
อีกครั้งที่ผู้คนในแวดวงการแพทย์ กลายมาเป็นตัวละครในหนังไทย จากสองนายแพทย์ใน ‘Ghost Lab – ฉีกกฎทดลองผี’ หนนี้เป็นสี่นักศึกษาแพทย์ที่มีปัญหานอนไม่หลับ เจน (ปาณิสรา ริกุลสุรกาน) นักศึกษาสาวหัวดี ที่ต้องทำงานทั้งที่บ้าน เพื่อส่งตัวเองและน้อง รวมไปถึงผ่อนค่าบ้าน และเรียนหนังสือ, วิน (เลิศสิทธิชัย) หนุ่มนักเที่ยว ที่มีปัญหาบางอย่างกับพ่อ, ซิน (ศุภนารี สุทธวิจิตรวงษ์) บล็อกเกอร์สาว ที่โด่งดังในโลกโซเชียล เจ้าของความมั่นใจในตัวเองที่เกินร้อย แถมยังถูกทางบ้านบังคับให้เรียนหมด ทั้งที่อยากเรียนนิเทศน์ และ พีช (กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์) เด็กเนิร์ดติดเกม ที่มีความลับบางอย่างเก็บเอาไว้
ทั้งสี่เข้าร่วมทดลองฝังชิปเพื่อดึงสารคิวราโทนีน ซึ่งพวกเขาต้องอดนอน โดยเริ่มจากในระยะเวลาเพียงไม่นานเพื่อแลกกับเงินก้อนโต และเมื่อการทดลองเพิ่มเวลามากขึ้น ค่าตอบแทนก็สูงขึ้น ซึ่งระหว่างการทดลองพวกเขาห้ามหลับเกิน 60 วินาที มิเช่นนั้นจะต้องหลับไปตลอดกาล
พล็อตอาจจะคลับคล้ายคลับคลา ในแง่การทดลองทางการแพทย์ที่มีอันตราย แต่ก็สดในเรื่องเป้าหมายซึ่งทำให้หนังดูน่าสนใจ ตัวละครก็หลากหลาย ราวกับจะแทนคนกลุ่มต่าง ๆ นั่นคือสิ่งที่รู้สึกเมื่อหนังเริ่มต้น แต่พอการทดลองครั้งแรก ที่เปรียบเหมือนการอุ่นเครื่องให้ตัวละครและผู้ชมจบ แทนที่หนังจะกดดันคนดูผ่านการทดลองที่ยกระดับไปจากเดิม กลับไม่มีอะไรที่เสริมหรือเพิ่มเติมในเรื่องความระทึกหรือตื่นเต้นสำเร็จ อาจจะมีเซอร์ไพรส์บ้างกับความลับของพีช ซึ่งทำให้ดูมีอะไรมากขึ้น และทำให้ตัวละครรายนี้ดูลึกกว่าคนอื่น แต่ความแตกต่างหลากหลายของทั้งสี่ก็ไม่ได้ถูกใช้หรือมีความหมายอะไรพิเศษ
แถมตัวละครบางราย ยังสร้างคำถามว่า ทำไม? เพราะอะไร? ให้ติดอยู่ในหัว เช่น ความสัมพันธ์ของเจนกับน้องสาว ที่แทบไม่เคยพูดจากันด้วยดี กิจกรรมทางบ้านของเธอก็ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร มีใครมารับช่วง แถมจู่ ๆ ก็เลิกทำ ทั้งที่น่าจะเป็นกิจกรรมประจำวัน แต่อย่างน้อย ปมเรื่องประตูบ้านก็คลี่คลายได้ดี โดยต้องจับสังเกตจากเสียงอ่านข่าวที่แทรกเข้ามา ส่วนปัญหาของวินกับพ่อ ถ้าความเป็นมาว่าคลุมเครือแล้ว การคลี่คลายยิ่งคลุมเครือกว่า เพราะการปรากฏตัวของใครบางคนในช่วงที่เขาวูบไป แค่นั้นเองเหรอ?
ความสัมพันธ์ของทั้งสี่คนก็ไม่ดูแนบแน่นพอ จนกลับมาร่วมหัวจมท้ายเพื่อช่วยใครบางคนในกลุ่มแบบที่หนังแสดงให้เห็น
ผู้อยู่เบื้องหลังการทดลองที่วางไว้เป็นเซอร์ไพรส์ ถือว่าใช้ได้อยู่ แม้จะไม่เหนือการคาดเดามากนัก ด้วยความที่ตัวละครในหนังมีไม่มาก แต่ด้วยคุณภาพของโปรเจ็กต์ที่ทำ ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ ไปเสนอบริษัททางการแพทย์ใหญ่ ๆ น่าจะดีกว่า ทั้งได้เงินก้อนโต ทั้งทำให้เป้าหมายบรรลุผลได้ขึ้น ไม่กลายเป็นเรื่องด้านมืด และเว่อร์วันเกินคนไม่กี่คนจะทำได้
โทนของหนังกับการแสดง อย่างแรกไม่ช่วยกดดันผู้ชม และบางฉากดูไม่ใหญ่อย่างที่เรื่องควรจะเป็น การแสดงดีเป็นพัก ๆ เช่นเดียวกับพัฒนาการของตัวละครที่มีหลุด มีโดดเป็นระยะ ๆ
ยังดีที่ความยาวของหนังไม่มากนัก ไม่เช่นนั้นก็อาจจะทำให้ใครที่ไม่อยู่ในหนัง จมอยู่กับเวลา 60 วินาทีไปยาวนาน
(DEEP – โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย ทางเน็ตฟลิกซ์)
โดย นพปฎล พลศิลป์ คอลัมน์ ชำแหละแผ่นฟิล์ม นิตยสารเอนเตอร์เทน ฉบับที่ 1333 ปักษ์แรก สิงหาคม 2564
ติดตามอ่านเรื่องราว ข่าวสาร ชมตัวอย่าง ชมคลิป ชม MV อ่านวิจารณ์หนังและเพลง ได้ด้วยการกดไลค์เพจสะเด่าส์ ได้ที่นี่