
แม้จะเป็นอัลบั้มที่ทำขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม อัลบั้มเหล่านี้คืองานที่ศิลปินเจ้าของอัลบั้มเกลียดชัง ซึ่ง รูดี โอเบียส จาก http://mentalfloss.com คัดสรรเอาไว้
Born to Run/ บรูซ สปริงสทีน (1975): ขณะบันทึกเสียงอัลบัมชุดนี้ในปี 1975 บรูซ สปริงสทีน รู้สึกผิดหวังกับการเขียนและมิกซ์เพลง ซึ่งทำให้เกลียดงานชุดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เขาไม่ชอบหนัก ถึงขั้นจะเลิกทำ แล้วไม่ปล่อยมันออกขายเลย
“หลังจากที่เสร็จเรียบร้อยนะเหรอ? ผมยังเกลียดมัน! ทนฟังไม่ได้เลยด้วย” สปริงสทีนยอมรับ “ผมคิดว่า มันคือชิ้นส่วนที่ห่วยที่สุดของขยะชิ้นหนึ่งเท่าที่ผมเคยได้ยิน ผมบอกกับโคลัมเบีย ผมจะไม่ปล่อยมันออกขาย ผมบอกพวกเขาว่า จะเล่นโชว์ชดใช้ให้ โดยเล่นเพลงใหม่ทั้งหมด แล้วทำออกมาเป็นงานแสดงสด”
In My Lifetime, Vol. 1/ เจย์-ซี (1997): เจย์-ซีเชื่อว่างานชุดที่สองของเขาชุดนี้ กลายเป็นงานที่มีปัญหาเพราะทำเพลงเพื่อให้ถูกเปิดทางวิทยุ แทนที่จะทำตามที่เขาชอบ
“ผมไม่ฟังอัลบัมชุดนั้นเลย เพราะคิดว่ามันยุ่งเหยิงมาก” เจย์-ซีพูดไว้ในปี 2009 “มีหลายเพลงที่ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ในอัลบัมได้ ผมคิดว่าผมพลาดการมีอัลบัมคลาสสิค 2 ชุดติดต่อกัน ด้วยการพยายามเข้าถึงสถานีวิทยุ ผมทนฟังมันไม่ได้ มันเป็นงานที่กวนใจผมจริง ๆ” เขาบอกว่างานชุดนี้เป็น “งานที่อยากให้หายไปพ้น ๆ”
One By One/ Foo Fighters (2002): งานชุดที่สี่ของฟู ไฟเทอร์ส เป็นงานที่ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ แถมทำให้วงคว้ารางวัลแกรมมีสาขาอัลบัมร็อกแห่งปีมาครอง แม้จะประสบความสำเร็จ เดฟ โกรห์ล แกนนำของวงก็เกลียดงานชุดนี้ เพราะรู้สึกว่า มันทำแบบรีบๆ และฟังดูแย่ ๆ
“ผมโกรธตัวเองสุด ๆ สำหรับงานชุดที่ผ่านมา” โกรห์ล เผยในปี 2005 “มีเพลงดีๆ อยู่สี่เพลง แล้วที่เหลืออีกเจ็ดเพลง ผมจะไม่มีทางเล่นมันอีกตลอดชีวิต พวกเราเร่งทำงานกัน แล้วก็รีบปล่อยมันออกมา”
Encore/ เอ็มมิเน็ม (2004): เอ็มมิเน็มมีปัญหาอย่างจริงจังมาก ๆ เรื่องการกินยาตามใบสั่งแพทย์ในยุค 2000 อัลบัมของเขาในช่วงปี 2003 – 2008 ก่อนหน้าที่ตัวเองจะสะอาดเอี่ยม ไม่ใช่งานเยี่ยมยอดของเอ็มมิเน็มแน่ๆ โดยเฉพาะ Encore ในปี 2004
“มองย้อนกลับไปจากตอนนี้ มีบางอย่างที่เป็นเรื่องโคตรหายนะ สำหรับการที่ผมปล่อยมันออกมา” เอ็มมิเน็ม ยอมรับ “ตอนทำ Encore การติดยามันทำให้ชีวิตของผมดำเนินไปด้วยตัวเอง ผมยังจำตอนที่ไปแอลเอได้ บันทึกเสียงกับเดร แล้วเคลิ้มสุด ๆ อยู่ในห้องอัด ซัดยาเม็ดแล้วเม็ดเล่า ปริ่มสุขแบบกึ่งๆ หลับ ทำเพลงอย่าง ‘Big Weenie’ และ ‘Rain Man’ แล้วก็ ‘A** Like That’ ออกมา”
Pinkerton/ Weezer (1996): อัลบัมที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและคำวิจารณ์ แถมคนอ่านของนิตยสารโรลลิง สโตนยังโหวตให้เป็นหนึ่งในงานที่แย่ที่สุดของปี แต่ในที่สุดงานชุดที่สองของวีเซอร์ วงร็อกจากแอลเอชุดนี้ก็กลายเป็นงานคัลต์มาตลอดหลายปีนับจากนั้น จนทางวงออกอัลบัมชุดต่อมา หลังพักวงไปนานถึง 5 ปี ด้วยอัลบัมปกสีเขียวในปี 2001 ริเวอร์ส คูโอโม แกนนำของวงต้องชิงชังอัลบัม ‘Pinkerton’ ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะแฟนๆ และนักวิจารณ์่ต่างเอางานทั้งสองชุดมาเปรียบเทียบกัน
“สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตของผมทุกวันนี้ก็คือ ความเป็นงานคัลต์ของ ‘Pinkerton’” คูโอโมบอกในปี 2001 “มันเป็นอัลบัมป่วย ๆ ป่วยอย่างกับติดเชื้อโรคยังไงยังงั้น แล้วมันก็กลายเป็นความวิตกขึ้นมา เพราะแฟน ๆ ของเราในตอนนี้ ยึดติดกับอัลบัมชุดนั้น แต่จากใจจริงเลยนะ ผมไม่เคยอยากเล่นเพลงพวกนั้นอีกเลย ผมไม่อยากได้ยินมันอีกด้วยซ้ำ”
Kill Uncle/ มอร์ริสซีย์ (1991): สตีเวน แพทริค มอร์ริสซีย์ โคตรจะไม่ใยดีกับอัลบัมเดี่ยวชุดที่สองของตัวเองสุด ๆ เขาเชื่อว่านี่คืออัลบัมที่เขาทำงานแบบวิ่งชนขีดจำกัดของตัวเอง ทั้งการเขียนเพลงและการบันทึกเสียง
ซึ่งมอร์ริสซีย์บรรยายออกมาว่าเป็นงานที่ “ไร้ชีวิตชีวา และเลือดเนื้อ” และ “นักดนตรีก็เหมือนกับศพที่ถูกแช่น้ำยา” ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองเมื่อปี 2014
Be Here Now/ Oasis (1997): โนล กัลลาเกอร์ มือกีตาร์ของโอเอซิส มองว่างานชุดนี้ คืออัลบัมที่ห่วยที่สุดของวง โดยบอกว่าเป็นเหมือนกับ “สรรพเสียงของผู้ชายกลุ่มหนึ่งอยู่ในห้องอัดเสียง เล่นโค้กกัน แล้วก็ไม่สนห่-อะไร ทุกเพลงโคตรยาว แล้วเนื้อร้องก็ห่วยแตกมันทุกเพลง เลียมก็ไม่ได้พูดอะไรออกมาเลยในทุก ๆ เสี้ยววินาที มีริฟฟ์กีตาร์เห่ย ๆ อยู่ในเพลง โดยเล่นสไตล์เดียวกับในหนัง Wayne’s World”
Thank Me Later/ เดรค (2010): อัลบัมเปิดตัวของเดรก ที่ถึงแม้จะกลายเป็นงานฮิตในปี 2010 แต่แร็ปเปอร์ชาวแคนาเดียนก็เชื่อว่า นี่ไม่ใช่งานที่ดีเด่อะไร และแน่นอน ไม่ใช่งานที่ดีที่สุดของเขา เพราะว่ามันเป็นงานที่ยังไม่สมบูรณ์และทำแบบลวก ๆ เขาพยายามทำงานที่ดีขึ้นออกมา ด้วยอัลบัมชุดที่ 2 Take Care ในปี 2011
“พูดกันด้วยความจริงใจชนิด 100%” เดรก ย้ำ “ผมไม่มีความสุขกับงานชุด ‘Thank Me Later’ เลย คนฟังชอบมัน แต่ผมก็รู้ตัวดีว่า ผมสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น หากมีเวลาเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย”
Around the Sun/ R.E.M. (2004): ในปี 2004 อาร์.อี.เอ็ม ออกอัลบัมหมายเลขที่ 13 ของตัวเองออกมา และกลายเป็นงานชุดแรกของวง ที่ไม่สามารถเข้าท็อปเทนชาร์ทอัลบัมบิลล์บอร์ดได้สำเร็จ นับตั้งแต่ปี 1988 แถมยังได้คำวิจารณ์แบบก้ำกึ่งจากนักวิจารณ์อีกต่างหาก อาร์.อี.เอ็ม.รู้สึกแย่กับงานชุดนี้หนัก ถึงขั้นไม่เอาเพลงไปเล่นในการแสดงสดเลย
“เหมือนกับว่า พวกเรากลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีพวกที่จองห้องอัดไว้เป็นล้าน ๆ เดือน แล้วก็ทำงานกันไปจนตาย” ปีเตอร์ บัก มือกีตาร์ของวงกล่าว “งานชุดที่แล้ว (Around the Sun) สำหรับผม มันไม่ใช่งานที่น่าฟังเลย เพราะฟังเหมือนกับเป็นสิ่งที่คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเบื่อสุด ๆ กับสิ่งที่พวกเขาไม่อยากจะทนอยู่กับมันอีกต่อไปแล้ว”
Angels/ The Strokes (2011): หลังปล่อยอัลบัมชุดที่สาม ‘First Impressions of Earth’ ออกมาในช่วงต้นปี 2006 วงดนตรีจากนิว ยอร์กซิตีวงนี้ ก็พักยาวถึงห้าปีจากการทำงานเพลง และออกทัวร์ แล้วก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อทำอัลบัมชุดที่สี่ ‘Angels’ ที่บรรดาแฟน ๆ รอคอยกันยาวนาน แม้จะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จในเรื่องยอดขาย แต่ตัวอัลบัมกลับกลายเป็นงานที่ได้เสียงวิจารณ์แบบก้ำกึ่งจากบรรดานักวิจารณ์
