ปี 2018 ผ่านไปเรียบร้อย พร้อมกับความทรงจำมากมายที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องดีและร้าย สมหวังและผิดหวัง กระทั่งในโรงภาพยนตร์ หนังหลายๆ เรื่องส่งให้เราเดินออกจากโรงอย่างมีความสุข แต่หนังบางเรื่องกับทำให้เราเป็นทุกข์กว่าจะถึงเอนด์ เครดิต
หลังจากที่ไม่ได้บันทึกถึงหนังที่ชื่นชอบมาหลายปี จริงๆ ก็มีเขียนไว้เพียงแต่ไปอยู่ในสื่ออื่นเท่านั้นแหละ 😀 ปีนี้เลยขอย้อนนึกถึงปี 2018 อีกครั้ง ว่ามีภาพยนตร์เรื่องไหนที่ได้ชม แล้วทำให้รู้สึกดีๆ เมื่อออกจากโรงกันบ้าง ในแบบสบายๆ ไม่ซีเรียส และก็ต้องออกตัวกันไว้ล่วงหน้า สำหรับการพลาดชมหนังหลายๆ เรื่อง อาทิ หนังส่งชิงออสการ์ของบ้านเรา – มะลิลา, หนังแอนิเมชันภาคต่อ ที่ใครๆ ชื่นชม The Incredibles 2 รวมไปถึงหนังเรื่อง Suspiria ที่นักวิจารณ์เมืองนอกชื่นชมกัน หรือว่า Burning แต่กับเท่าที่มีมาฝาก เชื่อเถอะว่าน่าหามาชมกันจริงๆ โดยเน้นกันที่หนังฉายโรงเป็นหลัก เพราะถ้าเอากันไปถึงหนังในระบบของเน็ทฟลิกซ์ งานนี้พื้นที่ 3-4 หน้าของคอลัมน์ก็อาจจะไม่พอ
THE FLORIDA PROJECT: อย่างแรกที่ชอบก็คือ การแสดงที่เป็นธรรมชาติ จากวิลเล็ม ดาโฟที่เหมือนลุงแก่ๆ คนหนึ่งซึ่งพบได้ในอพาร์ตเมนต์ที่ไหนสักแห่ง ถึงแม่หนู บรูคลีน ปรินซ์ที่แก่แดดแก่ลมแบบเด็กๆ ไร้เดียงสาเหลือเกิน หนังทำให้เห็นความพยายามหลบหนีโลกแห่งความจริงที่เลวร้ายของเด็กๆ ที่เริ่มจากสร้างโลกของตัวเองมาในโลกจริง แต่ท้ายที่สุด เมื่อหนีไม่พ้นก็ต้องโดดไปสู่พื้นที่จินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นมาในโลกแห่งความจริง ซึ่งทำให้ชื่อไทยเป๊ะกับเรื่องสุดๆ “แดน (ไม่) เนรมิต”
SHADOW: จากการใช้สีใน Hero จาง อี้ โหมวยกระดับการเล่าเรื่องของตัวไปอีกขั้นด้วยการใช้แสงและเงา ที่องค์ประกอบทุกอย่างถูกนำมาผสมกลมกลืนในแบบที่ไม่หลุดไปจากคอนเส็ปท์ที่คุมเอาไว้อย่างหนาแน่น ตั้งแต่ชื่อเรื่อง การนำเสนอ การเล่าเรื่อง ที่สัมผัสได้ถึงความแตกต่างของสองสิ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตัวจริง-ตัวปลอม, แสง-ความมืด, ชาย-หญิง, ของเหลว-ของแข็ง และที่อยู่บนยอดสุด หยิน-หยาง ที่สำคัญนอกจากไม่หลุด หนังยังสนุกและตรึงให้อยู่กับเก้าอี้ตั้งแต่ต้นจนจบ
I, TONYA: โดนมากๆ กับการเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์ ตัดสลับไปมาระหว่างการสัมภาษณ์ ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้หนังที่สร้างจากเรื่องจริงเรื่องนี้ ทั้งน่าเชื่อถือ ทั้งมีความจัดจ้าน ฉูดฉาดในการนำเสนอ ที่สามารถขับเน้นความแสบ – แซ่บ ของตัวละครและเรื่องไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นว่า ความหวังดีจากคนโง่ มันอัยตรายขนาดไหน มาถึงตรงนี้ก็คงไม่ต้องบอกว่า นักแสดงแต่ละคนทำหน้าที่ได้ดีขนาดไหน ไม่ใช่แค่ อัลลิสัน แจนนีย์ ที่กลับบ้านพร้อมกับรางวัลออสการ์
