
ย้อนกลับไปในปี 1974 เอียน “เล็มมี” คิลไมสเตอร์ คือมือเบสของวงร็อกอวกาศระดับตำนานของอังกฤษ Hawkwind ที่จ้างคนต่างชาติ โจ เพทาโญ ชาวอเมริกันมาสร้างสรรค์บรรดานักรบอวกาศขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อนำไปใช้ตกแต่งร้ายขายแผ่นเสียง ในฐานะอุปกรณ์โปรโมตอัลบัมของวง เพทาโญกับเล็มมีเข้ากันได้เป็นอย่างดีแทบจะในทันที “เราไปกันได้ด้วยดี อย่าง ฟ้ากับนก หรือยิ่งกว่านั้น” เพทาโญเล่า “เขาบอกผมว่า เขากำลังตั้งวงของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า Bastard แล้วก็อยากได้โลโก แบบที่เป็นรูปมีหน้ามีตา แล้วก็มีความเป็นพวกสิงห์มอเตอร์ไซค์อเมริกันนอกกฎหมาย”
เล็มมีใช้ชื่อบาสทาร์ดได้ไม่นาน แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น Motorhead โดยเริ่มบันทึกเสียงอัลบัม ‘On Parole’ กันในปี 1976 แต่ทางค่ายเพลงยูไนเต็ด อาร์ทิสต์ ไม่ค่อยตื่นเต้นอะไรมากนักกับตัวงาน ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของดนตรีฮาร์ดร็อกกับดนตรีสปีดเมทัลยุคแรก ๆ ที่ไม่ค่อยจะเข้ากันกับบรรดางานที่ทางค่ายวางจำหน่ายได้เงิน ได้ทองเป็นกอบเป็นกำ จากศิลปิน อย่าง เคนนี โรเจอร์ส, Traffic และ War
พอปี 1977 มาถึง มอเตอร์เฮดก็ยังไม่มีอัลบัมออกมา เล็มมีเลยตัดสินใจจัดการแสดงที่ถูกวางเอาไว้ให้เป็นการแสดงครั้งสุดท้าย ที่มาร์คี คลับ ในลอนดอน แล้วขอให้ เท็ด แคร์รอลล์ ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลง ชิสวิก เรคอร์ดส มาบันทึกเสียงการแสดงครั้งนี้ แทนที่จะไปหาเวลาในห้องอัดเพื่อให้ทางวงบันทึกเสียง งานที่จะกลายมาเป็นอัลบัมชุดแรกชื่อเดียวกันกับวง โดยในตอนนี้เขากับเพทาโญ มีสัญลักษณ์ของวงเรียบร้อย โลโกระดับตำนาน “ไอ้เขี้ยวโง้ง” (Snaggletooth) พร้อมปรากฏตัวต่อหน้าชาวโลกแล้ว

โจ เพทาโญ
“มันเป็นภาพที่เกิดจากแรงบันดาลใจแสนบริสุทธิ์ทางศิลปะ มันเป็นรูปที่เกิดจากจินตนาการของผมเอง” เพทาโญ พูดถึงตัวประหลาดลักษณะคล้ายเหล็ก เขี้ยวโง้ง ยาวใหญ่ ที่นับตั้งแต่เปิดตัวให้โลกได้รับรู้ ก็จะไปอยู่บนหน้าปกอัลบัมแทบทุกชุดของมอเตอร์เฮด ที่ออกมาตลอดสามสิบปี ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ “ผมไปที่ห้องสมุด แล้วก็จำมันได้ จากนั้นก็ค้นคว้าเพิ่มเติมในเรื่องของกะโหลก ผมคิดถึงโลโกของแก๊งมอเตอร์ไซค์ เฮลล์ แองเจิลส์ ทำให้คิดได้ว่าน่าจะเอากะโหลกมาเป็นจุดเริ่มต้น ในที่สุดมันก็เข้ากันได้ดีกับเขี้ยวหมูป่าแบบสามมิติ แล้วก็โซ่ กับหนามแหลม ๆ”
