ในโลกที่ธุรกิจเพลงไม่ได้มีการขายเพลงเพียงแค่ในรูปแบบซีดี เทป หรือแผ่นเสียง หากยังมีการขายดาวน์โหลด และสตรีมมิง ซึ่งเป็นการขายเพลงในแบบที่อธิบายง่ายๆ ว่าเป็นการฟังเพลงทางอินเตอร์เน็ทในแบบที่ไม่ได้ดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่อง โดยผู้ใช้บริการจะจะค่าบริการฟังเพลงเป็นรายเดือน ซึ่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา กับแถบยุโรปนั้น นิยมกันมาก มีผู้ให้บริการที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง สปอติฟาย ขณะที่ในบ้านเราก็เริ่มมีผู้ให้บริการแล้วบางราย อย่างเช่น ดีเซอร์ ซึ่งมาจากประเทศฝรั่งเศส
งานนี้วงดนตรีรุ่นเก่าๆ ระดับตำนาน ที่ยังไม่ได้ขายสิทธิ์ให้ผู้ให้บริการรายไหนหลายๆ รายกำลังจับตามองธุรกิจนี้ เพราะเป็นอีกโอกาสหนึ่งในการขายเพลง โดยเฉพาะวงเก่าๆ เก๋าๆ และล่าสุดเลด เซพเพลิน วงร็อคระดับตำนานก็จะมาสร้างรายได้จากตลาดนี้บ้าง
เมื่อลุงๆ ทั้งหลายกำลังเจรจากับบรรดาผู้ให้บริการทั้งหลาย อาทิ สปอติฟาย, อาร์ดิโอ และแรพโซดี้ เพื่อให้สิทธิ์ในการนำเพลงไปใช้ โดยจะมีเพียงเจ้าเดียวที่มีสิทธิ์ในการใช้เพลงของพวกเขา ซึ่งหากใครได้ไปก็น่าจะทำให้บริการของพวกเขามีความแข็งแรงทางธุรกิจมากขึ้น เมื่อมองไปถึงยอดขายอัลบั้มของเลด เซพเพลินในช่วงที่ผ่านๆ มา ที่ขายได้ถึง 111 ล้านก็อปปี้ในอเมริกา โดยปีที่ผ่านมาปีเดียวขายได้ถึง 840,000 ก็อปปี้ แต่สิทธิ์ในการนำเพลงของวงไปให้บริการแบบสตรีมมิ่งแบบเจ้าเดียว คงจะเป็นในระยะเวลาสั้นๆ แบบเดียวกับที่เรด ฮอท ชิลี่ เพ็พเพอร์ส ให้สิทธิ์เฉพาะสปอติฟายไปเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้หลายๆ บริการก็มีเพลงของพวกเขาให้เลือกฟังแล้ว
ว่ากันว่าสัญญาฉบับนี้จะเป็นก้าวกระโดดสำหรับเลด เซพเพลิน ซึ่งก้าวแรกในโลกดิจิตอลนั้น ต้องรอกันจนถึงปี 2007 ถึงจะมีงานเพลงของพวกเขาเปิดให้ดาวน์โหลดผ่าน ไอทูนส์ สโตร์ ร้านขายเพลงออนไลน์ของแอปเปิล โดยวงระดับตำนานอย่าง พิงค์ ฟลอยด์ และเอซี/ดีซี ก็ยังไม่ได้ให้ผู้บริการขายเพลงแบบสตรีมมิ่งเจ้าไหนได้สิทธิ์ในการใช้เพลง แต่กับการดาวน์โหลดนั้น เพลงของเอซี/ดีซี เพิ่งเปิดให้บริการดาวน์โหลดผ่านไอทูนส์ ได้เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่วงร็อคอย่างเมทัลลิก้าก็เพิ่งให้สิทธิ์สปอติฟายนำเพลงไปให้บริการสตรีมมิ่งเมื่อปีก่อนเช่นเดียวกัน
ส่วนบ้านเรา คงต้องรอกันก่อนว่า บริการฟังเพลงสตรีมมิ่งจะเกิดได้เมื่อไหร่ ค่อยว่ากันต่อ
จากเรื่อง อีกก้าวในโลกดิจิตอลของ เลด เซพเพลิน คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์
หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 22 มกราคม 2556