
It: Chapter Two หนังภาคต่อที่สร้างจากนิยายเล่มหนาเตอะของสตีเวน คิง ที่ถูกแบ่งเป็นสองเล่ม Chapter One และ Two ออกฉายเมื่อ 5 กันยายนที่ผ่านมา หลังภาคแรกได้รับคำชมมหาศาล ทำเงินมโหฬารจนหลายๆ คนอาจลืมไปว่า It เคยเป็นหนังโทรทัศน์ความยาว 180 นาที ที่ทิม เคอรี รับบทเพนนีไวส์จอมโหดมาแล้ว เมื่อฉบับหนังใหญ่ทำออกมาได้ดีขนาดนี้ ใครกันจะยังจำเวอร์ชันนั้นได้ และแม็ทธิว เชอร์นอฟ จากวาไรตีก็คัดหนัง 10 เรื่องจากนิยายของคิงที่ควรเอามาทำใหม่ มาแนะนำให้รู้จัก
The Dead Zone (1983): ยากมากกับการหาคนมารับบทจอห์นนี สมิธ คนไข้ที่ฟื้นจากโคมาพร้อมกับญาณวิเศษ ตัวละครที่เป็นศูนย์กลางของเรื่อง แทนคริสโตเฟอร์ วอลเคน ที่เล่นเอาไว้ได้อย่างหลอน แถมหนังของผู้กำกับเดวิด โครเน็นเบิร์ก ก็ดัดแปลงจากนิยายได้อย่างยอดเยี่ยม แต่เหตุผลที่น่านำกลับมาทำใหม่ก็คือ การขยายบทของเกร็ก สติลล์สัน นักการเมืองจอมวิปริตที่รับบทโดยมาร์ติน ชีนออกไปอีก เพราะนอกจากเรื่องของคิงจะมีฉากน่าพรั่นพรึงมากมายจากตัวละครจิตไม่ปกติรายนี้ ซึ่งไม่ได้เห็นในหนังต้นฉบับแล้ว สภาพการเมืองปัจจุบัน การให้สติลล์สันเป็นศูนย์กลาง น่าจะทำให้หนังฉบับใหม่ มีความน่ากลัวในตัวที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
Christine (1983): หนังรถผีสิงฉบับจอห์น คาร์เพนเตอร์ จับอารมณ์แบบถวิลหาอดีต และบรรยากาศหลอนๆ ของหนังสือได้ดี แต่ก็มีอย่างหนึ่งที่เป็นข้อยกเว้น ในหนัง-รถพลีเมาธ์ ฟิวรีปี 1958 ปรากฏตัวไม่ต่างไปจากรถปีศาจ ขณะที่ในหนังสือมันถูกสิงโดยวิญญาณของเจ้าของคนก่อน และมักปรากฏตัวเป็นซากศพน่าขยะแขยงช่างจ้อที่เบาะหลัง คาร์เพนเตอร์เองก็เสียใจที่ตัดสินใจเอาตัวละครรายนี้ออกจากหนัง เพราะฉะนั้นการนำมาทำใหม่น่าจะทำให้รายละเอียดของเรื่องเป็นไปอย่างถูกต้อง และสร้างความสะพรึงให้คอหนังสยองว่าด้วยเครื่องยนต์ รุ่นใหม่ได้พร้อมๆ กัน
Silver Bullet (1985): เป็นงานติดๆ ขัดๆ จากเอ็ฟเฟ็คท์มนุษย์หมาป่าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน, การเล่าเรื่องที่คุมโทนไม่อยู่ จนเรื่องของเด็กชายอัมพาตวัย 10 ขวบ ที่ต้องสู้กับมนุษย์หมาป่ากระหายเลือดในเมืองเล็กๆ ของนิว อิงแลนด์ กลายเป็นหนังห่วยๆ ที่สมควรนำมาทำใหม่ โดยเฉพาะในยุคที่การออกแบบตัวประหลาดดีขึ้น ถ้าได้การเล่าเรื่องมีทิศทางชัดเจน บวกกับบทนำที่ไร้ความสามารถ น่าจะทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้ ขึ้นจอได้อย่างสยดสยองเหมือนที่ตัวหนังสือทำได้สักที
