Music ReviewREVIEWดนตรีมีเหตุ

ฟังไปแล้ว Wilder Mind อัลบั้มที่ทำด้วยหัวจิตหัวใจของ Mumford & Sons งานดีๆ ที่ถูกมองข้าม

งานสองชุดแรกของมัมฟอร์ด แอนด์ ซัน Sigh No More และ Babel ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทั้งในอังกฤษบ้านเกิด และข้ามฝั่งไปถึงอเมริกา ทำยอดขายระดับล้านก็อปปี ส่งให้วงได้ขึ้นเล่นในงานแกรมมี อวอร์ดส์ ร่วมกับรุ่นใหญ่อย่าง บ็อบ ดีแลน พร้อมทั้งคว้ารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมของแกรมมี่มาครองจาก Babel

Wilder Mind - mumford and sons DL

สมาชิกของวงดนตรีจากลอนดอนวงนี้ ประกอบด้วย มาร์คัส มัมฟอร์ด (ร้องนำ, กีตาร์ไฟฟ้า, อะคูสติค กีตาร์, กลอง), เบน โลเว็ทท์ (ร้อง, คีย์บอร์ดส์, เปียโน, ซินธิไซเซอร์), วินสตัน มาร์เชลล์ (ร้อง, กีตาร์ไฟฟ้า, แบนโจ) และ เท็ด ดเวน (ร้อง, เบส, ดับเบิล เบส) โดยพวกเขาอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2007 และใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปี โด่งดังทะลุฟ้ากันอย่างที่เห็น

แต่ขณะที่ Sigh No More และ Babel นำพายอดขาย-คำวิจารณ์ที่ดีมาให้ แต่ Wilder Mind งานชุดที่สามของวง แม้จะขึ้นอันดับ 1 อัลบั้มขายดีได้ทั้งที่อังกฤษและอเมริกาในสัปดาห์แรก แต่ไม่สามารถยืนระยะได้อย่างสวยสดงดงามสักเท่าไหร่ ขณะที่คำวิจารณ์ก็ออกมาขัดแย้งกันระหว่างดีกับไม่ดีอย่่างชัดเจน

ทั้งๆ ที่อัลบั้มชุดนี้ไม่ใช่งานที่เลวร้ายอะไร ตัวเพลงอาจจะไม่ใช่งานที่พร้อมจะฮิตติดหูในแบบป็อป แต่ไม่ใช่งานฟังยาก อย่างเดียวที่ทำให้แฟนๆ อาจจะเมินมอง นักวิจารณ์บางคนอาจจะไม่ชอบใจ ก็คือ ซาวนด์และทางดนตรี ที่มัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ ขยับจากจุดเดิมอย่างชัดเจน พวกเขาทำงานที่เป็นร็อคมากขึ้น ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า มีซาวนด์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ มากกว่าที่เคยเป็น

พวกเขาขยับตัวเองขึ้นไปเป็นวงร็อคเต็มตัว ไม่ใช่วงโฟล์ค-ร็อค แม้จะมีเพลงโฟล์ค-ร็อคให้ได้ยินบ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของอัลบั้ม เครื่องดนตรีอะคูสติคบางชิ้นที่เคยใช้ ไม่มีให้ได้ยินแล้ว

และทำให้นักวิจารณ์แตกกันเป็นสองฝั่งฝ่าย ด้านหนึ่งก็บอกว่าเป็นความก้าวหน้า เป็นการพัฒนา เป็นการไม่หยุดอยู่กับที่ของวง ด้านหนึ่งก็บอกว่าการใช้เครื่องไฟฟ้า ซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เพลงของพวกเขากระด้าง รวมไปถึงขาดจิตวิญญาณ ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกเพลงในอัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของงาน ทางของเมโลดี มุมมองที่ถ่ายทอดลงมาในเนื้อเพลง ยังคงเป็นมัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ เหมือนเดิม และการขยับดนตรีสู่งานที่หนักแน่นมากขึ้น นอกจากแสดงให้เห็นถึงการขยายขอบเขตเนื้องานในตัวเอง ก็ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของพวกเขา รวมถึงทำให้สารที่ส่งออกมา แรง ตรง เข้มข้น และหนักขึ้นไม่ต่างไปจากดนตรี

ก็แค่ซาวนด์ดนตรี ที่เปลี่ยน ที่ส่งผลให้ทางดนตรีแปลง ก็แค่นั้น ส่วนที่เหลือ ก็อย่างที่บอก ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากเดิม

แต่คงเป็นเพราะว่า ทางวงตัดสินใจทำแบบหักดิบ ไม่ประนีประนอม คลับคลาตอนที่บ็อบ ดีแลน หันมาเล่นดนตรีไฟฟ้า ซึ่งต้องนับถือหัวจิตหัวใจของมัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ กับความกล้า แล้วผลลัพธ์ทั้งหมดก็ออกมาลงตัว ผสมกลมกลืนกันเป็นอย่างดี ไม่มีอะไรที่น่าตำหนิ

ถ้าไม่ยึดติดก็จะสัมผัส และสนุกกับอัลบั้มชุดนี้ได้สบาย ๆแต่ถ้ายังหลงอยู่ในอดีต งานสองชุดก่อนของมัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์ ยังมีขาย หาซื้อได้ เชิญฟัง…

จากเรื่อง Wilder Mind อัลบั้มที่ทำด้วยหัวจิตหัวใจของ Mumford & Sonsโดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 4 กันยายน 2558

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านงานวิจารณ์หนัง และเพลง แบบนี้ ได้ด้วยการกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์กันไว้ก่อน ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Music Review

Comments are closed.