ตั้งแต่เดือนธันวาคม ไล่ไปจนถึงเดือนมีนาคมของอีกปี เป็นฤดูล่ารางวัลของหนังหวังรางวัล ที่เริ่มทะยอยฉายให้เห็นหน้ามาตั้งแต่เดือนตุลาคม ค่อยๆ เก็บคำชมเป็นประเดิม เป็นทุนเรียกร้องความสนใจ ให้ตัวเองเป็นแคนดิเดทบนเวทีประกาศรางวัล ที่สตาร์ทกันเดือนพฤศจิกาฯ แล้วก็แน่นมาเรื่อยๆ จนจบกันที่งานประกาศรางวัลออสการ์ และนี่คือบรรดาหนังที่ได้ชื่อว่า เกิดมาเพื่อล่ารางวัล ที่บางเรื่องก็ทำไม่ได้อย่างที่เกิด และไม่ได้มีเฉพาะหนังที่จะฉายให้ได้ชมกันในบ้านเรา
20th Century Women
สาวใหญ่วัย 50 ตัดสินใจเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวให้ลูกชายวัยรุ่น แต่ด้วยวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง และความเป็นขบถในตัวลูก ทำให้เธอต้องอาศัยความช่วยเหลือจากศิลปินสาวพังค์ สาวแซ่บจอมแสบข้างบ้านช่วยดูแล
จุดแข็ง: การแสดง นำหญิง – แอนเน็ทท์ เบนิง, สมทบหญิงของเกรตา เกอร์วิค
ออสการ์ว่าไง: ถ้าป้าแอนเน็ทท์ได้รางวัลออสการ์ซะที (เพราะไม่มีฮิลารี สแวงค์แล้ว) ก็คงเป็น Blue Jasmine ของปีนี้ แต่ถ้าปิ๋วนี่มัน The Kids Are All Right ชัดๆ
Allied
ปี 1942 เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองหนุ่มพบรักกับสาวพวกปลดปล่อยฝรั่งเศส และตกลงใช้ชีวิตร่วมกัน แต่แล้วความรักของพวกเขาก็กลายเป็นเรื่องตึงเครียด เมื่อฝ่ายหลังต้องสงสัยว่าเป็นสายลับเยอรมัน
จุดแข็ง: เผินๆ คือ ชื่อของนักแสดง แต่ที่แข็งแรงจริงๆ คืองานโปรดัคชัน
ออสการ์ว่าไง: ทำได้เต็มที่ก็แค่แบบที่หนัง Unbroken ของอดีตภรรยาแบรด พิทท์ – แองเจลินา โจลี ทำไว้
Arrival
เมื่อยานต่างดาวปรากฏขึ้นพร้อมส่งสัญญาณบางอย่างออกมา ทำให้รัฐบาลต้องพึ่งความสามารถของนักภาษาศาสตร์สาวช่วยตีความหมาย ในยามที่สถานการณ์ตึงเครียด-เปราะบางจนอาจเกิดสงครามล้างโลก
จุดแข็ง: ตัวหนังที่ชิงมาหลายเวที, ผู้กำกับที่ไม่ควรถูกมองข้ามอีก, เอมี อดัมส์ – ของตายบนเวทีรางวัล
ออสการ์ว่าไง: อาจจะคล้าย Room ที่นำหญิงเข้าชิงและเป็นแม่แทบทุกสถาบัน แต่เผื่อใจไว้ว่าอาจตกสวรรค์เป็น Gone Girl ที่หวืดเวทีใหญ่หมด ทั้งผู้กำกับ, หนัง และนำหญิง ก็ดีเหมือนกัน
Fences
อดีตนักเบสบอลตัวท็อป ต้องตกสวรรค์กลายมาเป็นคนเก็บขยะในพิตต์สเบิร์กห์ ยุค 50 ที่สร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้นภายในบ้าน เมื่อขยี้ความฝันที่จะเป็นนักอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยยับเยิน
