
ช่วงปลายยุค ’80s The Cure ภายใต้การนำของโรเบิร์ต สมิธ กำลังประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากอัลบัม ‘Kiss Me, Kiss Me, Kiss Me’ ที่ส่งให้พวกเขากลายเป็นวงอารีนา ร็อก แต่แทนที่จะก้าวต่อในทิศทางนั้น สมิธกับเพื่อนๆ กลับหาจุดเปลี่ยนให้ตัวเอง ลดกระแสลง ซึ่งแทนที่ความนิยมจะน้อยกว่าเดิม อัลบัมชุดที่ 8 ของพวกเขา ‘Disintegration’ ดันเป็นงานที่ส่งพวกเขาไปถึงจุดสุดยอดของความนิยม ด้วยงานดนตรีที่มีเสน่ห์ยั่วยวนจากความหม่นมืด กับความรู้สึกเคลิ้มฝัน ที่ทำให้ลุ่มหลง ดื่มด่ำราวกับถูกมนตร์สะกด
‘Disintegration’ มีทั้งงานมหากาพย์ท้าหูคนฟัง ท้าทายการทำงานของวง อย่าง “Pictures of You” มีทั้งเพลงพอปรุ่มรวยเสน่ห์ กระชับ ลงตัว เช่น “Love Song” แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ บรรยากาศหม่นทึม อาจจะฟังหลอน ๆ ล่องลอย หากก็มีแรงดึดดูดบางอย่าง ทุกเพลงสร้างสรรค์มาอย่างประณีตบรรจง และล้วนฝังอยู่ในความรู้สึก
ทำให้ ‘Disintegration’ ไม่ใช่แค่ประสบความสำเร็จทางการตลาด แต่ยังเป็นจุดสุดยอดของทิศทางดนตรีที่เดอะ เคียวร์ นำเสนอมาตั้งแต่แรก เมื่อพวกเขากลับไปหาดนตรีกอธิก ร็อก ที่เริ่มไว้จากอัลบัมที่ 2 ‘Seventeen Seconds’ เมื่อปี 1980 ตอนนั้นเดอะ เคียวร์ฉายความเป็นวงกอธิก ร็อกออกมาอย่างชัดเจน ตรงข้ามกับอารมณ์ดนตรีที่มัวๆ ทึมๆ รวมไปถึงภาพลักษณ์ชวนขนลุกของสมิธ
แต่ผลงานหลังจากนั้นกลับแตกต่าง พวกเขากลายเป็นวงพอปฮิต อัลบัม ‘Kiss Me, Kiss Me, Kiss Me’ ในปี 1987 ทำให้พวกเขาเป็นวงอารีนา ร็อก ออกทัวร์ยาว ๆ จนเกิดเครียด ขนาดลอล ทอลเฮิร์สต์ มือคีย์บอร์ดส์หันไปหาเหล้า จนทำงานทำการไม่ได้
สมิธในฐานะมือกีตาร์ และนักร้องนำก็กดดันกับความสำเร็จแบบพอป ๆ ของวง ทั้งยังชิงชังกับชื่อเสียงในอีกรูปแบบหนึ่งที่พวกเขาได้รับ ทำให้พาตัวเองเข้าไปสู่โลกของยาหลอนประสาท และอิทธิพลของมันก็ส่งผลกับการทำงานของวงเต็ม ๆ เมื่อพาผลงานของวงกลับไปสู่โลกแห่งความมืดของกอธิก ร็อกอีกครั้ง
ด้วยวัยที่อีกเพียงปีเดียวจะครบ 30 ทำให้สมิธเกิดหดหู่ ด้วยความที่รู้สึกว่า บรรดางานมาสเตอร์พีซทั้งหลายนั้น จะเกิดขึ้นก่อนศิลปินจะอายุเข้าเลขสาม เขาลงมือแต่งเพลงเพียงคนเดียวโดยปราศจากความช่วยเหลือของเพื่อน ๆ ซึ่งวัตถุดิบก็มีที่มาจากเบื้องลึกในจิตใจของเขาในตอนนั้น อารมณ์ ความรู้สึกของคนอายุจะ 30
