FEATURESMovie Features

อำลา-อาลัย มิลอส ฟอร์แมน ผู้กำกับรางวัลออสการ์จาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest

มิลอส ฟอร์แมน ผู้กำกับชาวเช็คเจ้าของสองรางวัลออสการ์จากหนัง One Flew Over the Cuckoo’s Nest และ Amadeus ที่ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งตำนานของวงการภาพยนตร์ จากไปแล้วด้วยวัย 86 ปี เมื่อ 13 เมษายนที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา หลังจากป่วยมาเป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยมาร์ตินา ภรรยาของฟอร์แมน บอกกับสำนักข่าวของสาธารณรัฐเช็คว่า เขา “จากไปอย่างสงบ และรายรอบไปด้วยผู้คนในครอบครัวและบรรดาเพื่อนสนิท”

นอกจากผลงานที่ทำให้คว้าออสการ์มาครองแล้ว ฟอร์แมนยังมีผลงานที่ได้รับการยกย่องอีกมากมาย อาทิ Hair, Ragtime และ The People vs. Larry Flynt

โธมัส ชแลมเม ผู้อำนวยการของสมาคมผู้กำกับแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “มิลอสคือหนึ่งในพวกเรา เป็นคนทำหนัง, เป็นศิลปิน และผู้ปกป้องสิทธิ์ของศิลปิน เขาได้มอบผลงานการกำกับชั้นดี ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นงานสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำหนังหลายต่อหลายรุ่น วิสัยทัศน์ในการทำงานที่ละเอียดละออของเขาสามารถนำเอาเรื่องราวที่กระตุ้นความรู้สึก, การแสดงที่โดดเด่น และงานด้านภาพที่น่าจดจำ มารวมเข้าด้วยกัน เพื่อบอกเล่าถึงการต่อสู้เพื่อถ่ายทอดสิ่งต่างๆ และอำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเอง อย่างอิสระ ซึ่งถูกนำเสนอทั้งในผลงานและในชีวิตของเขา

“หนึ่งในคณะกรรมการและผู้ที่ได้รับเกียรติอย่างสูงจากสมาคมผู้กำกับแห่งอเมริกา ด้วยรางวัลเกียรติคุณในการทำงาน มิลอสคือผู้ปกป้องสิทธิ์ของศิลปินอย่างเต็มที่ตลอดชีวิตการทำงาน เขาขึ้นพูดหลายต่อหลายครั้งต่อหน้าสมาชิกรัฐสภาและผู้ชมทั่วโลก เกี่ยวกับเรื่องความสำคัญของสิทธิ์ในความคิดสร้างสรรค์ และการปกป้องศิลปินจากการถูกละเมิดสิทธิ์ดังกล่าว เขายืนหยัดต่อสู้ในนามบรรดาเพื่อนๆ คนทำหนังครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งเชื่อว่า การสร้างสรรค์ผลงานด้วยหัวจิตหัวใจและเป็นอิสระอย่างเต็มที่ในทางศิลปะ สามารถสร้างโลกที่แตกต่างขึ้นมาได้ และตอนนี้ก็เป็นทีของพวกเรา ที่จะพิสูจน์ว่าความเชื่อของเขาถูกต้อง เราจะคิดถึงเขาตลอดไป”

หลังทำหนังอเมริกันได้เพียงแค่เรื่องเดียวในตอนนั้น (1971) แถมงานซึ่งเป็นหนังตลกเสียดสีอย่าง Taking Off ก็ไม่ได้ใจผู้ชมเลย ต่อให้โดนใจนักวิจารณ์ทั้งหลายก็ตามที ฟอร์แมนไม่น่าจะเป็นตัวเลือกที่เข้าท่า สำหรับการกำกับหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายต่อต้านสังคม One Flew Over the Cuckoo’s Nest ของเคน เคซีย์ แต่ในที่สุดเขาก็สามารถสร้างสมดุลย์และวางเป้าหมายให้กับหนัง ซึ่งง่ายมากที่จะกลายเป็นการแสดงละครขึ้นจอได้สำเร็จ หนังรับคำชื่นชมมหาศาลและสร้างความนิยมเพียบให้แจ็ค นิโคลสัน นักแสดงที่ก้าวมามีชื่อเสียงได้อย่างรวดเร็ว กับการแสดงที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ชมทุกคนในปี 1975 เมื่อถึงค่ำคืนของออสการ์ One Flew Over the Cuckoo’s Nest กลายเป็นหนังเรื่องแรกนับตั้งแต่ It Happened One Night เมื่อปี 1934 ที่คว้ารางวัลแกรนด์สแลมของออสการ์ นั่นก็คือ รางวัลหนังเยี่ยม, ผู้กำกับเยี่ยม, นักแสดงนำชายและหญิง และบทยอดเยี่ยม (โดยเป็นบทดัดแปลง)