จุดแข็ง: ตัวหนัง, ผู้กำกับ และ นำชาย-หญิง ที่เคยคว้ารางวัลใหญ่กันมาแล้วทั้งสองคน
ออสการ์ว่าไง: มีสิทธิกลับบ้านพร้อมรางวัลการแสดงสองตัวแบบ Dallas Buyers Club หรือกลับแบบ Selma ที่ได้รางวัลก็เหมือนไม่ได้ เพราะหนังน่าจะได้รับอะไรที่มากกว่านั้น
Florence Foster Jenkins
จากเรื่องจริงของ ฟลอเรนซ์ ฟอสเตอร์ เจนกินส์ สาวใหญ่ชาวนิว ยอร์ค เศรษฐินีมรดก ที่ฝันอยากจะเป็นนักร้องโอเปรา ทั้งๆ เสียงของเธอนั้นคือหายนะแห่งหู
จุดแข็ง: เมอรีล สตรีพ ขาประจำออสการ์ กับบทตัวละครจากเรื่องจริง แถมฮิวจ์ แกรนท์ ให้อีกคนก็ได้
ออสการ์ว่าไง: เป็นหนังที่คนรักแต่กลับบ้านมือเปล่าอย่าง Julie & Julia หรือดีกว่านั้นก็ประมาณ Iron Lady
Hacksaw Ridge
เรื่องราวของทหารอเมริกันในสงครามโอกินาวา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งช่วยชีวิตเพื่อนทหารได้ถึง 75 คน โดยไม่ยิงใครสักแอะ และได้รับเหรียญกล้าหาญในเวลาต่อมา
จุดแข็ง: เมล กิ๊บสัน ผู้กำกับที่เกิดใหม่คล้ายนกฟีนิกซ์, แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ – นำชายที่พ้นใยแมงมุมซะที
ออสการ์ว่าไง: จะเป็น The Thin Red Line หรือ Letter from Iwo Jima ก็ไม่ต่าง แต่มีโอกาสจบดีกว่านั้นแบบ Saving Private Ryan ไหม ตอบได้ว่ามี
Hidden Figures
สามหญิงสาวผิวดำ เจ้าน้าที่องค์การนาซา ที่เป็นมันสมองของโครงการสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ การส่งจอห์น เกล็นน์ ไปโคจรรอบโลก ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขันทางด้านอวกาศในทันที
จุดแข็ง: การแสดงล้วนๆ
ออสการ์ว่าไง: จะว่าไปก็คล้ายๆ จะเป็น The Help สำหรับปีนี้ แต่เผื่อใจไว้เป็น Carol บ้างก็ดี
Jackie
หลังการลอบสังหารจอห์น เอฟ เคนเนดี แจ็คกี เคนเนดี ต้องเจอสัปดาห์สำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นงานศพสามี, การจัดการกับความทุกข์และความเศร้าของตัวเอง และเลี้ยงลูกของทั้งคู่อีก 2 คน
จุดแข็ง: การแสดงของนาทาลี พอร์ทแมน ที่แทบจะทำให้เป็นหนังฉายเดี่ยว
ออสการ์ว่าไง: อาจจะเหมือนมิเชลล์ วิลเลียมส์ กับ My Week with Marilyn หรือแบบป้าซานดรา บูลล็อค จาก Blind Side ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
Lion
เด็กชายวัย 5 ขวบหลงกับครอบครัว และถูกชาวออสเตรเลียนรับไปเลี้ยง 25 ปีต่อมาด้วยกูเกิลเอิร์ธ, ความตั้งใจที่แน่วแน่ บวกความทรงจำไม่มาก เขากลับมาที่อินเดีย เพื่อตามหาครอบครัว ‘แรก’ ของตัวเอง
จุดแข็ง: ตัวหนังกับบทก็ถือว่าดี แต่ที่โดดเด้งก็เป็นการแสดงของน้านิโคล คิดแมน กับหลานเดฟ พาเทล