AVENGERS – INFINITY WAR: งานอลังการของมาร์เวล ที่ตัวเรื่องเหมือนกับเป็นแก้วที่รองรับทุกเรื่องราว ซึ่งเคยถูกเล่าจากหนังเรื่องอื่นๆ ในจักรวาล ซึ่งไม่ได้ขึ้นจอแบบน่าเวียนหัว ชวนสับสนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่น่าติดตาม ตัวละครแต่ละรายแม้จะมีความโดดเด่นที่ไม่เท่ากัน หากก็มีช่วงเวลาที่น่าจดจำของตัวเอง มีความสำคัญ ไม่ได้ถูกลืม หรือมาเพียงแค่ให้รู้ว่ามี และท้ายที่สุดคำถามที่หนังตั้งเอาไว้ และตัวร้ายอย่างธานอส ที่บางทีเราก็เกลียดไม่ลง
THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI: หนังเล็กๆ ที่มีบรรยากาศแบบหนังพี่น้องโคเฮนบางๆ ที่กลายเป็นของแรงขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีรางวัลเรื่องนี้ เป็นอีกเรื่องที่การแสดงคือความโดดเด่นของหนัง ซึ่งการมีนักแสดงเข้าชิงสาขาการแสดงของออสการ์ถึงสามคนคงบอกได้ดี แต่ที่เยี่ยมไม่แพ้กันก็คือ การเล่าเรื่องที่ค่อยๆ เข้มข้นขึ้นช้าๆ เหมือนน้ำที่ต้มด้วยไฟอ่อนๆ และทำให้เรื่องราวที่เล่าถึงการปล่อยวางและให้อภัย ว่าสวยงามขนาดไหนเมื่อเทียบกับความแค้น
READY PLAYER ONE: หนังสะกิดความทรงจำ (recognition cinema) ที่ทำออกมาได้โดนใจคนยุค 80 เมื่อหยิบสารพัดสิ่งจากยุคนั้นมาใส่ไว้ในหนังให้ได้นึกถึงมากมาย ในแบบที่ไม่สามารถละสายตาไปจากจอภาพยนตร์ได้เลย ที่สำคัญหนังยังเล่าเรื่องได้สนุก มาพร้อมพล็อตในแบบหนังวัยรุ่น ไซ-ไฟยุค 80 แถมยังเล่าเรื่องในแบบหนังยุคนั้น เน้นความบันเทิงแบบง่ายๆ และเต็มที่ โดยผู้กำกับที่ได้ชื่อว่า พ่อมดฮอลลีวูด จากยุคนั้น ที่ราวกับจะบอกว่า คาถาและเวทย์มนต์ของเขานั้นยังไม่หายไปไหน
A QUIET PLACE: สร้างความน่าสนใจได้ตั้งแต่พล็อต ขณะที่หนังตัวอย่างก็เรียกร้องความสนใจได้ดี เมื่อทำให้รู้สึกอยากรู้อยากเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ตัวละครต้องเผชิญหน้าคืออะไร และหนังจะอยู่บนเส้นทางสายไหน หนังผี หรือไซ-ไฟ แล้วพอได้ชมจริงๆ หนังก็ใช้ประโยชน์จากเรื่องมาสร้างบรรยากาศในโรงภาพยนตร์ และอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมจนรู้สึกไม่ต่างไปจากตัวละครในหนังอย่างได้ผล สังเกตุได้จากการที่ป็อปคอร์นในถังของแต่ละคนยังเหลืออยู่เกือบเต็ม เมื่อไม่มีใครกล้าหยิบกินก็ว่าได้