Maximum Overdrive (1986): งานกำกับของคิง จากเรื่องสั้นในหนังสือชุด Night Shift ที่กลายเป็นหนังตลกโดยไม่ตั้งใจ กับเรื่องของกลุ่มคนบ้านนอกที่ติดอยู่ในร้านอาหารริมทางสำหรับพวกรถบรรทุกโดยสารพัดเครื่องจักร ถึงจะถูกกระหน่ำจากนักวิจารณ์ว่าเป็นงานระดับมือสมัครเล่น ตอนออกฉายครั้งแรก แต่ก็เป็นงานที่แฟนๆ รักในเวลาต่อมา ซึ่งต้องให้เครดิตกับอารมณ์ขันทะลึ่งๆ และองค์ประกอบที่ดูดี เมื่อดูจากความสำเร็จของหนังเกี่ยวกับรถอย่าง The Fast and the Furious และ Transformers การเอามาสร้างใหม่เป็นหนังแอ็คชัน สยองขวัญ น่าจะเรียกความสนใจจากคนดูได้
The Running Man (1987): คิงใช้นามปากกา ริชาร์ด บาคแมน สำหรับนิยายเรื่องนี้ ที่ว่าด้วยชีวิตในโลกหลังหายนะของเบน ริชาร์ดส์ คนธรรมดาๆ ที่เจอกับความย่ำแย่ในทุกวันไม่ต่างไปจากอีกหลายๆ คน เขาอาสาเข้าแข่งเกมเล่นซ่อนหาสุดโหดเพื่อเอาเงินมาจุนเจือครอบครัว แต่หนังดันเลือกคนอย่างอาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์มารับบท ทำให้ธีมเรื่องเปลี่ยนไปจากนิยาย แทนที่จะเป็นหนังระทึกขวัญที่มีความซับซ้อนเรื่องศีลธรรม เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งต้องเสี่ยงสละชีวิตตัวเองเพื่อให้เมียและลูกมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็กลายเป็นหนังไซ-ไฟ, ผจญภัย ที่ตัวร้ายดูเป็นการ์ตูน เรื่องเป็นเส้นตรงง่ายๆ การสร้างใหม่แบบยึดต้นฉบับเดิมน่าจะเป็นการกู้ความโดดเด่นของหนังสือกลับคืนมา
Misery (1990): ถึงจะเป็นหนังเขย่าขวัญออสการ์โดยผู้กำกับร็อบ ไรเนอร์ ว่าด้วยนักเขียนดวงซวยที่ไปเจอกับแฟนหนังสือโรคจิต ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในการดัดแปลงนิยายของคิงขึ้นจอได้อย่างยอดเยี่ยม แต่กับโลกวันนี้ที่เต็มไปด้วยแฟนๆ ผู้บ้าคลั่งและน่าพิศวง การนำมาทำใหม่น่าจะทำให้เกิดมุมมองสุดสยองใหม่ๆ ในความสัมพันธ์ที่ผิดเบี้ยวระหว่างคนอ่านกับคนเขียนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถโฟกัสที่เรื่องการติดยาอย่างจริงจังที่ถูกนำเสนอในหนังสือ ซึ่งไม่ได้ถูกใช้มากนักในการสร้างครั้งแรก แล้วสำหรับฉากทุบขาอันแสนสยอง การสร้างใหม่น่าจะทำให้ได้เห็นแอนนี วิลค์ส ใช้เลื่อยไฟฟ้าแทนที่ค้อนปอนด์แบบที่อยู่ในหนังสือขายดีเล่มนี้