กับงานที่ออกมา “เล็มมีกับเพื่อน ๆ คลั่งไปเลย พวกเขาซื้อ” เพทาโญ พูดอย่างกระตือรือร้น แต่พวกค่ายเพลงแหยง ๆ เพราะว่ามันเป็นภาพที่ดูรุนแรงเกินไปกับสภาพบรรยากาศในตอนนั้น ผมหมายความว่า คุณไม่ควรใส่เสื้อยืดของมอเตอร์เฮดเดินเข้าไปในโรงแรมที่ดูหรู ๆ และคุณก็มักจะถูกบอกให้อยู่นอกผับ ถ้าคุณใส่เสื้อตัวนี้ไปที่นั่น”
จริง ๆ แล้ว ในตอนแรกเพทาโญทำโลโกไอ้เขี้ยวโง้งออกมาสองแบบ แบบแรกจะดูล้ำ ๆ เป็นโลกอนาคต อีกอันจะดูดิบ ๆ เถื่อน ๆ “วงชอบอันที่มันดูเถื่อน ๆ มากกว่า แล้วก็ขอให้ผมเพิ่มน้ำลาย กับรอยแตกเข้าไปอีก” ผู้ออกแบบอธิบาย “จากเริ่มต้นไปจนจบงาน ผมคิดว่ามันน่าจะใช้เวลาราว ๆ 8-9 วัน รวมถึงเรื่องของตัวอักษร ที่เปลี่ยนจาก Bastard มาเป็น Motorhead ด้วยนะ”
ภาพต้นฉบับของเดิมเป็นภาพวาดบนกระดานด้วยหมึกอินเดียอิงก์ กับสีโปสเตอร์ และสีน้ำ โดยใช้แค่สีขาวและดำ เพทาโญใช้ปากกา, แปรงทาสี, เครื่องพ่นแอร์บรัช เพื่อให้ภาพมีเฉด และความโดดเด่น อย่างที่เห็น ภาพที่เสร็จสมบูรณ์ถูกวาดบนกระดานขนาด 24X32 นิ้ว ซึ่งยังอยู่ในการครอบครองของเพทาโญมาจนถึงทุกวันนี้
นับตั้งแต่ไอ้เขี้ยวโง้งถูกแนะนำให้โลกรู้จัก ตลอดเวลาหลาย ๆ ทศวรรษที่ผ่านมา เพทาโญต้องทำการสร้างสรรค์มันขึ้นมาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นร้อย ๆ หน “มันน่าตื่นเต้นดี ที่ได้ท้าทายตัวเอง ด้วยการพยายามสร้างภาพใหม่ ๆ จากสิ่งเก่า ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า และทำให้ตัวมันเองยังคงมีความน่าสนใจ” เขากล่าว “ผมคิดว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมจัดการกับมันได้ดี และเป็นเวลายาวนาน โดยทำเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ ก็คือ ไอ้เขี้ยวโง้งมันแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในบุคลิกภาพส่วนตัวของผม ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผมลงสีสารพัดเวอร์ชันของมันด้วยความพึงพอใจแท้ ๆ มีภาพไอ้เขี้ยวโง้งอีกไม่รู้กี่เวอร์ชันที่ไม่มีใครเคยเห็น มันกับผมเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีความเหมือนกัน จริง ๆ นะ มันเหมือนกับเป็นภาพสะท้อนในกระจก แล้วที่ผมอยากจะพูดก็คือ ถ้ามันทำงานได้ในเชิงธุรกิจ มันก็เป็นแค่เรื่องโบนัสพิเศษเท่านั้นเอง”
อัลบัม ‘Motorhead’ ของมอเตอร์เฮด ออกวางจำหน่ายในปี 1977
เป็นกำลังใจให้เราด้วยการสนับสนุนได้ที่นี่ https://facebook.com/becomesupporter/Sadaos/ หรือที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่