ROMA: เหมือนเป็นหนังบันทึกเรื่องราวชีวิตที่ศูนย์กลางอยู่ที่สาวใช้ในบ้านชนชั้นกลางที่กำลังมีปัญหาครอบครัว แล้วก็ถ่ายสวย แต่ถ้าปะติดปะต่อสิ่งต่างๆ ที่หนังนำเสนอด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ แล้ว Roma สามารถก่อให้เกิดประเด็นที่หลากหลาย ในแบบที่แล้วแต่ใครจะเห็น เหมือนมองเมฆก้อนเดียวกัน บ้างอาจมองเห็นเรื่องสิทธิสตรี บ้างอาจจะสัมผัสแง่มุมทางการเมือง บ้างอาจจะพบเรื่องสังคมตั้งแต่ระดับจุลภาคไปถึงมหภาค ที่ไม่ว่ามุมไหน แง่ใด ก็คมคาย มีเรื่องราวของตัวเองครบ
TULLY: เหมือนๆ กับเป็นภาคต่อ หรือไม่ก็เป็นกระจกอีกบานของจูโน ที่ว่าด้วยชีวิตคุณแม่ในยามตั้งครรภ์เหมือนๆ กัน แต่ประเด็นที่หยิบขึ้นมาเล่น ไม่ใช่วิบากกรรมของคุณแม่วัยใส แต่เป็นเรื่องสภาพจิตใจของคุณแม่หลังคลอด ที่ทำออกมาได้อย่างน่าพรั่นพรึง (แต่นำเสนอในโทนสดใส เหมือนเป็นหนังรอม-คอมเบาๆ) ในแบบที่หากคิดด้วยมุมมองในแง่ร้าย มันก็ไม่ต่างไปจากระเบิดเวลาในบ้าน ที่ต้องการการเอาใจใส่ และดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ชนวนมันดับสนิท
HEREDITARY: ชมไม่รู้สึกอะไรสักเท่าไหร่ตอนที่ชม กลัวไหม หลอนไหม คำตอบคือ ไม่ หากก็สัมผัสได้ถึงการแสดงชวนขนลุก และไม่น่าไว้ใจของ โทนิ คอลเล็ตต์ กับยัยหนูมิลลี ชาพีโร แต่พอออกกลับมานึกถึงอีกครั้ง ตอนนั้นละที่บรรยากาศหลอนๆ ความน่าพรั่นพรึง มันเริ่มก่อตัวขึ้นในความรู้สึก แล้วถ้าคิดต่อไปอีกให้ไกลๆ และลึกกว่าที่หนังแสดงให้เห็น อาจจะรู้สึกวาบแบบหวั่นๆ ขึ้นมาในความคิดได้ไม่ยากเลย ซึ่งทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ทำไมใครๆ ถ้าไม่ชอบก็ชังหนังเรื่องนี้ มีแค่สองหน้า
A STAR IS BORN: ในเรื่องราวที่ถูกเล่าไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง (กระทั่งตัวเองก็ถูกสร้างเป็นหนที่สี่) และช่วงท้ายดูหมดพลัง ช็อตไปดื้อๆ แต่หนังก็ทำให้ผู้ชมจดจ่ออยู่กับเรื่องราวที่เดาตั้งแต่ต้นจนจบได้สำเร็จ การเล่าเรื่องในอีกมุมมองยังทำให้หนังไม่ใช่ A Star is Born อย่างเคย แต่เป็น A Star is Burn และที่ลืมไม่ได้ก็คือเพลงทั้งหลายที่ความหมายเข้ากับเรื่อง โดยเฉพาะ “Shallow” ที่พาอารมณ์ผู้ชมพีคสุดๆ และแสดงให้เห็นว่า เลดีกากา คือ ดวงดาราที่มาจุติจริงๆ
LEAVE NO TRACE: อาจเป็นงานที่เต็มไปด้วยความหดหู่ ชีวิตของตัวละครก็ไม่ได้สวยงาม แต่ภายใต้เรื่องราวชีวิตหม่นๆ ของคนไร้บ้าน มนุษย์ที่ไม่อาจอยู่ร่วมสังคมกับคนทั่วไปได้ หนังก็เต็มไปด้วยความสวยงามของความสัมพันธ์ รวมไปถึงแสดงให้เห็นถึงการยอมรับความเป็นไปของกันและกัน ในแบบที่ไม่ฟูมฟายเมื่อแต่ละคนมาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต คนหนึ่งเปลี่ยนและปรับเข้ากับใครไม่ได้แล้ว แต่อีกคนเติบโตขึ้นและพร้อมจะมีชีวิตของตัวเอง
