูรู้ความหมายของทุกๆ คำ ราวกับเป็นความลับเล็กๆ ของพวกเรา”

หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นการยกยอปอปั้นกันจนเกินเหตุ แต่ถ้าเกาะติดชีวิตคนอย่างโกรห์ลมาโดยตลอด เขาคือคนที่พูดจาตรงไปตรงมา ไม่มีปากอย่างใจอย่าง และหากได้ฟัง When We All Fall Asleep, Where Do We Go? อัลบัมชุดแรกของสาววัย 17 ปีรายนี้ ต่อให้ไม่ได้รับรู้ข้อความของโกรห์ลมาก่อน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คืองานที่สามารถพูดว่า ‘ดี’ ได้เต็มปากเต็มคำ

โดยก่อนหน้าที่จะออกอัลบัม When We All Fall Asleep, Where Do We Go? มาในปีนี้ อายลิชเคยออกอีพี Don’t Smile at Me มาแล้วในปีก่อนหน้า ซึ่งกลายเป็นงานที่ประสบความสำเร็จแบบเงียบๆ ที่หลายๆ คนฟังแล้วอาจจะนึกถึงความรู้สึกครั้งแรกที่ได้ฟังอัลบัม Jagged Little Pill งานแจ้งเกิดของอลานิส มอริสเส็ทท์ ที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกสด ใหม่ ดนตรีและเรื่องราวในงานมีลักษณะเฉพาะตัวที่แสดงตัวออกมาอย่างโดดเด่นในความเป็นงานร่วมสมัย รายละเอียดของดนตรีหลากหลาย เกินกว่าจะตีกรอบแคบๆ แค่เป็น อิเล็กโทร-ป็อป, แทร็ป เพราะงานของอายลิชกินความไปกว้างกว่านั้น อาจจะเป็นอัลเทอร์เนถีฟ, ป็อป หรือร็อค ด้วยความที่มันไปไกลเกินกว่าจะจำกัดความอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นแนวทางเล็กๆ แม้ในภาพรวม งานของเธอก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับศิลปินหญิงสายเข้มของยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลอร์ด หรือ ลานา เดล เรย์

หากงานของอายลิช ฟังคลี่คลาย ป็อป และหลากหลายกว่าทั้งสองรายที่เอ่ยชื่อมาก่อนอย่างเห็นได้ชัด มีทั้งแร็ป, ฮิพ-ฮ็อพ, ร็อค, อิเล็กโทร-ป็อป หรือกระทั่งอะคูสติค ที่สำคัญคือ ทุกเพลงมาพร้อมกับความลงตัวในตัวเอง และในขณะเดียวกันเรื่องภาพรวมของอัลบัมก็เอาอยู่ ไม่ได้ฟังสะเปะสะปะกระเด็นเซ็นซ่าน

จากอีพี Don’t Smile at Me ขยับมาเป็นอัลบัมเต็มๆ When We All Fall Asleep, Where Do We Go? ที่ชื่ออัลบัมตั้งได้อย่างน่าสนใจ คุณภาพของงานก็ขยับไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะมองตรงไหน การเรียบเรียงก็มีความซับซ้อน มีชั้นดนตรีที่มากขึ้น ซาวนด์ของงานก็ฟังเต็ม ใหญ่กว่าเดิม

การใช้เสียงร้องก็แผ่อาณาเขตในการทำงานออกไปไกลจากเดิม โดยเฉพาะการใช้อารมณ์ส่งออกมาเป็นเสียง ทั้งลุ่มลึกในความรู้สึก สวย โดยเฉพาะในเพลงบัลลาดที่เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้ศักยภาพที่มีจากเสียงร้องได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับเพลงน่ารักๆ ที่ขายความสดใสตามวัยของเจ้าตัว

อารมณ์เพลงก็หลากหลาย มีทั้งเพลงสนุกๆ แบบงาน อิเล็กโทร-ป็อป เท่ๆ “Bad Guy”, เพลงน่ารักๆ ฟังสดใส “ilomilo”, งานอะคูสติคหาดทรายสายลม เสียงอูคูเลเลฟังกรุ้งๆ กริ้งๆ “8” หรือ “My Strange Addiction” ก็มาพร้อมบรรยากาศของงานอาร์แอนด์บียุค 80 ที่ทุกเพลงล้วนแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงในเรื่องดนตรีของเด็กสาวคนนี้

แต่อายลิชไม่ได้มีดีแค่ การทำดนตรี, เสียงร้อง มุมมองและความสามารถในการแต่งเพลงของเธอ ที่ทำร่วมกับพี่ชาย-ฟินนีส์ ซึ่งอายุมากกว่ากันแค่ 3-4 ปี ก็เยี่ยมยอดไม่แพ้กัน และที่สำคัญ ‘เกินตัว’ อย่างน้อยๆ ในเพลงรัก อายลิชก็ไม่ใช่เด็กสาวที่เล่าเรื่องความรักหวานแหว๋ว เธอท้าทายแฟนหนุ่มว่าร้ายเท่าเธอไหมใน “Bad Guy”, พูดถึงผู้ชายที่เธอชอบ แต่ปฏิเสธความรักจากเธอในแบบ “Wish You Were Gay”, นำเสนอความรักในช่วงที่หมดเวลาข้าวใหม่ปลามัน หรือหมดโปรเบชัน “When the Party’s Over” รวมไปถึงตั้งคำถามถึงเรื่องการใช้ยาเสพติดเพื่อการผ่อนคลาย ตลอดจนทัศนคติแบบแปลกๆ ของผู้คน “My Strange Addiction”

ซึ่งฟังแล้วไม่ใช่มุมมองแบบเด็กๆ ที่แค่สนุกไปวันๆ แต่เป็นผู้ใหญ่ที่หัวคิดไปไกลกว่าอายุชีวิต ที่บางทีเนื้อหา และภาษาในเพลง ‘โต’ มากกว่าผู้ใหญ่หลายๆ คน ที่ยังคงฟูมฟายทำอะไรกับชีวิตเหมือนเด็กๆ ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ทำบัตรประชาชน

ช่วงท้ายๆ อัลบัมที่วางเพลงบัลลาดเนิบๆ ไว้ติดๆ กัน อาจจะทำให้รู้สึกหนืดเนือยอยู่บ้าง แต่นั่นก็คือบั้นปลายการเดินทางของงานชุดนี้แล้ว มองในแง่ดีก็คือการส่งคนฟัง หลังเดินทางมาถึงตรงนี้ บิลลี อายลิชได้เสนอสนองความบันเทิงให้ได้อย่างเต็มที่ไปเรียบร้อย ด้วยงานเพลงดีๆ ที่ลงตัวไปหมดไม่ว่าจะมองกันที่มุมไหน จนไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า ทำไมคนอย่างเดฟ โกรห์ล ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ถึงกับยกให้เธอเป็นหนึ่งใน ‘อนาคต’ ของวงการเพลงอย่างที่เห็น

นี่คืออัลบัมของคนมีของและใช้เป็น ที่น่าจะเป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของปีนี้ เมื่อเวลาเดินไปถึงสิ้นปีอย่างแน่นอน

โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ วิจารณ์-แนะนำ นิตยสารสีสัน ปีที่ 30 ฉบับที่ 7 มีนาคม 2562

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.