แม้จะเป็นตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนเอง ก็ผลิตผลงานโดยไม่มีความหลากหลายในเรื่องแนวทางสักเท่าไหร่นัก เพราะนอกจากงานแฟนตาซี, ดรามา, เบาสมอง รวมไปถึงหนังสงคราม หรืองานหนังกำลังภายในแล้ว หนังไซ-ไฟจีนเองก็ดูจะมีน้อยมาก โดยเฉพาะหากนำไปเทียบกับงานไซ-ไฟจากฮอลลีวูด ที่เข้าไปทำเงินทำทองในจีนมากมาย
แต่สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อทางการจีนพยายามให้การสนับสนุนการสร้างหนังไซ-ไฟมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากการออกเอกสารฉบับใหม่ ที่เป็นการกำหนดนโยบายคร่าวๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างและพัฒนาภาพยนตร์ไซ-ไฟของประเทศ จากรายงานของ รีเบ็คกา เดวิส แห่ง Variety
เอกสารฉบับที่ว่าชื่อ Several Opinions on Promoting the Development of Science Fiction Films ที่ใจความสำคัญอยู่ที่การแสดงให้เห็นว่า หนังไซ-ไฟ เหมาะสมกับเป้าหมายทางเทคโนโลยีและแนวคิดที่ต้องการขยับขยายออกไป ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ สำหรับเอกสารฉบับนี้เพิ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม โดยคณะกรรมการจัดการดูแลภาพยนตร์แห่งชาติของจีน (China’s National Film Administration) กับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ซึ่งต่างก็เป็นหน่วยงานเพื่อผู้ประกอบอาชีพ
เอกสารดังกล่าวเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาหนังไซ-ไฟภายในประเทศ ที่โปรโมทความเป็นจีน และศักยภาพทางเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นผลสืบเนื่องจากกระแสความสำเร็จของ The Wandering Earth หนังไซ-ไฟบล็อคบัสเตอร์ ที่เน้นงานสเปเชียล เอ็ฟเฟ็คท์เรื่องแรกของจีน ซึ่งกลายเป็นหนังทำเงินตลอดกาลอันดับที่สามในประเทศจีน ด้วยรายได้ภายในประเทศถึง 691 ล้านเหรียญ
เพื่อสร้างภาพยนตร์ไซ-ไฟที่มีความแข็งแรง ในเอกสารฉบับนี้ระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญอย่างแรกที่ต้องทำก็คือ “ศึกษาและนำความคิดของสี เจิ้น ผิงไปใช้อย่างละเอียด” โดยมีที่มาจากการแถลงของประธานาธิบดีของจีนในอดีต ที่ให้ความสำคัญกับงานสร้างภาพยนตร์ ซึ่งบรรดาคนทำหนังควรทำตาม “ทิศทางที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง” เพื่อพัฒนาหนังไซ-ไฟ ที่ยังรวมไปถึงการสร้างภาพยนตร์ที่ “เน้นคุณค่าของความเป็นจีน, มรดกทางวัฒนธรรมและงานศิลปะของจีน, ปลูกฝังนวัตกรรมร่วมสมัยของจีน” ตลอดจน “เผยแพร่ความคิดในเชิงวิทยาศาสตร์” และ “ถ่ายทอดจิตวิญญาณของนักวิทยาศาสตร์” หนังไซ-ไฟของจีน ควรนำเสนอจีนในแง่มุมบวก ในฐานะชาติที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
เอกสารย้ำด้วยว่า จีนต้องการพัฒนาและควบคุมงานเทคนิคพิเศษด้านภาพ รวมถึงเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลของตัวเองให้มีการเติบโต เพื่อสนับสนุนการทำงานที่มีเนื้อหาเป็นงานไซ-ไฟ ขณะที่ความตึงเครียดกับทางตะวันตกเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากเรื่องความพยายามควบคุมเทคโนโลยีต่างๆ และการใช้อินเทอร์เน็ต
จากเนื้อหาดังกล่าวสรุปได้ว่า บรรดาบริษัทที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีในการทำเทคนิคพิเศษด้านภาพของจีน น่าจะได้รับการพิจารณาในเชิงยุทธศาสตร์ว่ามีความสำคัญ ในแบบเดียวกับที่พวกเขาได้รับจากการทำงาน “ตามนโยบายแห่งชาติเพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาซอฟท์แวร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในภาพรวม”
