
หลายครั้งหลายคราวที่เรื่องราวซึ่งถูกเล่าต่อๆ กันมา เป็นการบอกเล่าแบบผิดๆ อย่าง เดอะ บีช บอยส์ ก็แค่พาหนะขับเคลื่อนสำหรับบทเพลงที่พลุ่งพล่านและงานดนตรีที่เฉียบคมของไบรอัน วิลสัน จนคนมองข้ามการทำงานของเหล่าคนเก่งที่อยู่ข้างๆ เขา ที่วิลสันนำเอาทักษะและความสามารถทางศิลปะของตัวเอง มาสร้างเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นได้จากเสียงร้องของทุกคน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกละเลยมายาวนาน โดยเฉพาะเมื่ออัจฉริยะเจ้าปัญหาให้ความสนใจกับสิ่งที่สมาชิกวงสร้างขึ้นมาเป็นครั้งเป็นคราว และเมื่อหยิบอัลบัม Surf’s Up ในปี 1971 ที่สมาชิกในวง พากันแต่งเพลงแทนผู้นำมาฟัง จะพบเพลงวอลท์ซที่ฟังเศร้าสร้อย โหยหา “Disney Girls (1957)” ของ บรูซ จอห์นสตัน ที่เป็นหนึ่งในเพลงที่ดีที่สุดของอัลบัม
ในเวลาต่อมาอีกราวๆ 1 ทศวรรษ จอห์นสตันประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากเพลง “I Write The Songs” ของแบร์รี แมนิโลว์ แต่กับเพลงนี้ที่มาก่อน ถือว่ามีความแข็งแรงที่มากกว่า “ผมก็แค่แต่งเพลงไป” จอห์นสตัน พูดถึง “Disney Girls (1957)” ในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2011 “ซึ่งไม่ได้มีอะไรพิเศษมากไปกว่า เป็นเพลงเพราะๆ เพลงหนึ่ง ผมสามารถทอเสียงต่างๆ เข้าไปในเพลง จะอูห์หรืออาห์ ไม่ว่ามันจะเคยเป็นเพลงฮิตไหม แต่มันก็ขายได้หลายล้านก็อปปี เหมือนๆ กับอัลบัมของคนอื่นๆ คนฟังก็แค่ชอบมุมมองในเนื้อร้องของเพลง ซึ่งเป็นเพียงเรื่องบังเอิญอีกเรื่องที่เกิดขึ้น”
ถ้ายังไม่เคยฟังเพลงนี้อย่างลึกซึ้ง แค่ดูชื่อเพลง, ได้ยินเนื้อร้องที่อยู่ในเพลง เป็นเรื่องง่ายมากที่จะคิดว่า นี่คือเพลงถวิลหาอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่เดอะ บีช บอยส์รู้วิธีที่จะขายออกมา แต่ถ้าทำความเข้าใจกับมันจริงๆ ทั้งจากการอ่านเนื้อร้อง ทั้งได้ยินความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่ในเสียงร้อง “อูห์” และ “อาห์” จะตระหนักถึงโลกแบบแฟนตาซีที่ตัวละครในเพลงวุ่นวายอยู่กับมัน ด้วยมุมมองเชิงอุดมคติถึงความสุขที่เขาไม่เคยได้สัมผัส “Oh, reality, it’s not for me/ And it makes me laugh” เขาบอกเอาไว้ในเพลง แต่แทนที่จะใช้บางสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของความโรแมนติกจากอดีตกับอนาคตที่ปรารถนา มาสร้างบางอย่างให้เกิดขึ้น โลกใบนี้ก็เต็มไปด้วย ผู้หญิงที่ผมถูกม้วนเป็นลอน, แพตตี เพจ และ “a local girl in a smaller town” เรียบร้อยแล้ว
ส่วนเรื่องราวที่ไม่ได้ถูกบอกออกมาตรงๆ ก็คือ เพลงนี้มาจากนักดนตรีออกทัวร์ ที่นำการใช้ชีวิตอันวุ่นวายของการอยู่ในวงดนตรีที่โด่งดังที่สุดวงหนึ่งบนดาวดวงนี้ มานำเสนอ และเมื่อเขาร้องออกมาว่า “Guess I’m slowing down” ก็ไม่ได้ฟังเหมือนกับเขากำลังทำในสิ่งที่แย้งกับตัวตนที่เป็น เอาเข้าจริงๆ เขายังบอกออกมาเป็นนัยๆ ด้วยว่า การใช้ชีวิตในแบบใหม่ อาจจะดีกับชีวิตของเขาด้วยซ้ำไป “Just in time, words that rhyme/ Well, bless your soul”
ในท่อนเชื่อม ตัวละครนำครอบครัวมาพบกับเด็กหญิงลึกลับ ผู้เปลี่ยนเขาจากคนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ชีวิตไปเป็นคนที่นั่งเล่นบิงโกชิลล์ๆ ในโบสถ์ เขาถึงกับใช้คำว่า ‘swell’ มาอธิบายตัวเธอโดยไม่มีนัยในเชิงเสียดสี แล้วเมื่อมาถึงเนื้อร้องท่อนสุดท้าย ความปรารถนาเพื่อชีวิตที่เรียบง่ายของเขาก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น แต่เขากลับเสียใจกับการเดินมาบนเส้นทางที่ทำให้พลาดจากเด็กสาวในฝันและชีวิตในอุดมคติจากตอนแรก จนดูเหมือนว่าที่สุดแล้ว เขาพยายามหลีกเลี่ยงความเป็นจริงอย่างที่เป็นในตอนจบเพลง “Guess I’m going to stay/ It’d be a peaceful life/ With a forever wife/ And a kid someday.”
ส่งให้เพลงนี้กลายเป็นการคิดถึงความเป็นไปในอดีต จากมุมมองของผู้ชายคนหนึ่งที่ปฏิเสธโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อชื่นชมโลกอันเพ้อฝันจากอดีต โลกที่เต็มไปด้วยผู้หญิงในการ์ตูนของดิสนีย์ ในยามที่ตัวเองต้องมาฟังเพลงของแพ็ตตี เพจ หมักไวน์เองจากโรงรถ และจิบน้ำมาะนาวในร่มเงาของชนบท
ในแต่ละท่อนของเพลง ตัวละครจะให้คำมั่นสัญญา “Fantasy world and Disney girls/ I’m coming back” แต่เมื่อโอกาสที่เขาจะกลับไปอย่างที่สัญญาเอาไว้หมดไป ก็ทำให้ “Disney Girls (1957)” กลายเป็นเพลงที่เต็มไปด้วยบรรยากาศหวานอมขมกลืน และการที่ไม่มีไบรอัน วิลสันในเพลงนี้ ก็ไม่ใช่ปัญหา เมื่อบรูซ จอห์นสตันก้าวมาแทนพร้อมกับช่วงเวลาสำคัญที่เป็นของตัวเองในนามเดอะ บีช บอยส์
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง เบื้องหลังเพลงดัง “Disney Girls (1957)” จาก The Beach Boys คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ 24 มกราคม 2562