เป็นอีกหนึ่งผู้เข้าแข่งขัน ไทยแลนด์ ก็อท ทาเลนท์ ในปีแรกที่ได้รับการพูดถึง และกลายเป็นที่ฮือฮา ซึ่งจากความสำเร็จตรงนั้น ก็ต่อยอดกันมาเป็นงานในแบบอีพี 7 เพลง ของเธอเอง โดยออกมาภายใต้สังกัดโซนี่ มิวสิค และมีณรงค์ เดชะ มือทำดนตรีจากยุครุ่งเรืองของวงการเพลงไทย และอดีตหนึ่งในสมาชิกของสเตอร์ ดูแลการผลิตให้
เพลงของเบลล์เป็นป็อป เน้นความสดใสฟังสบายๆ ขายเสียงใสๆ ของอะคูสติคกีตาร์เป็นหลัก
บางเพลงอาจจะทำให้นึกถึงศิลปินรายอื่นๆ พอสมควรโดยเฉพาะเพลงเปิดอัลบั้ม เสียงที่เปลี่ยน ทำให้นึกถึง ซิงกูลาร์ ไม่ว่าจะเป็นทางเพลง หรือการใช้เสียงร้องของเบลล์ในช่วงต้นจนถึงกลางเพลง ขณะที่ในช่วงท้ายพยายามใช้การเปลี่ยนเสียงไปมา ระหว่างเสียงของผู้หญิงและชาย ที่เบลล์ทำได้เป็นอย่างดีมาเล่น แต่ก็ฟังไม่กลมกลืนนัก
เพลงส่วนใหญ่จะอยู่ในทางของเพลงเปิดอัลบั้ม ซึ่งก็ถือว่าฟังเนียนไปเรื่อยๆ แต่ก็มีบางเพลงอย่าง Paradise ที่สีสันแปลกหูด้วยทางของฟิวชั่นแจ็ซซ์อ่อนๆ เพลงเก่า ทำร้าย ของโยคี เพลย์บอย ก็ฟังสนุกกับดนตรีในแบบโซล-ป็อป รักคนรอ ดนตรีอาจจะมาเป็นป็อปตามสูตร แต่ก็ฟังสนุกกับการเล่นคำร้อง รักคนรอ-รอคนรัก ซึ่งฟังเป็นมุขที่เข้าที่ เข้าทาง เรื่องราวลงตัวกว่า หนังสติ๊ก ที่เป็นเรื่องของการเปรียบเปรยเยอะ
เพลงปิดอัลบั้ม ไม่ได้ขอให้มารัก เพลงจากหนังชื่อเดียวกัน อาจจะฟังโดดจากอัลบั้ม แต่ก็เป็นการทำงานกับทีมทำดนตรีอีกกลุ่ม แต่ก็จัดที่มาเป็นเพลงสุดท้าย เลยทำให้ไม่รู้สึกขัดเขินมากนัก
อาจจะเป็นอัลบั้มฟังเพลิน ดนตรีเนียนๆ เป็นงานป็อปละมุนหู ไม่แย่ และไม่ได้ดีเลิศจนถึงกับต้องยกยอกันมากมาย ที่น่าเสียดายก็คือ ใช้จุดเด่นในเรื่องเทคนิคการร้องของเบลล์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร หากเอามาเล่นได้ลงตัว ประเภทร้องรับส่งกัน ตัวงานน่าจะสนุกขึ้นอีกเยอะเสียงร้องรู้สึกได้ว่ายังแกว่งๆ แต่ก็ไม่กวนหูเท่ากับ การร้อง “ท” และ “ช” ที่น่าจัดให้ถ้อยชัดคำกว่านี้
เพราะเท่าที่ได้ยิน มันทำให้หงุดหงิดใจได้เป็นระยะๆ เหมือนกัน
จากเรื่อง เพลงของเบลล์ นันทิตา คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ 7 ธันวาคม 2555