หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ “หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์)” กันมานาน เพราะเป็นคณะการแสดงละครเล็กหรือหุ่นกระบอก ที่ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์สาคร ยังเขียวสด ได้จัดให้มีการแสดงต่อสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2528 ที่ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานชื่อโรงละครโจ หลุยส์ว่า “นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก” รวมทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ “มูลนิธินาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก” อีกด้วย ขณะที่การแสดงหุ่นละครเล็กนั้น ก็เป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมที่ยาวนานกว่า 114 ปี
แต่เชื่อว่า มีไม่มากคนนักที่มีโอกาสได้ชมการแสดงหุ่นละครเล็ก (โจ หลุยส์) ที่ไปคว้ารางวัลชนะเลิศการแสดงชุดประกวดหุ่นโลก เมื่อปี 2549 กันที่นาฏยศาลา หุ่นละครเล็กซึ่งเป็นสถานที่แสดงประจำกันอย่างเต็มๆ ตา ตัวผู้เขียนเองก็ได้ชมผ่านจอโทรทัศน์ในงานสำคัญๆ ต่างๆ ที่ทางคณะได้ไปแสดง ไม่ได้ไปชมยังสถานที่จริงๆ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสวนลุมไนท์บาซาร์ (ในตอนนั้น) ที่มีข่าวคราวเรื่องของการดำเนินธุรกิจให้ได้ยินอยู่เป็นระยะๆ แต่ก็สามารถดำเนินงานมาได้จนทางสวนลุมไนท์บาซาร์หมดสัญญา ทางคณะก็ต้องหาที่ทางใหม่ โดยมีการไปเปิดการแสดงและถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ก่อนที่จะมาลงตัวกันที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์ ถนนเจริญกรุง ที่มีการก่อสร้างโรงละครถาวรอย่างเป็นทางการ
โดยตัวอาคารจะมีทั้งโรงละครขนาดกระทัดรัด จุผู้ชม 75 ที่นี่ ซึ่งอยู่บนชั้นบน และมีร้านอาหารไทยเปิดให้บริการที่ชั้นล่าง และมีการออกแบบอย่างงดงงาม สร้างสรรค์ให้กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมแบบโคโรเนียล ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งแค่เดินเข้าไปก็เหมือนได้พบกับบรรยากาศในอีกโลกหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากโลกที่เต็มไปด้วยผู้คนทางด้านนอก แล้วก็มีความสวยงามเฉพาะตัว
สำหรับเรื่องที่เปิดแสดงให้ได้ชมกัน เป็นเรื่อง “นรสิงหาวตาร” ที่ว่าด้วย หิรันตะปะกาสูร ผู้ปกครองเมืองมหากาลจักร ที่ไม่บูชานับถือเทพเจ้าเพราะคิดว่าตนเป็นอมตะหลังได้รับพรจากพระพรหม ถืออำนาจระรานไปทั่ว แต่โอรสของหิรันตะปะกาสูร ที่ชื่อกาละธรรม กลับบูชาพระนารายณ์ทำให้หิรันตะปะกาสูรโกรธมาก จึงสั่งประหารพระโอรส แต่ทำอย่างไรก็ฆ่าไม่ได้ จนทำให้หิรันตะปะกาสูรกล่าวดูถูกและท้าทายพระนารายณ์ จนพระนารายณ์ต้องอวตารมาเป็น นรสิงห์ เพื่อจัดการ
การแสดงหุ่นละครเล็กจะเป็นการผสมผสานระหว่างการแสดงโขน กับการเชิดหุ่น ที่ตัวผู้เชิดไม่ได้แค่เชิดหุ่นให้ร่ายรำ แสดงท่วงท่าออกมาในแบบโขนเท่านั้น ตัวเองก็ต้องออกท่าออกทางในแบบเดียวกัน เพื่อให้ผสมกลมกลืนกัน ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสกับการแสดงของทั้งผู้เชิดหุ่น และตัวหุ่นที่ถูกเชิดไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการทำงานของทั้งสองส่วนต้องสอดรับกัน ไม่เช่นนั้นภาพที่ปรากฏก็คงจะดูไม่ลื่นไหล หรืองดงามอย่างที่ควรจะเป็น แล้วก็มีการใช้เทคนิคสมัยใหม่ ในเรื่องแสง สี เสียง มาประกอบเพื่อให้ดูมีสีสัน มีความน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นด้วย
ทำให้การแสดงหุ่นละครเล็ก (โจ หลุยส์) ไม่ได้เป็นเพียงแค่การผสมผสานระหว่างสองมรดกทางวัฒนธรรมไทยอย่าง การแสดงโขนกับการเชิดหุ่นกระบอกเท่านั้น แต่ยังเป็นการผสมผสานกันของโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ไปพร้อมๆ กัน
สำหรับการแสดงหุ่นละครเล็ก เรื่อง นรสิงหาวตาร ที่โรงละครนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก (โจ หลุยส์) เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์ ถนนเจริญกรุง ในเดือนมิถุนายนจะเปิดการแสดงทุกวันศุกร์-อาทิตย์ วันละ 1 รอบ เวลา 19.30 น. หลังจากนั้นจะเปิดแสดงทุกวันยกเว้นวันจันทร์ บัตรราคา 900 บาท โดยผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ 02 688 3322 หรือที่เฟซบุ๊คเพจ joelouisetheatre ที่เชื่อเลยว่าหากได้ชมแล้ว จะอดทึ่งไปกับการผสมผสานของสองรูปแบบการแสดง ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวไม่ได้แน่ๆ
โดย นพปฎล พลศิลป์ จากเรื่อง การแสดงหุ่นละครเล็ก “นรสิงหาวตาร” ความเป็นหนึ่งเดียวกันของหุ่นและคน คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2561
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่