ออสการ์ว่าไง: มีอยู่สองเส้นทาง ว่าจะเป็น The Fighter ที่นักแสดงปิ๋วหนึ่งได้หนึ่ง หรือ American Hustle ซึ่งหวืดหมด แต่เอ๊ะ.. นี่มันหนังเดวิด โอรัสเซลล์ทั้งสองเรื่องเลยนี่หว่า
Live By Night
อเมริกายุค 20 แก๊งมาเฟียเติบโตเฟื่องฟู โจ คัฟลิน ลูกตำรวจบอสตันเลือกทางเดินคนละเส้นกับพ่อ เขากลายเป็นพวกอาชญากร แต่ดันไปเหยียบเท้ามาเฟียใหญ่ ฉกทั้งเงินทั้งหญิงมา จนชีวิตตกอยู่ในอันตราย
จุดแข็ง: ยากจะบอก พราะเปิดตัวฉายช้า ทำให้พลาดชิงรางวัลก่อนออสการ์หลายๆ เวที
ออสการ์ว่าไง: มีสิทธิตกชะตากรรมเดียวกับหนังเบน อัฟเฟล็คกำกับทุกเรื่อง Gone Baby Gone, The Town และที่พราวที่สุด Argo แต่โดยฉากหลัง ยุคสมัย หนังอาจกลายเป็น The Untoucables ของปีนี้
Manchester by the Sea
ชายผู้โดดเดี่ยวทำงานที่อพาร์ทเมนท์ในบอสตัน ต้องกลับบ้านหลังพี่เสียชีวิต และเขาต้องดูแลลูกชายวัย 16 ปีของพี่ โดยที่ตัวเองไม่เต็มใจ ที่สำคัญการกลับมาบ้านยังเผยเรื่องราวที่ไม่มีใครเคยพูดถึงออกมาอีกด้วย
ความเจ๋งของหนัง: พ่นกำแพงได้ว่าพ่อทุกสถาบัน เพราะเข้าชิงกวาดรางวัลมาเรื่อย หนังเยี่ยม บท โดยเฉพาะนำชายของเคซีย์ อัฟเฟล็ค
ออสการ์ว่าไง: มองมุมไหน หนังก็น่าจะจบแบบศพสวย แต่จะสวยน้อยแบบ The Big Short หรือสวยเริ่ดแบบ Birdman ก็ต้องลุ้นกัน
Miss Sloane
ล็อบบียิสท์สาวในวอชิงตันดีซี ที่พร้อมแหกกฎเพื่อลูกค้า กลับเปลี่ยนข้าง เมื่อถูกขอให้ช่วยต้านกฏหมายควบคุมอาวุธปืนฉบับใหม่ เธอเลือกไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามบริษัท จนหน้าที่การงาน และคนรอบข้างถูกคุกคาม
จุดแข็ง: เจสสิกา เชสเทน
ออสการ์ว่าไง: มาแบบหนึ่งเดียวคนนี้ มีแค่สองทางเลือก กลับบ้านแบบสมหวัง อย่าง Monster หรือแค่มานั่งดูแบบ Joy
Moonlight
บอกเล่าชีวิตของหนุ่มผิวดำตั้งแต่เด็กจนโต ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนสุดชีวิต ในไมอามีช่วงสงครามยาเสพติด ซึ่งจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิต และการเอาตัวรอดของเขาทั้งด้านที่เจ็บปวด และงดงาม
จุดแข็ง: อีกหนึ่งหนังที่เข้าชิงสาขาหลักๆ ได้แทบครบ ที่เด่นสุดก็คือ กำกับกับสมทบชาย-หญิง
ออสการ์ว่าไง: เนื้อหนังว่าด้วยชีวิตที่ลากยาว และมีเค้ารางวัลแบบนี้ เป็นไปได้ที่จะเป็น 12 Years a Slave แต่ถ้าแย่กว่านั้น ก็ต้องเป็น Selma (อีกแล้ว) สถานเดียว
Loving
