ALL IS LOST: All is Lost ของ เจ.ซี.แชนเดอร์ เป็นหนังที่จะทำให้ 127 Hours ของแดนนี่ บอยล์ กับ Life of Pi ของอั้งลี กลายเป็นเด็กเล่นขายของไปเลย เพราะในขณะที่หนังทั้งสามเรื่องบอกเล่าเรื่องของตัวละครที่เผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า trapped situation เหมือนกัน แต่ในกรณีของ 127 Hours คนทำหนังเล่น ‘ตุกติก’ ด้วยการพาผู้ชมออกไปจากซอกหิน (ที่หนีบแขนของพระเอก) ผ่านเทคนิคแฟลชแบ็ค หรือแทรกภาพในห้วงจินตนาการในช่วงเวลาที่ความจริงกับความฝันปะปน ทำนองเดียวกัน Life of Pi ที่บอกเล่าเรื่องของหนุ่มน้อยลอยคอกลางมหาสมุทรกับเสือเบงกอล-ก็ใช้ทั้งเสียง Narration, เทคนิคพิเศษทางด้านภาพ และเหตุการณ์ประหลาดๆ (เช่น ปลาบินได้ เสือว่ายน้ำ แมงกระพรุนเปล่งประกายฉายแสง) เข้ามาหลอกล่อ และตบตาผู้ชมให้เพลิดเพลินไปกับสิ่งละอันพันละน้อย
All is Lost ไม่มีการเล่นเล่ห์เพทุบายแบบนั้น หรือพูดอย่างรวบรัด ไม่มีทั้งแฟลชแบ็ค แฟลชฟอร์เวิร์ด การตัดภาพเพื่อบอกเล่าห้วงคิดคำนึง เสียงบรรยายของตัวละคร อันที่จริง ผู้ชมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวละครชื่อเรียงเสียงใด เป็นใครมาจากไหน นำพาตัวเองมาเผชิญกับสภาพเรือแตกได้อย่างไร นี่เป็นหนังที่คนทำหนังพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะซื่อสัตย์กับเงื่อนไขเริ่มต้น หรือ premise ของเรื่อง-เท่าที่กรอบของความเป็นหนัง fiction จะเอื้ออำนวย และเวลาในหนังเรื่องนี้เดินทางเป็นเส้นตรง และสามารถพูดได้ว่า ไม่มีการแสวงหาทางออกอย่างตื้นเขินหรือมักง่าย และทุกความคืบหน้าที่เกิดขึ้น-มีราคาค่างวดของมัน
เชื่อว่าคนดูที่พอจะรู้ว่าเนื้อหาของหนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอะไร แถมตลอดเรื่องยังมีนักแสดงเพียงแค่คนเดียว (โรเบิร์ต เรดฟอร์ด) ก็น่าจะคาดเดาได้ว่าสิ่งที่จะพบเจอในหนังเรื่องนี้-คืออะไร ความอึดอัดบีบคั้น และกดดันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ชั้นเชิงในการบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆด้วยกลวิธีทางด้านภาพยนตร์-ก็นับเป็นทักษะอันเยี่ยมยอด มันนำพาผู้ชมเข้าไปมีเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม เอาใจช่วย หลายครั้ง ภาวนา (ทั้งๆที่ความหวังริบหรี่เหลือเกิน) ให้ ‘พระเอกของเรา’ (ในเครดิตตอนท้าย เรียกตัวเอกว่า our man) รอดพ้นจากวิบากกรรม
โดยส่วนตัวแล้ว อยากจะเรียกหนังเรื่อง All is Lost เล่นๆว่าเป็นหนังทดลอง และผลลัพธ์ของการพยายามจะทำในสิ่งที่หนังเรื่องอื่นๆไม่กล้าแม้แต่จะคิด-ก็ขอสรุปสั้นๆว่า บรรลุเป้าประสงค์ทุกประการ
โดย ประวิทย์ แต่งอักษร