Movie ReviewREVIEW

SOUND CITY: REEL TO REAL จากหนังสู่เพลง เรื่องของคนในดนตรี ชีวิตในเสียงเพลง

sound city posterซาวนด์ ซิตี้ สตูดิโอ เป็นชื่อห้องอัดเสียงแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่แวน นุยส์ แถบซานเฟอร์นานโด วอลเลย์ ในลอส แองเจลีส ที่นี่ก็คือห้องบันทึกเสียงอีกห้องที่ต้องปิดตัวลงไปตามความนิยม ตามกาลเวลา ตามยุคสมัยของเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนจากยุคอนาล็อก มาสู่ยุคของดิจิตอล

ซาวนด์ ซิตี้ สตูดิโอ อาจจะปิดตัวลงไปอย่างเงียบๆ หากไม่ใช่ห้องที่วงดนตรีเล็กๆ จากซีแอตเติล (ในตอนนั้น) เดินทางมาบันทึกเสียงอัลบั้มที่ต่อมาได้ชื่อว่า Nevermind ในปี 1991 และนั่นก็คือครั้งแรกที่ เดฟ โกรห์ล ได้รู้จักกับซาวนด์ ซิตี้มากกว่าเพียงแค่ชื่อของห้องบันทึกเสียง ทีjเป็นจุดกำเนิดผลงานคลาสสิคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้ม After the Gold Rush ของนีล ยัง, Fleetwood Mac ของฟลีทวู้ด แม็ค, Damn the Torpedoes และงานอีกห้าชุดของทอม เพตตี้ แอนด์ เดอะ ฮาร์ท เบรคเกอร์ส, Working Class Dog ของริค สปริงฟิลด์, Double Vision ของ ฟอเรจ์เนอร์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานอมตะของวงการเพลงร็อค โดยที่ยังไม่ต้องนับไปถึง หลังความสำเร็จของอัลบั้ม Nevermind ที่ส่งให้มีศิลปินอีกมากมาย มาใช้ห้องอัดซาวนด์ ซิตี้ สตูดิโอ ตั้งแต่เรจ์ อะเกนสท์ เดอะ แมชีน ไปจนถึงอาร์คติค มังกีย์ส และแน่นอนฟู ไฟเตอร์ส

ที่นายวงซื้อบอร์ดนีฟของที่นี่ มาใช้กับห้องอัดของตัวเอง หลังซาวนด์ ซิตี้ สตูดิโอ ปิดตัวลง และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของหนัง Sound City และการทำงานในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีหนแรกของเดฟ โกรห์ล

และทำให้ Sound City เป็นสารคดีทางดนตรีหนึ่งในไม่กี่เรื่อง ที่ไม่ใช่เป็นแค่สารคดีคอนเสิร์ต หากเป็นสารคดีที่บอกเล่าความเป็นมาของห้องบันทึกเสียงที่สร้างผลงานระดับตำนานมากมาย ถ้าคิดว่าหนังเรื่องนี้ น่าจะออกมาเป็นงานในแบบที่เห็นกันบ่อยๆ ทางช่องดิสคัฟเวอรี่ หรือว่าเนชันแนล จีโอกราฟี่ ที่เป็นการสัมภาษณ์ผู้คนที่เกี่ยวข้อง เอาประวัติของมันมานำเสนอ แล้วก็จบ ความคิดที่ว่า ถูก แต่ไม่ทั้งหมด ด้วยความที่เป็นหนังเกี่ยวข้องกับเสียงเพลง การนำเสนอจึงมีลูกเล่น มีสีสันมากกว่านั้น ด้วยการใส่บทเพลงต่างๆ ที่เป็นผลิตผลของห้องอัดเสียงแห่งนี้เข้ามาเป็นระยะๆ ซึ่งก็ทำให้รู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่ของที่นี่ ในช่วงเวลาที่เป็นของตัวเองได้ชัดเจน เพราะหลายๆ เพลงยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้นบางเพลงก็คือผลงานที่ทำให้ตัวเพลงเอง และเจ้าของเพลงอยู่ยั้งยืนยงผ่านกาลเวลามาได้

