ในเรื่องเล่าขานถึงตำนานของ Nirvana วงดนตรีของเคิร์ต โคเบน, คริส โนโวเซลิก และเดฟ โกรห์ล มักต้องการให้วงถูกมองว่า สร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นกับรสนิยมในการฟังเพลง ซึ่งไม่ใช่สิ่งเป็นไปถึงขนาดนั้นสักเท่าไหร่ นอกจากการย้ำกันบ่อย ๆ ว่าอัลบัม ‘Nevermind’ น็อคอัลบัม ‘Dangerous’ ของไมเคิล แจ็คสันหล่นจากอันดับหนึ่งชาร์ตอัลบัม ราวกับอัลบัมชุดนี้ไม่มียอดขายเกิดขึ้นเลยจนถึงวันที่เคิร์ต โคเบนกับเพื่อนพ้องปรากฏตัว นั่นคือสิ่งที่ชัค เอ็ดดีแห่ง Spin.com แสดงความเห็นเอาไว้
โดยเขายังบอกอีกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเล่าเกี่ยวกับเนอร์วานาเรื่องเดียว ที่ถูกเล่าต่อๆ กันมา ยังมีอีกเรื่องที่บอกว่าเนอร์วานาและดนตรีกรันจ์โดยรวม ๆ เป็นผู้กวาดหนุ่ม ๆ ที่ไว้ผมยาวสลวยหรือฟูฟ่องสะพายกีตาร์สีชมพูและร้องเพลงบัลลาด ออกไปจากโลกในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน
แต่หากมองย้อนกลับไป ในตอนที่ ‘Nevermind’ ขึ้นเถลิงบัลลังก์ในเดือนตุลาคม 1991 วงแฮร์แบนด์หรือแฮร์เมทัลตามแต่จะเรียกขานกัน ล้วนหายหน้าหายตาไปเรียบร้อยแล้ว
วงแกลมผมยาวหยิกหยองเช็ดมาสคาราและพยายามเผยด้านที่จริงจังมาก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ เห็นได้จากอัลบัม ‘Heartbreak Station’ ของ Cinderella ในปี 1990 ที่เป็นอัลบัมบลูส์-ร็อคแท้ ๆ, ‘Slave tho the Grind’ ของ Skid Row ที่ออกมาในเดือนมิถุนายน 1991 ก็สร้างความตกตะลึงไปทั่ว ด้วยการขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตโดยไม่มีซิงเกิลฮิต
บรรดาวงฮาร์ดร็อคที่ทำเพลงโจ๊ะ ๆ ออกมาจะว่าไปแล้วค่อย ๆ ทะยอยหายหน้าหายตาไปตั้งแต่ Guns N’ Roses และ the Cult สร้างชื่อโด่งดังขึ้นมาในช่วงปี ’88 รวมไปถึงตอนที่อัลบัมแรกของ Black Crowes ขึ้นถึงอันดับ 4 ในปี 1990
ในช่วงเปลี่ยนทศวรรษ กระทั่งวงเมทัลที่แจ้งเกิดสำเร็จก็ยังมาพร้อมกับความโดดเด่นเฉพาะตัวที่แตกต่าง Living Colour วงร็อคผิวดำจากแมนฮัตทัน นำโดยมือกีตาร์ที่อัดแน่นไปด้วยอิทธิพลของดนตรีแจซ, วงร็อคหัวโล้นจากฮุสตัน King’s X นำโดยมือเบสเกย์ผิวดำและเคร่งศาสนา – ดัก พินนิค, Faith No More หนุ่มๆ ซาวซานฟรานซิสโกที่เคยเล่นดนตรีโพรเกรสสีฟก็หันมาทำวงแร็ป-พังก์
ที่ชัดเจนยิ่งกว่านั้นก็คือ การเกิดขึ้นของทศวรรษแห่งลอลลาพาลูซา (Lollapalooza) ที่นำโดยวงดนตรีชาวแอลเอ. รุ่นใหม่ที่ค่อยๆ สร้างชื่อขึ้นมา อย่าง Jane’s Addiction ที่อัลบัม ‘Ritual de lo Habitual’ ของพวกเขาติดท็อปเทนในชาร์ตเมื่อปี 1990
โดยหนึ่งในเพลงร็อคสุดฮิต ปีก่อนหน้าการมาถึงของ “Smells Like Teen Spirit” ก็เป็นเพลงของวงดนตรีที่มาจากซีแอตเทิลเช่นเดียวกับเนอร์วานา “Silent Lucidity” จาก Queensryche ที่เหมือนงานตัดแปะของ Pink Floyd ในแบบที่คิดถึงความสำเร็จไว้ก่อน ด้วยการพุ่งเป้าไปที่แฟนเพลงความรู้น้อย มากกว่าจะทำคอนเส็ปท์อัลบัมที่ว่าด้วยเทคโนโลยี, ทฤษฎีต่าง ๆ
แล้วอะไรละ ที่เปลี่ยนแปลงหลังการมาถึงของเนอร์วานา? บางที… อาจจะเป็นทรงผม แล้วภายในเวลาสองปีต่อจากนั้น ทั้งสถานีวิทยุและเอ็มทีวีก็อัดแน่นไปด้วยวงดนตรีใหม่ ๆ ที่ปรับโฉมไปจากเดิมอย่าง Collective Soul, Candlebox, Live และ Silverchair จากนั้นสิ่งต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว เนอร์วานาไม่ได้ทำอะไรกับวงแฮร์แบนด์หรือแฮร์เมทัลเลย พวกเขาตายไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ ควีนส์ไรช์ ออกมา
ชัค เอ็ดดี สรุปไว้ว่าอย่างนั้น
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง เรื่องเล่าชาวร็อค จริงหรือเปล่าที่เขาว่ากันว่า Nirvana ฆ่าศิลปินร็อคผมยาว คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 12 มีนาคม 2563
ให้กำลังใจและสนับสนุนเราได้ที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วแจ้งมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนน้ำใจ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่