สมาชิกในวงได้รับรู้ถึงอัลบัมก็ช่วงหน้าร้อนปี 1988 เมื่อสมิธเอาเดโมไปให้ฟังที่บ้านของบอริส วิลเลียมส์ – มือกลอง พร้อมถามว่า พวกเขาโอเคกับมันไหม ถ้าไม่ ทั้งหมดจะกลายเป็นงานเดี่ยวของเขาเอง “ผมดีใจสุดๆ ที่ทำเพลงพวกนี้ด้วยตัวเอง ถ้าวงไม่คิดว่ามันได้ มันก็ดี” แต่ผิดคาด ทุกคนชอบ และก็เริ่มเล่นดนตรีตามเดโม จากนั้นก็อัดเสียงทั้ง 32 เพลงที่บ้านของวิลเลียมส์ด้วยเครื่องอัด 16 แทร็คในช่วงซัมเมอร์นี้นี่เอง
เมื่อเข้าห้องอัด วงเอือมกับทอลเฮิร์สต์ ที่กลายเป็นขี้เมาหมดสภาพ สมิธเองก็มีความไม่พอใจเกิดขึ้น โดยมีสาเหตุจากความต้องการจะทำอัลบัมที่นิยามตัวตนของเดอะ เคียวร์ และการที่อายุจะครบสามสิบ แล้วกลายเป็นความไม่พอใจบรรดาเพื่อนร่วมวง ทำให้เข้าห้องอัดโดยไม่พูดไม่จากับใคร ซึ่งเขาบอกในภายหลังว่า “ผมเกือบจะเป็นพระแล้ว ไม่พูดกับใครหน้าไหน มันอาจจะฟังเหมือนโอ้อวดนะ แต่พอมองย้อนกลับไป จริง ๆ แล้วผมอยากให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความไม่พึงพอใจ” ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เขาทิ้งไปตอนทำ ‘Kiss Me, Kiss Me, Kiss Me’ หรือพวกเพลงพอปๆ ทั้งหลาย ความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายแว่บเข้ามาในหัวสมิธอยู่หลายหน
ไม่นานก่อนการอัดเสียงจะเริ่มต้น เด็กวัยรุ่นในเมืองใกล้ ๆ 2 คนฆ่าตัวตาย ยิ่งไปกว่านั้นทั้งคู่เปิดอัลบัมของเดอะ เคียวร์ยุคแรก ๆ ฟังไปด้วยขณะกระทำอัตวินิบาตกรรม สมิธเอาข่าวนี้มาติดบอร์ดในห้องอัด “ผมรู้ว่ามันน่าเศร้า แต่มันก็เป็นความหดหู่ที่ดูรื่นรมย์ เพราะเห็น ๆ กันเลยว่า ไม่มีอะไรมาเล่นพวกเราได้อีกแล้ว พวกเราถูกเลือกแล้ว”
กลับมาที่ทอลเฮิร์สต์ สถานการณ์ของเขาย่ำแย่หนัก ในวงไม่มีใครเอาเขา ส่วนสมิธที่ไม่ทำอะไรก็เพราะนี่คือเพื่อนเก่าที่ร่วมตั้งวงกันมา
จนในที่สุดทุกคนบอกว่าจะลาออก หากทอลเฮิร์สต์ไม่โดนไล่ออก และเขาก็ต้องไปในช่วงที่ทางวงกำลังมิกซ์เสียงงานชุดนี้ โดยสมาชิกทุกคนย้ำด้วยว่า ทอลเฮิร์สต์ ไม่มีส่วนทำอะไรในอัลบัมเลย ต่างไปจากคนอื่นๆ ที่สมิธออกมาบอกตอนหลังว่า ทุกคนในวงต่างมีส่วนร่วมในการทำงานมากกว่าครึ่งของอัลบัม
เมื่ออัลบัมเสร็จเรียบร้อย ซาวนด์ และบรรยากาศ ทำให้อีเล็กตรา เรคอร์ดส์ ต้นสังกัดของวงในอเมริกาถึงกับอึ้ง เมื่อตัวงานเต็มไปด้วยความหม่น ทึม ในแบบงานจากช่วงต้นยุค ’80s ของเดอะ เคียวร์ ผู้บริหารของอีเล็กตราขอให้สมิธเลื่อนการออกอัลบัมออกไป พร้อมกับย้ำว่า อัลบัมชุดนี้คือการฆ่าตัวตายทางธุรกิจของวง แต่สมิธไม่ยอม และเมื่อออกวางจำหน่าย ‘Disintegration’ กลายเป็นจุดสูงสุดในเรื่องธุรกิจของเดอะ เคียวร์