trailer-still-8b08451df7a2c7ccfa0d3886a65dcc42บทของมาร์ค มอนโร เล่าเรื่องแบบไม่ได้ซับซ้อน หลังจากเกริ่นนำ หนังก็พาไปสู่จุดกำเนิดของซาวนด์ ซิตี้ สตูดิโอ ในปี 1969 ได้รับรู้ถึงความโดดเด่นเฉพาะตัวจากห้องบันทึกเสียงกลอง และบอร์ดนีฟที่สั่งทำขึ้นมาโดยเป็นพิเศษ แล้วก็ตามด้วยช่วงเวลาในแต่ละยุค แต่ละสมัยของซาวนด์ ซิตี้ ที่ได้ต้อนรับยอดฝีมือของวงการตั้งแต่ยุค 70 มาถึง 80, 90 ยุค 2000 จากปากคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ, ผู้จัดการ, ซาวนด์ เอ็นจิเนียร์, โปรดิวเซอร์ หรือศิลปินที่มาใช้งาน บ้างก็พูดถึงความเยี่ยมยอดของที่นี่ บ้างก็พูดถึงเบื้องหลังการทำงานของตัวเองที่นี่ โดยตัดสลับกับหลักฐานที่เป็นผลงานเพลงของพวกเขา ภาพเบื้องหลังการทำงาน ทำให้หนังไม่ได้มีเพียงคำบอกเล่าที่อาจจะดูน่าเบื่อ หากมีเพลงเพราะๆ มากมายให้ได้ฟัง และด้วยความที่เป็นต้นกำเนิดของงานเพลงอมตะมากมาย

การได้ดู Sound City ก็ไม่ต่างไปจากการได้เปิดฟังอัลบั้มเพลงฮิต ที่มีเพลงดังๆ ดีๆ เปิดให้ได้ยินกันอย่างต่อเนื่องไปตลอดเกือบๆ 2 ชั่วโมง

sound city-grohl 2นอกจากเรื่องราวของห้องบันทึกเสียง โกรห์ลยังพาคนดูไปสู่โลกของวิวิฒนาการในการบันทึกเสียง ซึ่งเป็นประเด็นหลักของหนังที่นำเสนอไปพร้อมๆ กับความเป็นมาของซาวนด์ ซิตี้ สตูดิโอ ที่เทคโนโลยีแม้จะทำให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น มีความผิดพลาดน้อยลง หรืออาจจะเท่ากับ “ศูนย์” แต่การทำงานก็แลกกับความเป็นคนในตัวงาน และการใช้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความสามารถเฉพาะตัวลดน้อยลงไปด้วย

เมื่อทุกอย่างสามารถทำได้หมดไม่ว่าจะเป็นการลบเสียงรบกวน การตัดต่อเสียงที่ง่ายขึ้น เพราะเป็นการตัดต่อด้วยไฟล์ดิจิตอล ที่ก็อปปี้ ตัด แปะ ได้อย่างง่ายได้ ไม่ใช่การต่อเทปรีลหนาๆ ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ เพื่อความเนียนของเสียง รวมไปถึงการทำงานที่ปราศจาก “เทคมหัศจรรย์” ซึ่งเกิดขึ้นจากปัจจัยบางอย่าง ที่อาจจะเป็นความผิดพลาด ความอ่อนล้า ของทีมงาน หรือว่าตัวนักดนตรี เมื่อเสียงรบกวนบางอย่าง หรือเสียงกีตาร์เพี้ยนๆ ถูกโปรแกรมตบแต่งให้หายไป หรือแก้ให้ถูกต้องได้ในทันที

โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น จนสามารถทำเพลงได้ โดยไม่ต้องใช้คนมากมาย ไม่ต้องเข้าห้องบันทึกเสียงขนาดใหญ่ อาศัยแค่มีคอมพิวเตอร์ กับโปรแกรมในการทำเพลงต่างๆ ก็จบ

“คน” ในตัวงานก็ลดน้อยลงไป เมื่อใครบางคนอาจจะนั่งทำเพลงอยู่ลำพังคนเดียวที่บ้าน ใช้โปรแกรมซิงค์เสียงกีตาร์ของมือกีตาร์ชั้นยอดสักคนมา แซมพ์เสียงกลองของมือกลองระดับตำนานมาใช้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยความชำนาญในการเล่นดนตรีของ “ตัวเอง” หรือของใคร หรืออาจจะไม่ต้องมีความสามารถเลยก็ได้

sound city-grohlไม่ใช่แค่ความเป็น “คน” ในเสียงดนตรีที่หายไป ความเป็น “คน” ในการทำงานก็ไม่ต่างกัน เมื่อเป็นการทำงานที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่มีการตัดสินใจ ไม่มีการให้ความเห็นร่วมกัน หรือไม่มีการมีปากมีเสียงกัน ซึ่งหลายๆ ครั้งทำให้เกิดการทดลองที่แตกต่าง เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดจากความคิดของหลายๆ คน

หนังไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีโดยสิ้นเชิง เห็นได้จากการนำเสนอการทำงานร่วมกันของโกรห์ล, จอช ฮอมม์ และเทรนท์ เรซเนอร์ แต่สิ่งที่ย้ำก็คือ การใช้เทคโนโลยี ก็ต้องมีความเป็น “คน” ร่วมอยู่ด้วย ในหลายๆ ครั้ง ความไม่สมบูรณ์แบบก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และให้ผลลัพธ์ที่ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ โปรแกรม หรือกระทั่งคนที่สร้างขึ้นมา ทำซ้ำไม่ได้

ท้ายที่สุด หลังพาคนดูไปพบกับความเป็นมาของห้องบันทึกเสียง โกรห์ลและหนังก็พาคนดูไปพบกับการทำงานแบบย้อนอดีตไปสู่ยุครุ่งเรืองของอนาล็อก กับการทำงานในสตูดิโอแบบย้อนยุค ที่ศิลปินทุกคนได้รำลึกถึงการทำงานที่เรียกว่า “โบราณ” ไปแล้วสำหรับยุคนี้ ในห้องอัดของเดฟ โกรห์ล ผ่านการควบคุมของบอร์ดนีฟที่เจ้าตัวซื้อมาจากห้องอัดซาวนด์ ซิตี้ ผลิดอกออกผลมาเป็นอัลบั้มอีกหนึ่งชุด ที่นักดนตรี ศิลปินที่มาร่วมงานในอัลบั้ม ในแต่ละเพลงนั้น ไม่มีที่ไม่ธรรมดา และสามารถเรียกได้ว่าเป็นยิ่งกว่า อัลบั้มของวงซูเปอร์กรุ๊ปด้วยซ้ำไป เพราะคงมีอัลบั้มไม่กี่ชุด ที่จะรวมหัวกระทิของวงการเพลงทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ได้มากมายเท่านี้ และอย่าลืมว่า นี่ไม่ใช่อัลบั้มการกุศลใดๆ แต่เป็นอัลบั้มเพลงจากหนังเรื่อง Sound City

Sound-City-300ที่ชื่อสร้อยต่อท้าย Reel to Real ของหนัง แสดงให้เห็นถึงความหมายที่ชัดเจนในตัวเอง เพราะคงไม่มีนัยอื่นใดนอกจากหมายความถึง จากเทปรีลสู่ความเป็นจริง ตามเรื่องราว ตามประเด็นที่หนังต้องการบอก และปกอัลบั้มก็พาย้อนกลับสู่อดีตซ้ำ เมื่อออกแบบเป็นปกของเทปรีล ที่ใช้กันในห้องอัดเสียงครั้งกระโน้น รายชื่อเพลง คนทำงานที่ปกหลังก็เป็นลายมือที่มีขีดฆ่า, แก้คำผิด, ไฮไลท์ข้อความสำคัญๆ ในแบบที่ไม่ใช้ฟอนท์ตัวอักษรสวยๆ จากคอมพิวเตอร์

