FEATURESMovie Features

เรื่องราวของหนัง Boyhood 12 ปีแห่งการสร้างสรรค์ กว่าจะเป็นหนังก้าวพ้นวัยของเด็กชายคนหนึ่งจนถึงวันที่เติบโต

Boyhood-poster-I-ตอนที่ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ เริ่มต้นถ่ายทำ Boyhood ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยังอยู่ในทำเนียบขาว, A Beautiful Mind เพิ่งได้รางวัลออสการ์, เอมิเน็มเพิ่งปล่อยเพลง Lose Yourself ออกมา และบราซิลคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกด้วยการเอาชนะเยอรมัน นั่นคือปี 2002 กับเวลา 12 ปีในการทำงาน ในช่วงเวลานั้นลิงค์เลเตอร์ทำหนังออกมาถึง 8 เรื่อง จาก School of Rock มาถึงหนังที่ได้เข้าชิงออสการ์เมื่อปีกลาย Before Midnight ถ้าไม่บอกว่าหนังเรื่องนี้คือผลพวงของความอดทนก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว

หากใช้คำนิยมของฮอลลีวูด ซึ่งใช้กันเกร่อ นี่คือหนังที่ “เฉพาะตัว” และ “ไม่เคยมีมาก่อน” อีธาน ฮอว์ค ว่าเอาไว้ เขาเป็นหนึ่งในนักแสดงของหนังเรื่องนี้ และเป็นขาประจำของลิงค์เลเตอร์มาราวๆ 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่ทำงานร่วมกันครั้งแรกใน Before Sunrise หนังเรื่องแรกในชุด Before เมื่อปี 1995 “ไม่เคยเลยในชีวิตของผม ที่ได้ทำอะไรที่ไม่เหมือนเรื่องอื่นๆ คุณเล่นหนัง Training Day แล้วมันก็เหมือนๆ The French Connection เข้าใจใช่ไหมว่าผมหมายถึงอะไร? นั่นคืองานที่เหมือนๆ เรื่องอื่นๆ”

การถ่ายทำรวม 39 วัน แต่กินช่วงเวลาถึง 12 ปี Boyhood แสดงให้เห็นถึงการเติบโต ของเด็กหนุ่มชาวเท็กซัส ที่ชื่อว่า เมสัน (นักแสดงหน้าใหม่ชื่อ เอลลาร์ โคลเทรน) และที่ร่วมเดินทางไปกับเขาด้วยก็เป็น พี่สาว (ในเรื่อง) ซาแมนธา (ที่เล่นโดย ลอร์เลล์ ลูกสาวของลิงค์เลเตอร์เอง) กับแม่ – โอลิเวีย (แพทริเซีย อาร์เคว็ทท์) ซึ่งในตอนเริ่มต้นถ่ายทำและเรื่องราว เธอกับเด็กๆ ต้องแยกจากสามี เมสัน ซีเนียร์ (ฮอว์ค) แล้วอะไรล่ะ ที่ตามมา ขณะที่เมสันกับซาแมนธาเติบโตเรื่อยๆ ชีวิตของโอลิเวียและเมสัน ซีเนียร์ก็มีทั้งขาขึ้นและขาลง นี่่คืองานดรามาที่ว่าด้วยส่วนเสี้ยวของชีวิต ในอารมณ์ที่คุ้นเคย และมหากาพย์ในความทะเยอทะยาน

“มักจะมีความพยายามที่จะสร้างหนังเกี่ยวกับการเติบโตออกมาเสมอๆ แล้วก็ต้องลดเรื่องราวมาเป็นช่วงหนึ่งของวัยเด็ก” ฮอว์คเล่า “กระทั่งหนังเยี่ยมๆ อย่าง To Kill A Mockingbird ก็เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่ง ที่เธอ (ตัวละครในเรื่อง) อยู่ในยุคที่พ่อตัวเองต้องเผชิญหน้ากับการเหยียดผิว มันเป็นเรื่องราวที่งดงาม แต่เป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งในวัยเยาว์ที่ถูกยกขึ้นมา สิ่งมหัศจรรย์มากๆ สำหรับ Boyhood ก็คือมันเป็นภาพชิ้นเล็กชิ้นน้อยของช่วงเวลาต่างๆ ที่มาแปะรวมกัน เป็นซีรี่ส์ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่สร้างความเป็นมนุษย์ขึ้นมา”

boyhoodลิงค์เลเตอร์ ศึกษาเรื่องความเป็นผู้ใหญ่มาแล้วใน Dazed and Confused เรื่องเวลาที่หมดไปกับความสัมพันธ์ก็มองไปแล้วจากหนังชุด Before ในวัย 53 ปี เขาครุ่นคิดถึงการทำหนังเกี่ยวกับวัยเด็กให้ออกมาสมจริงได้ยังไงมานานหลายปี “แต่ผมไม่ควรจะหยิบจุดใดจุดหนึ่งขึ้นมา” เขาเผย “ผมไม่คิดจะหยิบเอาช่วงเวลาหนึ่ง ที่ดูมีค่าราวกับเป็นทุกอย่างของชีวิตตัวเองขึ้นมา แล้วมันก็กลายเป็นที่มาของความคิดที่ว่า ‘เออ… แล้วสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตล่ะ?’ การปล่อยให้เรื่องราวต่างๆ คลี่ตัวเองตัวเองออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจนะ เป็นวิธีการใหม่ๆ ที่จะเล่าเรื่องซึ่งผมไม่เคยเห็นมาก่อน”