กับการให้สัมภาษณ์ในวาระที่ เดอะ สโตรกส์ ครบ 10 ปี จูเลียน คาซาบลังกา นักร้องและแกนนำของวงยอมรับว่า “ผมปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปในแบบที่มีอะไรเยอะแยะในอัลบัม ที่ผมไม่ควรทำ” นิค วาเลนซี มือกีตาร์ ก็ย้ำในสิ่งที่คาซาบลังกาบอกเอาไว้ “ผมจะไม่ทำอัลบัมชุดต่อไป หากพวกเราทำอะไรแบบนี้ออกมา มันห่วย มันห่วยสุด ๆ”
Youth Novels/ ลีกเค ลี (2008): ลีกเค ลี นักร้องสวีดิชยอมรับ ในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2014 อย่างตรงไปตรงมาตามอารมณ์ความรู้สึกจริง ๆ ที่มีต่ออัลบัมชุดนี้ ซึ่งเป็นงานชุดแรกของเธอว่า เธอเกลียดมันมาก เพราะความดิบและเต็มไปด้วยอะไรมากมายที่ไม่ควรจะมีอยู่
“ฉันทนอัลบัมชุดแรกของตัวเองไม่ได้” เธอพูดเสียงดังฟังชัด “มันโคตรแย่ เลวเลยล่ะ”
Cut the Crap/ The Clash (1985): ในปี 1985 เดอะ แคลช ปล่อยอัลบัมชุดที่ 6 ซึ่งกลายเป็นอัลบัมชุดสุดท้ายของพวกเขา ในตอนนั้น โจ สตรัมเมอร์ นักร้องนำรู้สึกเซ็ง ๆ กับวง แล้วบวกด้วยความเศร้าจากการจากไปของพ่อ-แม่
“ซีบีเอส จ่ายเงินล่วงหน้ามาให้แล้ว ดังนั้นมันต้องมีงานออกมา” สตรัมเมอร์เล่าในปี 2000 “ผมรู้สึกประมาณ…’เออ… ช่างแม่- ซิ’ และ “กูอยากไปนั่งร้องไห้ใต้ต้นปาล์มที่ภูเขาในสเปน แล้วก็ปล่อยให้เบอร์นี (โรห์ดส์ ผู้จัดการวง) ปล่อยอัลบัมออกไป”
Relationship of Command/ At the Drive-In (2000): แอท เดอะ ไดรฟ์-อิน ปล่อย ‘Relationship of Command’ อัลบัมชุดที่สาม ที่ต่อมากลายเป็นงานชุดสุดท้ายของวงออกมาในปี 2000 ถึงแม้จะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ ส่งให้วงจากเอล ปาโซ, เท็กซัส โด่งดังในวงกว้าง แต่แอท เดอะ ไดรฟ์-อิน ก็วงแตกไม่นานหลังจากนั้น สาเหตุก็เพราะความนิยมในตัวพวกเขาที่เพิ่มมากขึ้น
และโอมาร์ รอดริเกวซ-เปเรซ มือกีตาร์ของวง ก็ซัดงานที่ทำให้พวกเขาดัง ได้รับความสำเร็จไม่เลี้ยง “หนึ่งในความเสียใจจากทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่างที่ผมทำก็คือ การมิกซ์อัลบัม หลาย ๆ คนคิดว่า มันเป็นงานที่ฟังดิบ และเต็มไปด้วยพลัง แต่สิ่งที่พวกเขาได้ยินไม่มีทางที่จะเทียบกับสิ่งที่มันเป็น ก่อนหน้าที่จะถูกขัดเงาจนแวววาว ด้วยการผ่านกระบวนมิกซ์” เขาเสริมต่อ “ผมพบว่ามันโคตรไม่มีอารมณ์, เหมือนพลาสติก… มันเป็นอัลบัมชุดหนึ่ง ที่มาถึงทุกวันนี้ผมยังคงทนฟังไม่ได้ สำหรับผมการมิกซ์เสียงมันทำลายทุกอย่างเลย”
จากเรื่อง 13 ศิลปินกับอัลบั้มที่ตัวเองแสนเกลียด คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ โดย นพปฎล พลศิลป์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 10, 11 และ 15 พฤศจิกายน 2559
เป็นกำลังใจให้เราได้ ด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่บัญชีธนาคารกสิกรไทย หมายเลข 100-2-10283-4 แล้วส่งสลิปการโอนมาที่กล่องข้อความของเพจ sadaos หรือที่อีเมล shopsadaos@gmail.com เพื่อรับของขวัญแทนคำขอบคุณ
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่