และการทำงานแบบย้อนอดีต ที่ในหนังแสดงให้เห็นว่า มีทั้งไปคิดด้นสด หรือลองผิดลองถูกกันในห้องอัด ก็น่าจะเป็นปัจจัยส่งสำคัญ ที่ทำให้อัลบั้มชุดนี้เต็มไปด้วยพลังในตัว เนื้องานอาจจะไม่ถึงกับเนี้ยบ แต่ก็รู้สึกถึงความสด และกับหลายๆ เพลงก็สามารถเติมคำว่า ดิบ ใส่เข้ามาได้ด้วย

แม้จะมีทีมของฟู ไฟเตอร์ส เป็นแกนสำคัญในการทำงาน แต่เนื้องานในแต่ละเพลงก็มีตัวตนของแขกรับชวน หรือศิลปินรับเชิญแสดงออกมาให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นใน You Can’t Fix This ที่ไม่ต้องนับเสียงร้องของสตีวี นิคส์ ซาวนด์กีตาร์ก็ยากที่จะทำให้ไม่นึกถึงฟลีทวู้ด แมค, Your Wife is Calling ซึ่งได้ลี วิงส์ นักร้องนำของเฟียร์ วงฮาร์ดคอร์ พังค์ตอนต้นยุค 80 มาร่วมงาน ก็มาพร้อมกับทางของพังค์, Centipede ที่จอช ฮอมม์ มาร้องนำก็อวลไปด้วยซาวนด์ของเดอะ ควีน ออฟ เดอะ สโตน เอจ ส่วน Cut Me Some Slack ก็ปฎิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ฟังคลับคลากับ Helter Skelterของพอล แม็คคาร์ทนีย์ สมัยอยู่ในเดอะ บีเทิลส์ มากกว่าเนอร์วานา ทั้งๆ ที่มี โกรห์ล, คริสท์ โนโวเซลิค และแพท สเมียร์ (มือกีตาร์แบ็คอัพของเนอร์วานา) ร่่วมทำงาน นี่คือ เพลงที่เป็นไฮไลท์ของอัลบั้ม เช่นเดียวกับ The Man That Never Was ที่โกรห์ลและเพื่อนๆ ทำงานกับริค สปริงฟิลด์ ซุป’ ตาร์ตัวจริงอีกคนของวงการจากช่วงต้นยุค 80 นี่คืองานร็อคสนุกๆ ในทางของเจ้าของเสียงร้อง ที่แทบจะไม่มีทางของคนทำงานหลักในอัลบั้มเจือปนเลยด้วยซ้ำ

Mantra เพลงปิดท้ายอัลบั้ม ที่โกรห์ล-ฮอมม์ และเทรนท์ เรซเนอร์ ทำงานร่วมกัน เป็นเพลงที่มีการทำงานกับเครื่องเคราอิเล็กทรอนิกส์ ใช้โปรแกรมต่างๆ มากที่สุดในอัลบั้ม น่าจะเป็นการสรุปถึงการอยู่ร่วมกันของเทคโนโลยีกับคน หรือบ่งบอกถึงการทำงานที่ควรจะเป็นของนักดนตรี และศิลปินในยุคนี้ ที่อุปกรณ์ และมนุษย์ต้องเดินคู่กัน ไม่ใช่ละทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไป เพียงเพื่อความสะดวกสบาย