Needful Things (1993): ต่อให้สาวกของคิงไม่อยากนับหนังเรื่องนี้ ที่เป็นเรื่องของปีศาจผู้เหี้ยมโหดเจ้าของร้านขายของเก่า ซึ่งทำให้เพื่อนบ้านต้องกลายเป็นศัตรูกัน อยู่ในสารบบหนังที่ดัดแปลงจากเรื่องของคิง แต่ความจริงก็คือ หนังสือก็ไม่ได้เจ๋งอะไร แม้จะยาวถึง 690 หน้า แต่อย่างน้อยก็เต็มไปด้วยวัตถุดิบที่สามารถสร้างฉากสยองๆ มากพอใส่ลงในซีรีส์ทีวีความยาว 2 ซีซันได้ บางทีหากได้คนอย่างอลัน บอลล์ หรือ ไรอัน เมอร์ฟี มาดูแล งานรีเมคที่ว่าด้วยเรื่องของร้านขายของเก่าน่าจะได้ลูกค้าใหม่ๆ ไม่น้อย
Desperation (2006): ถึงไม่ได้แตกต่างจากนิยายส่วนใหญ่ของคิง แต่เรื่องราวสุดสยองความยาว 700 หน้าเล่มนี้ ก็ยัดจินตนาการที่น่าขยะแขยงอันแสนรื่นรมย์ของคิงเข้าไประหว่างปกหน้าและหลังแน่นตึ้บ และผลลัพธ์ก็คือ กลายเป็นที่นิยมของแฟนๆ และสร้างคนอ่านรุ่นใหม่ให้คิงทุกๆ ปี โชคร้ายที่หนังซึ่งทำออกอากาศทางช่องเอบีซี เจอปัญหาเดียวกันกับสารพัดหนังที่ดัดแปลงจากงานของคิงตลอดยุค 1990s ไล่มาถึงยุค 2000s ที่ชื่อ มิค การ์ริส หากเปลี่ยนเป็นผู้กำกับอย่าง ไมค์ ฟลานาแกน (Gerald’s Game) หรือ แซ็ค ฮิลดิทช์ (1922) ที่ก็ไม่ได้เยี่ยมเท่าไหร่ มากุมบังเหียน งานมหากาพย์ฝันร้ายของคิงเรื่องนี้ ก็อาจจะพอมีความหวังขึ้นมาบ้าง
Bag of Bones (2011): เรื่องของนักเขียนที่จมอยู่กับความทุกข์ และต้องเผชิญหน้ากับวิญญาณจอมกราดเกรี้ยว ในบ้านฤดูร้อนของตัวเองที่เมน ซึ่งทำเป็นมินิซีรีส์เมื่อปี 1998 โดยเอแอนด์อี เจอตออย่างจังจากการเลือกนักแสดงที่ผิด ด้วยการให้เพียร์ซ บรอสแนนมาเล่น, ทิศทางของเรื่องก็สะเปะสะปะ แล้วก็ไม่มีฉากสยองเด็ดๆ แต่ถ้าหนังอยู่ในมือของเจ้าพ่อหนังสยองเรื่องเหนือธรรมชาติอย่าง เจมส์ วาน หรือ เจนนิเฟอร์ เคนท์ ฉากหลอนๆ หลายๆ ฉากในหนังสือ ก็น่าจะทำให้คนดูหลังเย็นวาบมากกว่าฉบับที่น่าอายซึ่งฉายในจอทีวีทำได้แน่ๆ
The Dark Tower (2017): เข้าใจได้ว่าแฟนๆ ของคิง ต้องผิดหวังกับหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายชุดแฟนตาซี ที่ได้รับคำชื่นชมและใช้เวลารอคอยมานานแสนนานเรื่องนี้ เมื่อกลายเป็นงานที่ดูสับสน, ฉากแอ็คชันก็ดูพื้นๆ, การแสดงทื่อๆ และเทคนิคพิเศษแบบดาดๆ แถมทำให้ทุกอย่างที่ในหนังสือเป็นความพิเศษออกมาดูแย่ๆ แม้จะมีข่าวว่าจะมีการทำเป็นฉบับฉายโทรทัศน์โดยแอมะซอน แต่การทำฉบับฉายโรงขึ้นใหม่ที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับ น่าจะสร้างความพอใจให้กับสาวกของนิยายชุดนี้ ที่รู้สึกผิดหวังกับหนังฉบับแรก
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง สิบหนังจากนิยายของสตีเวน คิง ที่ควรนำมาทำใหม่ คอลัมน์ หรรษา วันจันทร์ Happy Monday หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 9 กันยายน 2562
บนเวิร์ดเพรสส์ >