ตอนถ่ายทำ Amadeus เมื่อปี 1983 ฟอร์แมนไปตั้งกองกันที่เช็คโกสโลวาเกียบ้านเกิด และเลือก ทอม ฮัลซ์กับเอฟ. เมอร์เรย์ อับราฮัม สองนักแสดงละครเวทีที่ไม่มีใครรู้จักมารับบทโวล์ฟกัง อะมาดีอุส โมสาร์ท และคู่ปรับของเขา แอนโตนิโอ ซาลีเอรี ตามลำดับ แล้วก็ทำให้บทละครเวทีของปีเตอร์ แชฟเฟอร์ ขึ้นจอได้อย่างสนุกสนาน รวมไปถึงทำให้มีคุณค่ามากขึ้นด้วยงานสกอร์ที่เอาดนตรีแสนสง่างามของโมสาร์ทมาใช้ และทำให้ฟอร์แมนคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนตัวหนังยังได้รางวัลหนังยอดเยี่ยม, นักแสดงยอดเยี่ยมจากอับราฮัม และบทยอดเยี่ยม ทั้งหมดแล้ว Amadeus คว้าออสการ์ไปถึง 8 รางวัล แล้วยังเป็นหนังฟอร์แมนที่ทำรายได้มากที่สุดหลังจาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest มาจนถึงทุกวันนี้

ฟอร์แมนเกิดที่เมืองคาสลอฟ ใกล้ๆ กรุงปราก เด็กชายยาน โทมัส ฟอร์แมนถูกเลี้ยงดูโดยลุง และต้องไปอยู่ในบ้านอุปถัมภ์เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตในค่ายกักกันตอนสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจบการศึกษาจากคณะภาพยนตร์ของสถาบันศิลปะการแสดง (the Prague Film Faculty of the Academy of Dramatic Arts) ที่ปรากในปี 1957 เขาก็วางโครงร่างการแสดงแบบสื่อผสมที่โรงละคร ลาเทอร์นา มากิกา (Laterna Magika) ซึ่งได้รับคำชื่นชมอย่างมากในงานเวิร์ลด์ส แฟร์ ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อปี 1958 แต่ในปี 1961 เขาก็แยกตัวออกมาทำงานให้กับโรงถ่ายสาธารณรัฐเช็ค และกลายเป็นที่สนใจจากงานหนังความยาวระดับกลางๆ 2 เรื่อง The Talent Competition กับ If There Were No Music ตอนปี 1961 และปี 1963 ฟอร์แมนก็ได้ทำหนังยาวเรื่องแรก Black Peter ที่ไปคว้ารางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์ลูกาโน ที่นำไปสู่ผลงานที่ได้รับการชื่นชมในระดับนานาชาติเรื่องต่อมาอย่าง Loves of a Blonde และ The Fireman’s Ball

ด้วยสไตล์การทำงานที่เดวิด ธอมป์สัน นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์พูดย้ำเสมอๆ ว่า มีความเป็นงานในแบบเมโลดรามาและโดดเด่นในเรื่องของการด้นสด ฟอร์แมนกลายเป็นผู้กำกับหนุ่มที่น่าจับตามองในเช็คโกสโลวาเกีย ด้วยงานอย่าง หนังเสียดสี Loves of a Blonde ในปี 1966 และ The Firemen’s Ball ในปี 1968 โดยหนังเรื่องหลังยังถูกห้ามฉายในบ้านเกิดอีกต่างหาก เพราะว่าเสียดสีเรื่องวิธีคิดของระบบระเบียบราชการ