ถ้าจุดเด่นของอัลบั้ม Sound City – Reel to Real อยู่ที่พลัง ความสด และการผสมผสานแนวทางเฉพาะตัวของศิลปินแต่ละคนเข้ามาในเพลง จุดด้อยของงานชุดนี้ก็ไม่พ้น ทิศทางของงานที่ดูแกว่งๆ และตัวเพลงที่ไม่ได้ออกมาดี ไปซะทุกเพลง อย่างเช่น Time Slowing Down หรือ If I Were Me ที่ฟังดูเนือยๆ ไม่แข็งแรงเท่ากับบรรดาเพลงอื่นๆ ในอัลบั้ม ไม่ใช่เพราะเป็นเพลงช้าๆ แต่เพราะขาดความสด และพลัง จนรู้สึกเป็นงานผิดที่ผิดทาง เหมือนเพลงแถมกลายๆ สำหรับอัลบั้มชุดนี้

เป็นเรื่องที่คงจะแยกออกจากกันไม่ได้ ระหว่างหนังกับงานเพลงของ Sound City เพราะการทำเพลงอัลบั้มชุด Sound City – Reel to Real ก็คือส่วนหนึ่งของหนัง และองค์ประกอบหนึ่ง ที่น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดหนังเรื่องนี้ ก็พิสูจน์ถึงความสำคัญและตัวตนของมันได้จากในอัลบั้ม

นี่คืองานที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็น “มนุษย์” ในเสียงเพลง ความสำคัญของความสามารถของ “คน” ในการทำงาน ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ที่ต่างคนต่างมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นใครในห้องบันทึกเสียง นักดนตรี, นักร้อง, โปรดิวเซอร์ หรือ ซาวนด์ เอ็นจิเนียร์ ทุกคนล้วนแต่มีความสามารถเฉพาะตัว ที่ทำให้เพลงหนึ่ง อัลบั้มหนึ่ง โดดเด่นไปจากอีกเพลงหนึ่ง อีกอัลบั้มหนึ่ง แม้โปรแกรมอาจจะก็อปปี้ เลียนแบบได้ แต่ไม่มีทางก่อให้เกิดความผิดเพี้ยน หรือเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็น จนกลายเป็นความไม่สมบูรณ์แบบที่เยี่ยมยอดออกมาได้

บางครั้ง บางคราว ในช่วงเวลาท็อปฟอร์มสุดๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สามารถสร้างงานที่ดีที่สุด บางทีกับช่วงเวลาฟอร์มหลุด ร่างกายอ่อนล้า การบีบรัดของเรื่องเวลา หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ก็อาจจะสร้างสรรค์งานชั้นยอดออกมาได้

นี่ละความเป็นคนในเสียงดนตรี และชีวิตที่อยู่ในเสียงเพลง

MOVIE PROFILE
SOUND CITY: REEL TO REAL
ผู้กำกับ: เดฟ โกรห์ล นักแสดง: เดฟ โกรห์ล, นีล ยัง, จอห์น ฟอเกอร์ตี, สตีวี นิคส์, แบร์รี่ แมนิโลว์, พอล แม็คคาร์ทนีย์, คริสท์ โนโวเซลิค, จอช ฮอมม์, ริค รูบิน, ริค สปริงฟิลด์,ลินด์ซีย์ บัคกิงแฮม, ทอม เพตตี้

จากบทวิจารณ์ภาพยนตร์-เพลง เรื่อง Sound City โดย นพปฎล พลศิลป์ นิตยสารสีสัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 7 เมษายน 2556

What is your reaction?

Excited
0
Happy
0
In Love
0
Not Sure
0
Silly
0
Sadaos
พบข่าวสารจากวงการหนัง-เพลง ภาพสวยของดาราสาว, วิจารณ์-แนะนำ งานเพลง, ภาพยนตร์ และรับสั่งซื้อ CD/ DVD ทั้งในและต่างประเทศ. Sadaos Is entertainment news page and online shop for people who love movie and music. We sell many entertainment items like used and new DVD, CD, postcards, accessory, souvenirs.

You may also like

More in:Movie Review

Comments are closed.