Concert ReviewREVIEW

ฟัง Piano Concerto No.4 และเรื่องเล่าของแบร์ลิออซ

จากที่ได้มาชมคอนเสิร์ตคลาสสิคัลที่ มหิดลสิทธาคาร นับตั้งแต่เสาร์ที่ 10 มกราคม นับต่อเนื่องกันมาแทบจะในทุกสุดสัปดาห์ ได้ชมการแสดงเดี่ยวทั้งเปียโน, ไวโอลิน และเปียโนกับไวโอลิน มาแล้ว

กับการแสดงเมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่ได้ชมการแสดงเดี่ยวเปียโนกับวงออเคสตรา โดยหนนี้เป็นบทเพลง Piano Concerto No.4 In G Major, Op.58 ของลุดวิด ฟาน เบโธเฟน ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็เคยมีการแสดงเดี่ยวเปียโนให้ได้ชมกันไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยเป็นเพลง P iano Concert No.5 in E-Flat Major, Op.73 ซึ่งนักเปียโนที่แสดงในวันนั้น เป็นมือเปียโนชายชาวอิตาเลียน – มาร์โค สเคียโว และมีคลอดด์ วิลลาเรท์ เป็นวาทยากร แต่หนนี้เป็นการแสดงของมือเปียโนหญิงชาวญี่ปุ่น – เอริ นาคากาวา ส่วนวาทยากรนั้น เป็นอัลฟองโซ สคาราโน ทีีเคยแสดงฝีไม้ลายมือให้เห็นมาแล้ว ในครั้งที่มีการเดี่ยวไวโอลินบทเพลงของพากานินี โดย ฟรานเซสกา เดโก

สำหรับสคาราโนนั้น เป็นหัวหน้าวาทยากรของวง Severoceska Filharmonic Teplice ในประเทศสาธารณรัฐเช็คมาตั้งแต่ปี 2013 และยังเคยได้รับรางวัลมากมายจากการแข่งขันวาทยากรในหลายๆ ประเทศ ส่วน เอริ นาคากาวานั้น ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลนี่เอง โดยจบการศึกษาจาก Osaka Kyoiku University ที่บ้านเกิด แล้วไปศึกษาต่อทางด้านเปียโนที่ Ball State University ในสหรัฐอเมริกา จนจบการในระดับปริญญาโทและเอกตามลำดับ

กับเพลง Piano Concert No.4 In G Major, Op.58 จากโปรแกรมโน้ต ได้ระบุว่าเป็นหนึ่งในบทเพลงที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของบทเพลงประเภทเปียโน คอนแซร์โต ทั้งในส่วนของโครงสร้าง และลีลาทางดนตรี โดยไม่ได้เป็นการบรรเลงที่มุ่งแสดงความเยี่ยมยอดของการบรรเลงเดี่ยว แต่เบโธเฟนได้แบ่งปันบทบาทระหว่างการบรรเลงเดี่ยวเปียโน และการบรรเลงร่วมของวงออเคสตราแให้มีความทัดเทียมกัน ซึ่งก็เห็นได้ชัดจากตอนต้นเพลง ที่เปียโนเป็นผู้เริ่มต้นทำนองหลักขึ้นมา บรรเลงอย่างอ่อนโยนก่อนที่จะส่งให้วงออเคสตรารับช่วง ซึ่งการแสดงของวงไทยแลนด์ ฟิลฮาร์มอนิคฯ กับนาคากาวา ดูจะเต็มไปด้วยความนุ่มนวล พลิ้วไหว รับส่งได้อย่างเหมาะเจาะ แม้การเล่นเปียโนของนาคากาวา บางช่วงจะมีลีลารุกเร้า ขึงขัง แต่ก็สัมผัสได้ถึงความอ่อนหวาน ที่แฝงอยู่ในเสียงเปียโนที่คมชัด

ทำให้การแสดงเพลงนี้ ดูลื่นไหล ไพเราะ มีมิติ และสีสันของดนตรีที่หลากหลาย

และในช่วงที่สองของการแสดง จะเป็นการนำเอาเพลง Symphonie Fantastique, Op.14 ของเฮคเตอร์ แบร์ลิออซ ซึ่งเป็นผลงานในระดับที่เรียกว่า มหากาพย์ทางดนตรี มาบรรเลง ด้วยความที่บทเพลงนี้ จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของศิลปิน (ซึ่งหมายถึงตัวผู้ประพันธ์เอง) ที่ล้มเหลวในความรักที่มีต่อสตรีผู้เลอโฉม ที่นำเสนอออกมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของการประพันธ์เพลงคลาสสิคัลในยุคโรแมนติค ที่ไม่ได้เน้นไปที่เรื่องความเป็นระเบียบของดนตรี หรือความสมดุลของโครงสร้าง ทำให้เพลงนี้ไม่ได้ยึดติดอยู่กับโครงสร้างของเพลง แต่เน้นบอกเล่าเหตุการณ์ อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในเรื่อง ศิลปินที่อยู่ในห้วงรัก คิดถึงนางอันเป็นดวงใจจนเก็บไปฝันร้ายว่าเขาได้สังหารเธอ และถูกตัดสินประหารชีวิต จนอยู่ในท่ามกลางบรรดาแม่มด และซาตาน โดยในเพลงแบร์ลิออซได้ใช้กลุ่มเครื่องดนตรีฟลู้ทและไวโอลิน บรรเลงแทนตัวหญิงสาวของศิลปินในเรื่อง

กับเรื่องราวที่มีมิติหลากหลาย ทำให้ในบางท่อนของเพลงนี้นั้น ฟังหลอนๆ ให้รู้สึกถึงอารมณ์อันผิดเพี้ยน บ้างก็ฟังรื่นรมย์สวยงาม บ้างก็เต็มไปด้วยความดุดัน น่าตื่นเต้น แต่การคุมวงของสคาราโนนั้น สามารถทำให้ตัวเพลงออกมาไม่ถึงกับกระแทกกระทั้น อึดอัด คุกคามความรู้สึกของผู้ชมมากนั้น โดยที่ยังสัมผัสอารมณ์ต่างๆ ในเรื่องได้อย่างสมบูรณ์

จนทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งค่ำคืนที่น่าประทับใจ สำหรับการชมการแสดงคอนเสิร์ตที่มหิดลสิทธาคาร
(หมายเหตุ: ข้อความอธิบายเพลงยกมาจากหนังสือสูจิบัตรการแสดง)

จากเรื่อง Piano Concerto No.4 และเรื่องเล่าของแบร์ลิออซ โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ 12 มีนาคม 2558

สามารถกดไลค์ Like เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

Comments are closed.