ในทางดนตรี ‘Disintegration’ มีลักษณะเฉพาะตัวจากการใช้ซินธิไซเซอร์ และคีย์บอร์ดส์ เสียงกีตาร์ที่เล่นเนิบช้า ให้เสียงและทางเดินคอร์ดโทนต่ำ ๆ กับเสียงร้องที่เหมือนกับการรำพึงรำพัน คร่ำครวญอยู่กับความคิดตัวเองของสมิธ โดยเพลงเปิดอัลบัม “Plainsong” คือเพลงที่วางอารมณ์ให้กับเพลงที่เหลือในอัลบัมได้อย่างลงตัว ขณะที่ “Closedown” ก็อัดเสียงคีย์บอร์ดส์มาหนาตึ๊บ ก่อนจะเติมเต็มด้วยเสียงกีตาร์ทึม ๆ ที่เนิบนาบ
ท่ามกลางความหม่นมัว มืดทึมของอัลบัม ก็ยังมี “Lovesong” ที่มาพร้อมกับความสดใส เป็นความแตกต่างในงาน และกลายเป็นเพลงฮิตในอเมริกา นี่คือเพลงที่สมิธแต่งให้กับแมรี พูล ภรรยาเป็นของขวัญในวันแต่งงาน จึงไม่น่าแปลกใจที่อารมณ์ของงาน หรือกระทั่งเนื้อเพลงจะแตกต่างไปจากเพลงอื่น ๆ สมิธเองก็รู้ถึงความจริงตรงนี้ และยอมรับว่า หากไม่มี “Lovesong” อัลบัม ‘Disintegration’ คงจะส่งผลกระทบที่แตกต่างออกไป “เพลงนี้ทำให้หลาย ๆ คนต้องกลับมาคิดอีกที ถ้าไม่มีเพลงนี้ เป็นเรื่องง่ายที่จะเมินอัลบัมชุดนี้ กับการที่มันมีอารมณ์แน่นิ่งอยู่เพียงทางเดียว แต่ถ้าจับเพลงนี้ไปให้พวกคนที่กำลังทุกข์ทนฟัง พวกเขาจะคิดขึ้นมาทันที เพลงนี้มันไม่เข้าพวกนี่”
ส่วน “Pictures of You” และ “Lullaby” ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย เพลงแรกแม้จะมีจังหวะสนุก ๆ แต่เรื่องราวในเพลงก็ปวดร้าว นี่คือเพลงที่ใช้ซินธิไซเซอร์สองคอร์ด ตบไหลไปทั้งเพลง แล้วทอด้วยเสียงกีตาร์ กับไลน์เบส ร้องเนื้อหาในทางโรแมนติก ด้วยอารมณ์ปรารถนา
“Lullaby” เสียงคอร์ดของกีตาร์ริธึมจะตอกเข้ามา พร้อมกับเสียงกระซิบของสมิธ ที่แต่งเพลงนี้มาจากความทรงจำถึงเพลงกล่อม ที่พ่อเขาร้องให้ฟังยามที่เขานอนไม่หลับ
‘Disintegration’ ออกวางตลาดในเดือนพฤษภาคม 1989 และขึ้นถึงอันดับ 3 ในอังกฤษ ซึ่งเป็นอันดับสูงที่สุดที่ทางวงทำได้ ส่วนซิงเกิลแรก “Lullaby” ก็เป็นเพลงของเดอะ เคียวร์ที่ติดอันดับสูงที่สุดในบ้านเกิด และขึ้นถึงอันดับ 5 ในอเมริกา อีเล็กตราต้นสังกัดปล่อย “Fascination Street” เป็นซิงเกิลแรก แล้วก็ตามด้วย “Lullaby” จากนั้นก็ถึงเวลาของ “Lovesong” เพลงของเดอะ เคียวร์ที่ขึ้นอันดับในอเมริกาสูงที่สุด เมื่อขึ้นถึงอันดับ 2 และในปี 1990 “Pictures of You” ซิงเกิลสุดท้ายของอัลบัมก็ขึ้นถึงอันดับ 24 ในอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่ตัวงานออกขายมาแล้วร่วม ๆ ปี
นับมาถึงวันนี้ ‘Disintegration’ ยังคงเป็นอัลบัมของเดอะ เคียวร์ที่ขายดีที่สุด ด้วยยอดกว่า 3 ล้านก็อปปีทั่วโลก ได้รับคำวิจารณ์ที่ดี และถูกยกย่องจากนิตยสารโรลลิง สโตน ให้อยู่ในอันดับที่ 326 ของ 500 Greatest Albums of All Time