คู่รักต่างสีผิวใช้ชีวิตร่วมกันในปี 1958 ที่เมืองเล็กๆ ในเวอร์จิเนีย พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิในการใช้ชีวิตร่วมกัน จนเรื่องไปถึงศาลสูง และทั้งคู่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคู่รักต่างสีผิวอีกมากมายนับจากนั้น
จุดแข็ง: การแสดงนำมา ทั้งนำชาย-นำหญิง ผู้กำกับ เจฟฟ์ นิโคลส์ ก็สอดแทรกได้ในหลายๆ สถาบัน
ออสการ์ว่าไง: ไปถึง Driving Miss Daisy คือดีที่สุด แต่ถ้าหลุดหมดไม่เข้าชิงอะไร มันก็จะกลายเป็น Jungle Fever ของยุคนี้
Silence
เรื่องของสองมิชชันนารี ที่ต้องเจอกับบททดสอบครั้งสำคัญ เมื่อเดินทางไปตามหาอาจารย์ของพวกเขาในญี่ปุ่น ยุคที่ศาสนาคริสต์เป็นเรืองผิดกฎหมาย และพวกเขาคือบุคคลต้องห้าม
จุดแข็ง: อีกเรื่องที่เปิดตัวช้า จนพลาดเข้าชิงรางวัลก่อนหน้าออสการ์ไปหลายเวที รวมทั้งลูกโลกทองคำ
ออสการ์ว่าไง: เรื่องราวของหนังทำให้นึกถึง The Mission หรือ The Last Samurai ซึ่งถ้าทำได้แค่นั้นก็น่าผิดหวัง และเสียดาย
Hell or High Water
เมื่อสองพี่น้องที่ต่างก็มีปัญหาส่วนตัว หนึ่งคือต้องการให้ลูกชายมีชีวิตที่ดี หนึ่งคืออดีตนักโทษจุดเดือดต่ำ ตัดสินใจปล้นธนาคารที่ยึดฟาร์มของพวกเขา โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เหลืออีกไม่กี่สัปดาห์มาขวางทางปล้น
จุดแข็ง: การแสดงของลุงเจฟฟ์ บริดเจส ส่วนบทของเทอรี เชอริแดน แห่ง Sucario ก็ใช้ได้
ออสการ์ว่าไง: ลุงบริดเจสมีโอกาสซ้ำรอย True Grit มากกว่าที่จะพลิกไปเป็น Crazy Heart
La La Land
หนุ่ม-สาวคู่หนึ่งที่มาตามหาความฝันที่แอลเอ เจอและพบรักกัน แล้วพยายามหล่อเลี้ยงความฝันให้มีชีวิต เพื่อที่จะกลายเป็นความจริงให้ได้ในวันหนึ่ง
จุดแข็ง: ครบเครื่อง ทั้งหนัง ทั้งกำกับ ทั้งนักแสดง รวมไปถึงโปรดัคชันดีไซน์ และเพลง
ออสการ์ว่าไง: น่าจะเป็น Chicago ของปีนี้ คงไม่มีทางร่วงไปเป็น Moulin Roug หรอกมั้ง
Nocturnal Animals
เจ้าของแกลลอรีสาว ที่ชีวิตกำลังมีปัญหาทั้งเรื่องงานและครอบครัว ได้รับนิยายฉบับก่อนตีพิมพ์จากแฟนเก่า ที่เมื่ออ่านไป ก็ทำให้เธอได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ในอดีตของเขาและเธออีกครั้ง
จุดแข็ง: การแสดงที่ไม่มียิ่งหย่อนไปกว่ากัน และบทที่เล่าเรื่องได้สุดมากๆ
ออสการ์ว่าไง: มีสิทธิที่เป็น The Girl with the Dragon Tattoo ที่ออสการ์ให้แค่มาชิง แล้วกลับบ้านพร้อมรางวัลเล็กๆ ปลอบใจ
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง หนังในฤดูล่ารางวัล คอลัมน์ ภาพยนตร์ นิตยสาร GQ เดือนกุมภาพันธ์ 2017