ประเทศควร “สนับสนุนการค้นคว้าและพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญๆ และรูปแบบของเครื่องมือในการทำงานต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานของงานเทคนิคพิเศษด้านภาพ ด้วยสิทธิพิเศษทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นอิสระ” รวมทั้ง “สนับสนุนการค้นคว้า-วิจัย และอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญๆ ที่มีส่วนในกระบวนการสร้างภาพยนตร์ และคุ้มครองลิขสิทธิ์ ในรูปแบบดิจิทัล” ที่ยังกินความไปถึง “สนับสนุนการค้นคว้า-วิจัย, ผลงาน และการใช้อุปกรณ์การสร้างภาพยนตร์ทำในจีนที่มีคุณภาพสูง” ซึ่การแลกเปลี่ยนการทำงานกับต่างประเทศที่เกิดขึ้น ควรเป็นการทำงานที่เสริมเป้าหมายดังกล่าว เนื้อหาในเอกสารไม่ได้มองแค่เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น ยังพูดถึงเรื่องการขาดแคลนหนังไซ-ไฟที่แข็งแรง ที่เป็นรากฐานเริ่มต้น เพราะขาดความคิดและบทภาพยนตร์ใหม่ๆ โดยระบุว่า ควรให้ความสำคัญกับการสร้างบทภาพยนตร์ไซ-ไฟที่แข็งแรง ผ่านคนทำงานที่ได้รับการอบรม และการจัดการแข่งขัน รวมไปถึงกระตุ้นให้บรรดาเทศกาลภาพยนตร์ มีการจัดเซ็กชันสำหรับหนังไซ-ไฟเป็นพิเศษ การดัดแปลงนิยาย, แอนิเมชัน หรือเกมที่มีเนื้อหาเป็นงานไซ-ไฟ ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อปลุกเร้าให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
นักเรียนโรงเรียนประถมและมัธยมควรได้ชม “ภาพยนตร์ไซ-ไฟชั้นเยี่ยม” ขณะที่บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ควรมี “การฝึกอบรมผู้มีพรสวรรค์เกี่ยวกับงานไซ-ไฟ”อย่างจริงจัง”
เพื่อขยายขอบเขตของภาพยนตร์ออกไป ในเอกสารยังแนะนำว่าจีนควรมีการก่อตั้ง สมาพันธ์โรงภาพยนตร์ไซ-ไฟแห่งชาติ แต่ไม่ได้มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าต้องมีการทำงานอย่างไร โดยปัจจุบันจีนมีสมาพันธ์อย่าง สมาพันธ์โรงภาพยนตร์อาร์ตเฮาส์แห่งชาติ ซึ่งจัดการกับหนังต่างๆ ที่ปล่อยฉายในวงจำกัด
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีน ไม่ได้พึ่งพาการดำเนินงานทางธุรกิจอย่าง การประกันงานสร้างภาพยนตร์ หรือกรรมธรรม์ค้ำประกัน เหมือนที่อื่นๆ นิยมทำกัน แถมนักลงทุนส่วนใหญ่ก็มักให้ความสนใจกับโปรเจ็คท์ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้อย่างรวดเร็วมากกว่า ทั้งสององค์ประกอบนี้กลายเป็นตัวขวางการผลิตหนังไซ-ไฟให้แข็งแรง เพราะเป็นหนังที่ต้องใช้เงินมากกว่า, มีความซับซ้อนมากกว่า และสร้างเสร็จช้ากว่างานที่มีการทำเทคนิคพิเศษใหญ่ๆ น้อยกว่า
เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และหาทางนำแหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่ของรัฐมาใช้ ในเอกสารแนะนำด้วยว่า สถาบันเงินทุนของจีน ต้อง “มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีเครดิต และปล่อยให้กู้แบบพิเศษ สำหรับงานที่มีลักษณะอย่างหนังไซ-ไฟ” รวมถึงรับประกันภัยนิติบุคคล สำหรับ “นวัตกรรมที่อยู่ในการพัฒนา ซึ่งถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับหนังไซ-ไฟ และการประกันอุบัติเหตุแบบกลุ่ม ตลอดจนการประกันภัยส่วนบุคคลสำหรับนักแสดงและทีมงาน”
บริษัทต่างๆ ควรกระตุ้นให้มีการพัฒนา ในแง่ของการ “บริการรับประกันทางการเงิน สำหรับหนังไซ-ไฟ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย”
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คงต้องมาดูกันว่า หากมาตรการต่างๆ ที่ระบุไว้ในเอกสารฉบับนี้ของจีน ได้รับการปฏิบัติจริงๆ ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร
โดย ฉัตรเกล้า เรื่อง เมื่อจีนเดินหน้าสนับสนุนการทำหนังไซ-ไฟ คอลัมน์ Special Scoop นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1313 ปักษ์แรกตุลาคม 2563