ที่สำคัญที่สุด อัลบัมชุดนี้คืออัลบัมที่แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นเฉพาะตัวในเนื้องานของเดอะ เคียวร์ได้ดี และชัดเจนที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็น ไม่ว่าจะเป็นคนฟัง หรือสมาชิกของวงเอง “นับตั้งแต่นั้น ผมก็รู้ว่า บรรดาบริษัทเพลงไม่รู้ห่าอะไรเลยว่า เดอะ เคียวร์ทำอะไร และมีความหมายยังไง”
เมื่อปีที่แล้ว (2012) ฟิคชัน เรคอร์ดส์ ต้นสังกัดของเดอะ เคียวร์ ได้ออกอัลบัม ‘Disintegration’ แบบดีลักซ์ เอดิชันออกมา มีซีดีบรรจุถึง 3 แผ่น คือ งานต้นฉบับที่มีเพลงทั้งหมด 12 เพลง อยู่ในซีดีแผ่นแรก ซีดีแผ่นที่ 2 จะเป็นงานหาฟังยากของวง (Rarities) ที่ออกมาในช่วงปี 1988 – 1989 ซึ่งก็มีทั้งเดโมที่เป็นเวอร์ชั่นบรรเลง, งานที่อัดเสียงจากการซ้อม, งานที่เป็นการร้องไกด์ให้กับดนตรี, งานมิกซ์แบบหยาบ ๆ มีทั้งเพลงที่อยู่ในอัลบัม ‘Disintegration’ และไม่ได้อยู่รวมทั้งหมด 20 เพลง ที่หลาย ๆ เพลงก็คืองานเดโม ที่สมิธเอาไปให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกันในหน้าร้อนของปี 1988 ที่บ้านของบอริส วิลเลียมส์นั่นเอง ซึ่งทำให้เห็นถึงพัฒนาการของเพลงได้อย่างชัดเจน
ส่วนซีดีแผ่นสุดท้ายเป็นบันทึกการแสดงสดรวม 12 เพลงจากการแสดงที่เวมบลีย์ อารีนา เมื่อเดือนกรกฎาคม 1989
ทั้งสามแผ่นอยู่ในแพ็คเกจแบบดิจิแพ็ค มีบุ๊กเล็ตพิมพ์สี่สีสวยงาม บอกเล่าความเป็นมาของอัลบัม, เครดิตในการทำงาน และเนื้อร้องของเพลงต่างๆ
สมค่าความสำคัญของอัลบัม ที่ไม่ใช่เป็นเพียงหลักไมล์สำคัญของเดอะ เคียวร์ หากยังเป็นพิมพ์เขียวให้กับงานกอธิก ร็อกรุ่นใหม่ ๆ ในเวลาต่อมา
ALBUM PROFILE
อัลบั้ม: Disintegration ศิลปิน: เดอะ เคียวร์ แนวเพลง: กอธิค ร็อค ออกจำหน่าย: 1 พฤษภาคม 1989 บันทึกเสียง: พฤศจิกายน 1988 – กุมภาพันธ์ 1989 ที่ ฮุคเอนด์ เรคอร์ดิง สตูดิโอ, เชคเคนดอน, ออหศ์ฟอร์ ไชร์, ประเทศอังกฤษ ความยาวของอัลบั้ม: 71:47 สังกัด: ฟิคชั่น โปรดิวเซอร์: เดวิด เอ็ม อัลเลน, โรเบิร์ท สมิธ ซิงเกิ้ล: 1989 – Lullaby (อันดับในอังกฤษ 5 / อันดับในอเมริกา 74), Fascination Street (- / 46), Lovesong (18/ 2), 1990 – Pictures of You (24/ 71) อันดับสูงสุดในชาร์ท: UK Chart 3 / The Billboard 200: 12
จากเรื่อง DISINTEGRATION พิมพ์เขียวกอธิคร็อคของเดอะ เคียวร์ คอลัมน์ อัลบั้มคลาสสิค โดย ลุงทอย นิตยสาร Hip