การให้คนดูได้เห็นตัวละครเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แบบนี้ เป็นงานที่ทำกันไม่บ่อย และหนึ่งในนั้นที่ใกล้เคียงกันก็คือ Up สารคดีชุดของไมเคิล แอพท์ ที่กลับไปดูชีวิตชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่ง ในช่วงเวลา 7 ปีเป็นระยะๆ แต่นั่นเป็นเรื่องจริง ไม่มีใครพยายามทำให้ออกมาเป็นงานแบบเรื่องแต่ง อาจจะเป็นเพราะความยากในการถ่ายทำกับบรรดานักแสดงชุดเดิม ที่ต้องกินเวลายาวนาน “เราไม่รู้เลยว่าจะทำยังไงกับหนังเรื่องนี้ดี!” ฮอว์ค พูดพร้อมเสียงหัวเราะ “คุณไม่มีทางเซ็นสัญญาผูกมัดกับใครเกินกว่า 7 ปีได้หรอก”

แล้วก็เป็นที่มาของการทำงานที่ไม่มีใครรับรู้ “หนังเรื่องนี้ผิดกฎหมาย!” ลิงค์เลเตอร์ ย้ำ “ผมไม่คิดว่าเรามีหลักประกัน เพราะงั้นงานส่วนใหญ่จึงเป็นงานนอกระบบ” ปัญหาแรกที่ต้องเจอก็คือ เรื่องเงินทุน “ผมพบกับผู้อำนวยการสร้างบางคน ที่ผมรู้ว่าพอมีเงิน” ลิงค์เลเตอร์ เล่า “พวกเขาจะทำท่าทางแบบ ‘โอ… เจ๋งไปเลย แต่เราต้องย้อนกลับไปตั้ง 12 ปีเลยเหรอ? เราพอจะเอาบางส่วนมาฉายทางโทรทัศน์ทุกๆ 3 ปีได้ไหม?’ ผมบอก ‘ไม่… นี่คือหนังใหญ่! และพวกเขาไม่ใช่แค่เอามือกุมหัว แต่ยังบอกอีกว่า ‘เราไม่ใช่ธนาคาร เราไม่สามารถปล่อยเงินให้ได้’”

BN-DP160_Boyhoo_G_20140708132559กระทั่งตอนที่ได้รับงบมากระจึ๋งหนึ่ง จากไอเอฟซี ฟิล์มส์ ในอเมริกา ก็ไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น สำหรับนักแสดงที่หลายเดือนที่ผ่านไป ต้องใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นประจำสักสัปดาห์หนึ่ง “ไม่มีแผนที่จะหนี!” ลิงค์เลเตอร์ พูดต่อ “ผมพยายามที่จะสร้างมันขึ้นมาภายใต้ความเป็นจริง ซึ่งนั่นก็ยากอยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิดถึงฉากหม่นๆ ร้ายๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น เราทุกคนล้วนต้องผ่านอะไรแบบนั้นในชีวิตอยู่แล้ว โทรศัพท์จะดังขึ้นมาในตอนไหนก็ได้ แล้วที่เราได้รับรู้ก็คือ ข่าวร้ายโคตรๆ ในชีวิต ซึ่งหนังเรื่องนี้ ไม่ได้แตกต่างไปเลยจากชีวิตของเรา”

ท้ายที่สุด ลิงค์เลเตอร์โชคดีที่ได้การอุทิศตัวอย่างมุ่งมั่นของบรรดานักแสดง และคนทำงานหลังกล้อง อาร์เคว็ทท์เล่นหนังเรื่องนี้ไป ระหว่างถ่ายซีรี่ส์ Medium ที่ยาว 7 ซีซันไปด้วย ทำให้ต้องมีการเจรจาใหม่ทุกปี “ฉันต้องขอเวลาพวกเขามาถ่ายหนังเรื่องนี้” เธอเล่า “และพวกเขาก็มีเวลามาให้ เพื่อที่ฉันสามารถกลับไปถ่ายหนังเรื่องนี้ได้” กระทั่งทีมงานที่ย้ายจากบ้านเกิดของลิงค์เลเตอร์ในออสติน ก็ต้องกลับมาถ่ายทำหนังในแต่ละช่วง ซึ่งกินเวลาเพียงไม่กี่วัน

แต่ที่ไม่มีใครรู้และคาดเดาได้ก็คือ โคลเทรน ที่อายุเพียง 6 ขวบตอนเริ่มถ่ายทำ “ตอนนั้น ผมเจอเด็กเยอะมาก และเขาก็ดูเป็นคนหนึ่งที่อยากวางเดิมพัน” ลิงค์เลเตอร์เล่า “มีความน่าสนใจ” และที่ช่วยมากๆ ก็คือ มี “ความเป็นศิลปิน และผู้ปกครองที่ดี” รวมไปถึงแรงส่งที่ดีอย่างการมานะพยายาม แต่ขนาดนั้นก็ยังมีเรื่องต้องห่วง… “เขาจะต้องไม่กลายเป็นพวกเด็กติดยา หรือน่าเบื่อ หรืองี่เง่า!” อาร์เคว็ทท์ พูดถึงนักแสดงคนสำคัญของหนัง “จะเป็นยังไงถ้าเขากลายเป็นพวกผิวขาวสุดโต่งจอมเพี้ยนน่ะ? ใครจะไปรู้?”

โชคดีอีกครั้งของลิงค์เลเตอร์ ที่โคลเทรนไม่เป็นอย่างที่ใครๆ ห่วง และโปรเจ็คท์แห่งความรักที่ใช้เวลาถึง 12 ปีในการทำงานก็เสร็จสิ้น กลายเป็นหนึ่งในงานล่ารางวัลของปีนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

จากเรื่อง 12 ปีแห่งการสร้างสรรค์ กว่าจะเป็นหนังก้าวพ้นวัยของเด็กชายคนหนึ่งจนถึงวันที่เติบโต BOYHOOD โดย ฉัตรเกล้า นิตยสาร เอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1167 วันที่ 1 กันยายน 2557

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.