FIRST MAN: ถ้าคิดว่านี่คือหนังปฏิบัติการเหยียบดวงจันทร์ หรือประวัติของนีล อาร์มสตรองผู้ชายคนแรกที่ทำแบบนั้น หนังเล่าเรื่องที่เป็นแง่มุมส่วนตัวยิ่งกว่า กับการทุ่มทั้งตัวและหัวใจให้กับภารกิจ ที่ท้ายที่สุดก็คลับคลาภารกิจเพื่อครอบครัว แม้หลายๆ ครั้งเขาเหมือนจะลืมนึกถึงคนที่อยู่ข้างๆ ตัวก็ตามที และหนังก็ทำให้ภารกิจที่ดูยิ่งใหญ่ครั้งนี้ กลายเป็นภารกิจที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ไม่ใช่ภารกิจคุยโต โอ้อวด อย่างที่คนทั่วไปคิด หรือที่หนังพยายามบิลด์มาในตอนต้น
SHOPLIFTERS: หลายๆ คนคงยังนั่งอยู่กับเก้าอี้ ตอนที่เอนด์ เครดิตปรากฏบนจอ อึ้งไปกับชะตากรรมของตัวละครในหนัง โดยเฉพาะเด็กหญิงที่ถูกลักพาตัวไปอยู่กับกลุ่มคนจร ที่ใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแม่ที่แท้จริงของเธอแล้ว ต่างกันเหมือนฟ้ากับเหว เมื่อครอบครัวจริงๆ กลับให้สิ่งที่เธอควรได้รับไม่ได้ แต่กับครอบครัวที่ไม่มีความเกี่ยวพันทางสายเลือดอะไร กลับเต็มไปด้วยความอบอุ่น ที่ทำให้ย้อนไปนึกถึงความแข็งทื่อของตัวบทกฏหมายไปพร้อมๆ กัน
SEARCHING: การนำเสนอคือสิ่งแรกที่ถูกจดจำ เมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างของหนัง จะออนไลน์อยู่บน ‘จอ’ อุปกรณ์สารพัดที่เราใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ก็ต้องไม่ลืมตัวบทที่ทำให้เรื่องยังคงดูน่าติดตาม ลุ้น แถมยังมีสถานการณ์หักมุมพลิกผันไปมา โดยเฉพาะในตอนท้าย ที่ยากจะเดาได้ว่าเรื่องจะไปจบลงตรงไหน ซึ่งทำให้หนังนอกจากจะมีความสด ใหม่ ในการเล่าเรื่องแล้ว ยังสนุก ตื่นเต้น ราวกับเราเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครในเรื่อง ที่รับรู้ทุกอย่างร่วมกันกับพวกเขาผ่านจออุปกรณ์ที่เราถืออยู่ในมือ
ONE CUT OF THE DEAD: หนังซ้อนหนังซ้อนหนัง และซ้อนหนังอีกทีหากนับไปถึงเอนด์เครดิต ที่แสดงให้เห็นไอเดียของคนทำงานว่า ‘ข้น’ คลั่กขนาดไหน แม้ตัวหนังจริงๆ ที่ตัวละครในเรื่องทำ อาจจะไม่ใช่งานที่ดี ก็แค่หนังซอมบี้ทุนต่ำเวลาจำกัดในระดับถ้าไม่ห่วยก็ห่วยแตก แต่การทำงานของทีมงาน คือความทุ่มเทสุดๆ มาเต็มทั้งไหวพริบ ทั้งไอเดีย เพื่อให้ทุกอย่างลุล่วงไปได้ แม้จะเป็นแบบ สักๆ ให้เสร็จ จนอาจทำให้หลายๆ คนมองหนังแย่ๆ หลายๆ เรื่องด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง แผ่นฟิล์มเรื่องโปรด 2018 คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสาร เอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1271 ปักษ์แรกมกราคม 2562