เดือนสิงหาคม 1968 ฟอร์แมนหลบมาอยู่ที่ปารีส หลังจากกองทัพรถถังรัสเซียบุกเช็คโกสโลวาเกีย ซึ่งเป็นการยุติยุคฟื้นฟูศิลปะของประเทศในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอว์ประเทศนี้เอาไว้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นเขาก็ย้ายมาที่นิว ยอร์ค เหมือนๆ อิวาน พาสเซอร์ ผู้กำกับชาวเช็คที่เขียนบท Loves of a Blonde กับฟอร์แมน ขณะที่หนังอเมริกันเรื่องแรกของเขา Taking Off ที่มีสไตล์และการนำเสนอคล้ายๆ กับงานยุคแรกๆ ของตัวเอง ออกฉายพร้อมรับคำวิจารณ์ที่ดี แต่ก็ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับฟอร์แมนในฐานะผู้กำกับอเมริกันได้ เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จทางการตลาด งานต่อมาของฟอร์แมนก็คือกำกับ The Decathlon ตอนหนึ่งของหนังสารคดี Visions of Eight ที่เป็นการรวมหนังสารคดีที่ว่าด้วยโอลิมปิคของผู้กำกับหลายต่อหลายคน

ตลอดหลายปีหลังจากนั้น ฟอร์แมนได้กำกับหนังอีกไม่กี่เรื่อง และสถิติหนังอเมริกันของเขาก็ไม่ได้สวยหรูนัก แต่ One Flew Over the Cuckoo’s Nest ทำให้เขากลายเป็นผู้กำกับระดับ เอ-ลิสท์ หากเขาก็ต้องรอถึง 4 ปีกว่าจะมีหนังเรื่องใหม่ออกมาต่อจากนั้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการทำงานที่เต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับเขา Hair สร้างจากละครเพลงสุดฮิตยุค 60 ทว่าเรื่องราวดูเหมือนจะพ้นสมัยไปแล้วสำหรับการนำมาขึ้นจอภาพยนตร์ แถมการนำเสนอที่ดูเรียบง่ายของฟอร์แมนก็ดูไม่เข้ากับหนังเพลงอีกต่างหาก อีกหลายปีต่อมา เขาทำได้ดีกว่ากับ Ragtime ในปี 1981 ที่ในแง่ของการดัดแปลงนิยายขายดีของอี.แอล. ด็อคโทโรว์ ที่ศูนย์กลางเป็นเรื่องของหลายชีวิตที่ต้องมาเจอกันในศตวรรษที่ 20 ถือว่าส่วนใหญ่ทำได้ในระดับเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่หนังไปได้ไม่ดีเลยในบ็อกซ์ออฟฟิศ

แม้จะประสบความสำเร็จทั้งเงินและกล่องอีกครั้งจาก Amadeus แต่หลังจากนั้นแล้ว ฟอร์แมนไม่เคยทำได้ในระดับนี้อีกเลย

งานต่อจากนั้นของฟอร์แมน Valmont ออกฉายในปี 1989 โดยเป็นการดัดแปลงจากนิยายย้อนยุคของฝรั่งเศส Les Liaisons dangereuses ที่เขาร่วมเขียนบทด้วย โดยมีโคลิน เฟิร์ธ และแอนเน็ทท์ เบนิง นำแสดง แม้จะขึ้นจอด้วยความงดงามและความเฉียบคมของบทสนทนา แต่หนังเจอปัญหากับการถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Dangerous Liaisons ที่จอห์น มัลโควิช และเกล็นน์ โคลสส์ รับบทนำ ซึ่งมีความเป็นดรามามากกว่า และออกฉายก่อนหน้าเพียงปีเดียว ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ฟอร์แมนไม่ได้กำกับหนังอีกเลย จนกระทั่งปลายยุค 90 เขาก็มีงานเสียดสีออกมาให้ชมถึงสองเรื่องไล่ๆ กัน เริ่มจาก The People vs. Larry Flynt หนังเบาสมองที่ได้รับคำชมเป็นอย่างดี ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมูญครั้งแรกซึ่งถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นโดย แลร์รี ฟลินท์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสารฮัสท์เลอร์ ที่ในหนังรับบทโดย วูดี ฮาร์เรลสัน แม้จะได้คำวิจารณ์ที่ดี แต่หนังก็ทำรายได้แค่พอประมาณในบ็อกซ์ออฟฟิศ ถึงกระนั้นก็ส่งให้ฟอร์แมนเข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมออสการ์ในปี 1996

