OVER THE BRIDGE OF TIME: A Paul Simon Retrospective (1964-2011)/ Paul Simon
[Legacy]
THE SINGER/ Art Garfunkel
[Columbia/ Legacy]
พอล ไซมอน และอาร์ท การ์ฟังเกล เคยทำงานรวมกันเป็นศิลปินคู่ในนาม ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล ที่สร้างผลงานเพลงฮิตอมตะมากมายให้กับวงการ โดยไม่จำกัดเฉพาะวงการเพลง แต่กับวงการภาพยนตร์ อย่าลืมว่า เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องThe Graduate นั้น ก็คืองานเพลงของดูโดคู่นี้นั่นเอง
[one_half][/one_half]
ไม่ว่าจะเป็น Mrs. Robinson, The Sound of Silence, Bridge Over Trouble Water, Scarborough Fair / Canticle, The Boxer เพลงเหล่านี้ของไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกลยังคงถูกเปิด ถูกนำมาเล่นใหม่โดยศิลปินมากมายตลอดเวลา และนี่ก็คืออัลบั้มรวมเพลง 2 ชุด ของทั้งที่แยกกันเป็นงานของพอล ไซมอนชุดหนึ่ง งานของอาร์ท การฟังเกลอีกชุดหนึ่ง โดยในแต่ละชุดก็มีทั้งงานที่ทั้งคู่ทำร่วมกัน และงานจากอัลบั้มเดี่ยวของแต่ละคน
ซึ่งทั้งสองชุดก็มีข้อดีที่แตกต่างกันไป งานรวมเพลงของพอ ไซมอน นอกจากจะมีเพลงฮิตๆ ที่ร้อง-ทำกับอาร์ท การฟังเกลแล้ว ก็ยังมีงานเดี่ยวที่ปกติจะไม่ถูกนำมารวมกับงานรวมเพลงในค่ายโคลัมเบีย เพราะเป็นงานที่ทำกับสังกัดแอทแลนติค เช่น เพลงจากอัลบั้ม Graceland ที่การทำงานของไซมอนนั้น จะสร้างเพลงจากริธึม ไม่ใช่เมโลดีเหมือนอย่างที่เคยเป็น หรืองานชุด So Beautiful or So What เมื่อปี 2011 ที่ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นการทำงานที่กลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้งของพอล ไซมอน
[one_half][/one_half]
ส่วน The Singer ของอาร์ท การ์ฟังเกลจะเด่นตรงที่มีเพลงเยอะกว่า เป็นอัลบั้มรวมเพลงแบบแผ่นคู่ ที่มีเพลงบังคับ ซึ่งเป็นเพลงฮิตในสมัย ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล เยอะกว่าอัลบั้มของพอล ไซมอน แล้วกับเพลงอื่นๆ ก็ดูแข็งแรงมากกว่าในแง่ของเพลงป็อป เพราะยังมีเพลงอย่าง When a Man Loves a Woman, Crying in the Rain ที่มีเจมส์ เทย์เลอร์ มาร้องคู่ รวมไปถึง (What A) Wonderful World ที่เจมส์ เทย์เลอร์ กับพอล ไซมอน มาร่วมร้อง
เพราะฉะนั้นในแง่ฟังเอาเพราะแบบไม่ต้องอะไรมาก งานชุด The Singer ของการ์ฟังเกลที่มีเพลงให้ฟังถึง 34 เพลงถือว่าเต็มอิ่มกว่าแน่ๆ แต่ถ้าชอบฟังเพลงเพราะแบบโดนๆ ประมาณหนึ่ง แล้วมีเพลงที่ฟังเพลิน มีความแปลกในตัวด้วย งานของพอล ไซมอนน่าจะตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี
แต่ถ้าจะให้พูดกันตรงๆ งานทั้งสองชุดนี้ ต่างก็มีค่าควรทั้งคู่ โดยเฉพาะคนที่ชอบงานดนตรีละเอียด เสียงร้องเนี้ยบๆ เสียงประสานเยี่ยมๆ ในระดับตำนาน
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากคอลัมน์ สะกิดร่องเสียง นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1153 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557