หนังเรื่องต่อมา Man on the Moon ออกฉายปี 1999 ว่าด้วยชีวิตของนักแสดงตลกแอนดี คอฟแมน ที่ผิดแปลกไปจากคนอื่นๆ ทั่วไป ได้รับคำวิจารณ์ที่ไม่ดีนัก แต่ก็ทำให้จิม แคร์รีย์ กลายเป็นที่สนใจในบทคุณภาพมากขึ้น

หลังจากนั้นฟอร์แมนก็หายไปถึง 7 ปี ก่อนจะกลับมาในปี 2006 ด้วย Goya’s Ghosts ซึ่งเขาพยายามที่จะสืบเสาะเรื่องราวชีวิตของจิตรกรชื่อดังโกยา กับสงครามในยุคนโปเลียน หนังได้นาทาลี พอร์ทแมน, ฆาเบียร์ บาร์เด็ม, สเตลเลน ซาร์สการ์ด และแรนดี เควด นำแสดง

อีกสามปีต่อมาฟอร์แมนกับปีเตอร์-ลูกชาย ก็ร่วมกันทำหนังภาษาเช็ค A Walk Worthwhile ซึ่งนำเอางานที่ฟอร์แมนเคยทำให้กับสถานีโทรทัศน์เช็คโกสโลวาเกีย เมื่อปี 1966 มาทำใหม่

ฟอร์แมนกับวาแคลฟ ฮาเวล เคยร่วมกันดัดแปลงนิยายเกี่ยวกับข้อตกลงที่มิวนิค ซึ่งฮิตเลอร์ผนวกเอาดินแดนซูเดนเทนแลนด์ (Sudentenland) ของเช็คโกสโลวาเกียไปเป็นของเยอรมันนีในปี 1938 แต่ก็ไม่คืบหน้าไปถึงไหน เขายังพยายามพัฒนาเรื่องราวของชาร์ลส์​ พอนซี นักหลอกลวงที่มีชีวิตอยู่ตอนต้นทศวรรษที่ 20 ซึ่งชื่อของเขาถูกนำมาใช้เรียกพฤติกรรมการฉ้อโกงแบบแชร์ลูกโซ่ว่า the Ponzi scheme แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ไม่ใช่แค่ทำหนังแต่เพียงอย่างเดียว ฟอร์แมนยังเป็นผู้อำนวยการร่วมดูแลรายการภาพยนตร์ให้กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ตลอดจนไปปรากฏในหนังอย่าง Keeping the Faith, Heartburn และ New Year’s Day แล้วยังเคยเป็นประธานคณะลูกขุนในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 1985 และเทศกาลภาพยนตร์เวนิซในปี 2000

ฟอร์แมนแต่งงานในเช็คโกสโลวาเกีย 2 ครั้ง ครั้งแรกกับนักแสดงสาว ยานา เบรโชวา ที่เป็นน้องสาวของนักแสดงนำหญิงในหนังเรื่อง Loves of a Blonde ของฟอร์แมน หนที่สองกับวีรา เครสดิโอวา ที่เป็นแม่ลูกชายฝาแฝดของฟอร์แมน – ปีเตอร์กับมาเทจ ในปี 1998 เขาก็แต่งงานเป็นหนที่สามกับมาร์ตินา ซบอริโลวา ที่ให้กำเนิดลูกชายฝาแฝดกับเขาอีกคู่ แอนดรูว์และเจมส์

โดย ลุงทอย เรื่อง มิลอส ฟอร์แมน ผู้กำกับรางวัลออสการ์จาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest คอลัมน์ อำลา-อาลัย นิตยสารเอนเตอร์เทนฉบับที่ 1255 ปักษ์แรกพฤษภาคม 2561

ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่

 

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:FEATURES

Comments are closed.